‘ศก.ดิจิทัลเวียดนาม’ จ่อทำรายได้แตะ 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 68

จากรายงานของกูเกิล (Google) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะขยายตัว 20% ต่อปี ในช่วงปี 2566-2568 และมีแนวโน้มว่าจะทำรายได้สูงถึงประมาณ 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 นับว่าเป็นการเติบโตที่เร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่นาย Nguyen Binh Minh คณะกรรมการบริหารของสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม (VECOM) คาดการณ์ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดิจิทัลมีพื้นฐานที่มั่งคง แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ภาคธุรกิจต่างๆ ยังมีความมั่นใจในการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของอีคอมเมิร์ซ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ แพลตฟอร์มดิจิทัลของเวียดนาม จึงได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการตอบสนองความต้องการการพัฒนาของธุรกิจท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-likely-to-achieve-digital-economic-growth-of-around-us45-billion-by-2025-post1057628.vov

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการชำระเงินออนไลน์ โต 50% ปี 2568

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการชำระเงินออนไลน์ในตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านตัวกลางในการชำระเงินหรือแอปพลิเคชั่น มีสัดส่วน 50% ภายในปี 2568 เป็นไปตามแผนระดับชาติว่าด้สนการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล (CID) เป็นศูนย์ในการพัฒนาและนำเอาโซลูชั่นต่างๆ มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และยกระดับระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ นอกจากนี้ ศูนย์จะมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาระบบการชำระเงินที่ปลอดภัยสำหรับกิจกรรมอีคอมเมิร์ซโดยใช้ระบบเอสโครว์  (ESCROW) เพื่อปกป้องทั้งผู้บริโภคและผู้ขายในธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cashless-payments-in-ecommerce-to-account-for-50-by-2025/267608.vnp

อีคอมเมิร์ซกัมพูชาเติบโตต่อเนื่อง หลังสื่อสังคมออนไลน์ขยายตัว

สื่อสังคมออนไลน์กำลังเข้าครอบคลุมภาคอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาอย่างรวดเร็ว โดยธุรกิจท้องถิ่นเกือบทั้งหมดส่งเสริมสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นสำคัญ ซึ่งข้อความดังกล่าวได้รายงานไว้ใน The Consumer Report 2023 ที่เผยแพร่โดย Standard Insights ผ่านความร่วมมือกับ Confluences ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโซเชียลมีเดียในระบบเศรษฐกิจภายใต้ชื่อเรื่อง “e-Commerce – Online Shopping Penetration” โดยจากการประมาณการต่างๆ พบว่าในกัมพูชามีผู้ใช้โซเชียลมีเดียถึง 10.95 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 65 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเน้นไปที่แพลตฟอร์มชื่อดังเช่น Facebook ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 10.45 ล้านคนในกัมพูชา ตามมาด้วย Facebook Messenger ที่มีผู้ใช้ 7.20 ล้านคน, TikTok ผู้ใช้ 7.06 ล้านคน, Instagram ผู้ใช้ 1.75 ล้านคน, LinkedIn ผู้ใช้ 530,000 คน และ Twitter ผู้ใช้ 393,200 คน เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ที่มีซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ สำหรับชาวกัมพูชามากกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 29.97) มีการซื้อสินค้าออนไลน์หลายครั้งต่อเดือน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพนมเปญ อย่างไรก็ตามรายงานยังย้ำว่าโซเชียลมีเดียยังคงเป็นแหล่งข้อมูลยอดนิยมที่ผู้คนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ซึ่งพบว่าลูกค้ากว่าร้อยละ 61.90 ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram หรือ Twitter ในเรื่องของการตัดสินใจซื้อสินค้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501340001/social-media-platforms-taking-over-e-commerce-segment/

“เวียดนาม” ส่งเสริมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอาเซียน

คุณ Le Hoang Anh ผู้อำนวยการกรมการค้าออนไลน์และเทคโนโลยีสารสนเทศเวียดนาม เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน Google, Temasek และ Bain & Company ในปี 2565 ที่มุ่งเน้น 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม โดยในปีที่แล้ว มีผู้ใช้บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นครั้งแรกมากถึง 20 ล้านคน ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งภูมิภาคเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 460 ล้านคน ทั้งนี้ ตามรายงานของ Statista คาดการณ์ว่าอาเซียนจะบรรลุอัตราการเติบโต 2 เท่าต่อปี และจะเติบโตที่ 11.43% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา จีนและแคนาดา นอกจานี้ เมื่อศึกษากรณีประเทศเวียดนาม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนได้รับการประเมินว่ามีศักยภาพสูงและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-fosters-cross-border-e-commerce-in-asean-2157258.html

พาณิชย์แนะค้าปลีกไทยเจาะตลาดเวียดนามทั้งออฟไลน์-ออนไลน์

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ถึงโอกาสในการขยายตลาดการค้าปลีกของไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนาม และการใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ในการขยายโอกาสทางการขายเจาะเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคของเวียดนามที่มีแนวโน้มเติบโต

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เวียดนามเป็นตลาดค้าปลีกที่มีศักยภาพสูงและคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 350,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 และจะมีสัดส่วน 59% ของยอดขายผลิตภัณฑ์ในประเทศทั้งหมดทำให้บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในเวียดนาม ผู้ประกอบการค้าปลีกในประเทศต่างปรับเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศและปรับปรุงเพื่อการส่งออก รวมทั้งมีการลงทุนในอีคอมเมิร์ซเพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่มีกว่า 50% ของประชากรประมาณ 100 ล้านคน

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/397177/

“อีคอมเมิร์ซ” โตพุ่ง 60% ของเศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนาม

จากรายงานในปี 2566 “การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยอีคอมเมิร์ซ – พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ระบุว่ายอดขายสินค้าออนไลน์รวม (Gross Merchandise Volume: GMV) ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น 31% คิดเป็นมูลค่า 49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 โดยเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะคงรักษาระดับการเติบโตของการซื้อของออนไลน์ที่ 19% ในช่วงปี 2568-2573 และจากผลการสำรวจของสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเวียดนามกว่า 55% เชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีและอีคอมเมิร์ซ มีบทบาทสำคัญในการผลิตและการดำเนินกิจการ ตลอดจนชาวเวียดนามราว 60 ล้านคน นิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และใช้จ่ายออนไลน์เฉลี่ยต่อคน อยู่ที่ 260-285 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการพัฒนาอีคอมเมิร์ซต้องมีปัจจัยหลายประการ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมบุคลากรและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/e-commerce-accounts-for-60-of-vietnamese-digital-economy-2124771.html

เมียนมาเร่งกระตุ้นสินค้าในประเทศผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

กระทรวงอุตสาหกรรมของเมียนมาได้เชิญผู้ประกอบการและผู้ผลิตในประเทศให้ขายสินค้าของตนเองผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการส่งออก โดยผู้ประกอบการที่ต้องการใช้แพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์สามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกได้ภายในวันที่ 28 เมษายน 2566 ทั้งนี้แพลตฟอร์มดังกล่าวจะให้บริการจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วและมีวิธีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้ซื้อจากประเทศ

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20230319/9075354d3e6f4711968d2411ca797057/c.html

ตลาดค้าปลีกเวียดนาม ผลักดันโมเมนตัม “อีคอมเมิร์ซ”

ตลาดค้าปลีกของเวียดนามมีสัญญาณการฟื้นตัวในเชิงบวก โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ หลังโควิด-19 และในบริบทใหม่ของตลาด ทำให้ธุรกิจและผู้ค้าปลีกหลายรายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจากข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าในปี 2565 พื้นที่ภาคค้าปลีกให้เช่าในตัวเมืองในภาคใต้ของประเทศ ยังคงอยู่ในระดับเท่าเดิม เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 1.5 ล้านตารางเมตร ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Vietnam Association of Realtors (VARs) ระบุว่าความต้องการพื้นที่ค้าปลีกในศูนย์การค้าในเมืองใหญ่ เช่น โฮจิมินห์ จะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากการขยายตัวของแบรนด์ต่างๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคให้ความสนใจแบรนด์สินค้าในกลุ่มสุขภาพ กีฬา และกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความต้องการอาคารของอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/retail-market-motivates-e-commerce-gain-momentum-post1006824.vov

“สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซ” ได้รับความนิยมในเวียดนาม

สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และถือว่าค่อนข้างปลอดภัยในแวดวงสตาร์ทอัพเชิงนวัตกรรมในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยไม่ได้หมายถึงความสำเร็จ เพราะการจะประสบความสำเร็จได้ในตลาดที่กำลังพัฒนานั้น ต้องใช้ความพยายามและความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก โดยเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านอีคอมเมิร์ซ มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 72.1 ล้านคน คิดเป็น 73.2% ของประชากรทั้งประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 12 ในแง่ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกในเดือนกันยายน ปี 2565 นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าในปีที่แล้ว ขนาดของตลาดอีคอมเมิร์ซค้าปลีกของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 16.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7.5% ของรายได้ของประเทศจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/innovative-start-ups-in-the-e-commerce-sector-2103908.html

คาดตลาดอีคอมเมิร์ซกัมพูชาจะมีมูลค่าแตะ 1.78 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2025

Penn Sovicheat ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและโฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวถึงภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งในปีที่ผ่านมา (2022) ตลาดอีคอมเมิร์ซกัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 1.28 พันล้านดอลลาร์ และในปีนี้คาดว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1.50 พันล้านดอลลาร์ โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะขยับขึ้นไปแตะ 1.78 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025 จากการเข้าถึงและการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมาก ซึ่งในปี 2022 จากจำนวนประชากร 17.06 ล้านคน มีการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ 22.06 ล้านครั้ง มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 13.44 ล้านคน และมีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย 12.6 ล้านคนในกัมพูชา ในปีที่แล้ว ซึ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาคาดว่าจะขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตต่อปีที่ร้อยละ 13.51 ในช่วงปี 2023-2027 ที่อาจทำให้มูลค่าตลาดสูงถึง 2.10 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2027 จากการวิจัยของ statista.com

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501214272/cambodias-e-commerce-market-eyes-1-78b-by-2025/