FAO คาดการณ์ราคาข้าวที่น่าดึงดูดจะกระตุ้นผลผลิตข้าวในกัมพูชา

องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.9 จากปีก่อนหน้า แตะสถิติสูงสุดที่ 534.9 ล้านตัน ในฤดูกาล 2024/25 โดยรายงานดังกล่าวถูกกว่าไว้ใน World Food Outlook ฉบับล่าสุด ซึ่ง FAO ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียคาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยผลผลิตข้าวโดยรวมของภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 หรือคิดเป็นปริมาณรวมกว่า 478.9 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการปลูกข้าวและการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวจะขยายตัวเพื่อตอบสนองต่อราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับในประเทศไทยโอกาสที่ผลผลิตจะฟื้นตัวเต็มที่นั้นถูกกระทบโดยความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นในการปลูกข้าว เนื่องจากความแห้งแล้งในช่วงต้นฤดู รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงการสนับสนุนของรัฐบาลที่ประกาศออกมา ด้านกัมพูชากลับมีแนวโน้มการส่งออกที่สดใส โดย FAO คาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวของกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 หรือคิดเป็น 7.9 ล้านตันในปีนี้ ทำให้กัมพูชาเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดอันดับ 10 ของโลก หลังจากแซงหน้าบราซิลและญี่ปุ่นในปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501506357/fao-expects-attractive-prices-to-boost-rice-output-in-cambodia/

กระทรวงเกษตรกัมพูชา พร้อมจัดงานมหกรรมสินค้าเกษตรเดือน มิ.ย.

กระทรวงเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง (MAFF) พร้อมจัดงานนิทรรศการหมู่บ้านเกษตรกรรมเขมร และเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง “รสชาติของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเขมร” เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรกรรมของกัมพูชาในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึง โดยงานนี้มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ผลผลิตภายในประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น ซึ่งการซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในท้องถิ่นส่งผลดีโดยตรงต่อเกษตรกรท้องถิ่นที่ทุ่มเทเวลาและแรงกาย ภายใต้ทั้งแสงแดดและฝน เพื่อปลูกพืชและนำมาจำหน่าย กล่าวโดย Khim Finan โฆษกกระทรวงเกษตรกรรม เมื่อวานนี้ว่า นอกจากนี้ยังได้กล่าวเสริมอีกว่าผักและผลไม้ที่ปลูกขึ้นในท้องถิ่นคิดเป็นร้อยละ 60 ถึง 70 ของตลาดภายในประเทศ ขณะที่ประมาณร้อยละ 30 ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501495155/ministry-to-host-june-agricultural-product-fair/

ตลาดจิ้งหรีดกัมพูชายังคงเติบโตในระดับต่ำ แม้ตลาดจะมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์

Lundy Chou ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ บริษัท Agri House Co., Ltd. กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนในกัมพูชา รวมถึงภาคการลงทุน ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญในอุตสาหกรรมการแปรรูปจิ้งหรีด โดยเดิมทีจิ้งหรีดมักถูกบริโภคในหมู่ผู้คนกัมพูชามาโดยตลอด ซึ่งจริงๆ แล้วแมลงชนิดนี้ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญอย่างโปรตีน โดยบริษัทคาดว่าอุตสาหกรรมจิ้งหรีดในปัจจุบันมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้าน Nhourk Pearum เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด มองเห็นถึงความท้าทายหลักของอุตสาหกรรมจิ้งหรีด โดยเฉพาะด้านราคาภายในประเทศ รวมถึงกฎเกณฑ์การผลิตและการแปรรูปในตลาดโลกที่ค่อนข้างเข้มงวด สำหรับสถานการณ์ในตลาดโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องสำหรับผงคริกเก็ต (จิ้งหรีด) ซึ่งถือเป็นโปรตีนทางเลือกที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวกว่าร้อยละ 30 ต่อปี ในอีกห้าปีข้างหน้า เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกขยายตัวต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501443951/kingdoms-multi-million-dollar-market-for-crickets-lies-low/

คาดการลงทุนภาคการเกษตรของจีน จะช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจให้แก่กัมพูชา

ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิจัยของจีน (Chinese Cambodian Evolution Researcher Association: CCERA) เปิดเผยว่า การลงทุนของจีนในภาคเกษตรกรรมของกัมพูชา ได้ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจกัมพูชาเกิดการขยายตัว รวมถึงสร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นหลายแสนคน อีกทั้งยังลดการอพยพหรือการย้ายถิ่นฐานไปทำงานยังประเทศอื่นๆ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลจีนได้อัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่การพัฒนาภาคเกษตรกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการส่งออกพืชผลทางการเกษตรไปยังจีนมากขึ้น ด้วยการลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชาต่อประเทศคู่แข่ง สำหรับเดือนที่แล้ว บริษัท Danong Agricultural Development Group ของจีน มีความสนใจที่จะลงทุนในภาคเกษตรของกัมพูชา ไปยังภาคอุตสาหกรรมเกษตร 75 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 เฮกตาร์ ในจังหวัดพระตะบอง โพธิสัตว์ เสียมราฐ และกำปงธม ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงถึง 12,700 ล้านดอลลาร์ แสดงถึงความต้องการด้านการลงทุนของภาคเกษตรกรรมกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501359851/chinese-investment-in-agricultural-sector-gives-fillip-to-economy/

ภัยแล้งนำความเสียหายมาสู่ภาคการผลิตข้าวในกัมพูชา

รายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชา ระบุว่า การสูญเสียผลผลิตข้าวที่เกิดจากภัยแล้งมีมูลค่าความเสียหายมากถึง 100 ล้านดอลลาร์ โดยกล่าวเสริมว่าภัยแล้งในช่วงระหว่างปี 2015 ถึง 2019 ภายในประเทศกัมพูชาได้รับผลกระทบบนพื้นที่การเพาะปลูกข้าวมากกว่า 1 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งพื้นที่จำนวน 201,490 เฮกตาร์ ได้รับความเสียหายทั้งหมด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตข้าวคิดเป็นจำนวนรวม 624,262 ตัน หรือมูลค่าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกัมพูชา ทราบถึงปัญหา จึงได้ทำการศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาและสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการน้ำและดินได้ว่า ควรใช้เทคนิคการทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ ซึ่งสามารถช่วยให้เกษตรกรปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และถือเป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวในเวลาเดียวกัน โดยกระทรวงได้ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ ทักษะ การแบ่งปันประสบการณ์ และการเพิ่มการเผยแพร่เทคนิคใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและชุมชน ให้เกิดการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในการทำการเกษตร ควบคู่ไปกับภาครัฐให้การสนับสนุน

ที่มา : http://khmertimeskh.com/50943617/droughts-caused-about-100-million-in-rice-production-losses/

กัมพูชาส่งเสริมธุรกิจด้านการเกษตร

Khmer Enterprise (KE) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน ร่วมกับ Cambodia Partnership for Sustainable Agriculture (CPSA) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในภาคการเกษตรของกัมพูชา โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริมนวัตกรรมการปรับตัวทางเทคโนโลยี การแก้ปัญหาการผลิต การพัฒนาทักษะทางธุรกิจ การเชื่อมโยงด้านวิชาการกับอุตสาหกรรม และการเป็นผู้ประกอบการในภาคการเกษตร รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกลไกสนับสนุนภาคการเกษตรภายในประเทศ โดย KE และ CPSA ยังได้เปิดตัวโครงการบ่มเพาะวิสาหกิจสหกรณ์การเกษตรซึ่งเป็นโครงการระยะเวลา 3 ปี เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการเกษตรที่ยั่งยืน และมีประสิทธิผลมากขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาหลักสองประการที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในกัมพูชา ได้แก่ ปัญหาผลผลิตต่ำ และปัญหาแรงงานภาคการเกษตรที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่น้อยลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50817350/promoting-business-in-farming/