แบงก์ชาติ หวั่นบริโภคดิ่งลึก ไวรัสลามหนักฉุด GDP ต่ำ 1%

ธปท.ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้โตต่ำสุด เผยเดือน ก.พ. ตัวเลขดิ่งลึก กนง.จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง เร่งใช้งบฯปี”63-ภัยแล้ง-ไวรัส COVID-19 หวั่นโรคระบาดลามทั้งปี ฉุดจีดีพีโตต่ำ 1% ชี้ยกเลิกงานอีเวนต์-กิจกรรมในประเทศ ส่งผลการบริโภคหดตัวไม่ถึง 4% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปีนี้จะต่ำสุดของปี 2563 โดยตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ก.พ. จะเป็นเดือนที่ลงลึกสุด เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยการระบาดของไวรัส COVID-19 ยังไม่กระทบมากนัก และยังคงติดตามสถานการณ์ 3 ปัจจัย 1.พ.ร.บ.งบประมาณปี”63 ที่ประกาศใช้และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐที่จะออกมา 2.ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปี 2559 เนื่องจากสต๊อกน้ำไม่เพียงพอและอยู่ในภาวะวิกฤต 3.COVID-19 แม้การระบาดในจีนเริ่มชะลอตัว แต่การระบาดเพิ่มนอกประเทศ เช่น เกาหลี และในยุโรป ที่พุ่งขึ้นค่อนข้างเร็ว และมีผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทย จากเดิมที่กระทบแค่เศรษฐกิจจีน ทั้ง 3 ปัจจัยสถานการณ์ยังไม่นิ่ง และมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค. 2563 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวต่อเนื่องที่ 1.3% ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้วัดการลงทุนภาคเอกชน หดตัวติดลบ 8.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวสูง เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ยังไม่ประกาศใช้ โดยการใช้จ่ายในส่วนรายจ่ายประจำติดลบ 20.4% และรายจ่ายลงทุนติดลบ 35.5% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีอัตราการเติบโต 1.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวรวมเดือน ก.พ. คาดว่าจะหายไป 40-45% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวจีนหายไปกว่า 90% ฉุดการบริโภคทั้งปีหดต่ำกว่า 4% สำหรับสถานการณ์การยกเลิกการจัดงานอีเวนต์ การประชุมสัมมนาต่าง ๆ เบื้องต้นจะกระทบกิจกรรมภายในประเทศที่มีผลต่อการบริโภค คาดว่าการบริโภคทั้งปี 2563 ไม่น่าจะยืนการเติบโตได้ในระดับ 4% ตามกรอบประมาณการ แต่เชื่อว่าหากไวรัส COVID-19 เริ่มคลี่คลาย จะเห็นกิจกรรมต่าง ๆ กลับมาเป็นปกติได้ ขณะเดียวกัน ธปท.ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบการ ส่วนหนึ่งก็เพื่อช่วยเหลือประคองให้ลูกค้า-ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจในช่วงนี้ไปก่อน

ที่มา: https://www.prachachat.net/finance/news-426856

ลดภาษี-แจกเงิน ยาแรงพยุงศก.

กูรูแนะรัฐออกมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กระตุ้นกำลังซื้อคนชั้นกลาง ฉีดเงินผ่านชิม ช้อป ใช้-บัตรผู้มีรายได้น้อย สัญญาณเศรษฐกิจเดือนมกราคม 2563 อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนหดตัวโดยอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ด้านการใช้จ่ายภาครัฐทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนหดตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงตาม และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์เห็นพ้องเสนอรัฐบาลออกมาตรการชุดใหญ่เพื่อประคองเศรษฐกิจภายใน ท่ามกลางปัจจัยลบและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตีวงกว้างฉุดกำลังซื้อ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสนอให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการคงภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ไว้ที่ 7% นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และเพื่อให้ภาคธุรกิจเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี และลูกจ้างได้มีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้น กระทรวงแรงงานควรยกเว้นให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นเวลา 6 เดือน นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การลดภาษีมูลค่าเพิ่มลง 2% จาก 7% เหลือ 5% นั้น อาจจะเป็นหนึ่งในทางเลือกซึ่งทางการต้องพิจารณาในหลายมิติ ลงนั้น หากเป็นมาตรการชั่วคราวเมื่อถึงตอนครบกำหนดจะปรับขึ้นจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจแย่ลง เพราะประชาชนจะกักตุนสินค้า แนวทางแจกเงินผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้านฯ นั้น ส่วนตัวก็เห็นด้วย เพราะประชาชนในชนบทและเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประเด็นทุกวันนี้มาจากธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบและเริ่มขยายวงธุรกิจอื่นในวงกว้างขึ้น เรื่อยๆ ทั้งค้าปลีก ขนส่ง โรงแรม โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในกลุ่มนี้จึงต้องหาทางช่วยให้ตรงจุดและคิดหาวิธีเยียวยาชั่วคราวเพื่อประคองกันไปด้วย นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ฯ กล่าวว่า ตอนนี้นโยบายต้องหาเงินเข้ากระเป๋าประชาชนไม่ใช่หาเงินเข้ากระเป๋านายทุน โดยเฉพาะต้องหาทางว่าทำอย่างไรให้คนมีรายได้เข้ามา เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากพิจารณาปรับลดลงจะเอื้อให้คนระดับกลาง-บนสามารถจับจ่ายใช้สอย ช่วยให้คนมั่นใจสามารถใช้จ่ายซึ่งเป็นการหมุนรอบเศรษฐกิจ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นมาตรการระยะสั้นในปีนี้ เพราะเวลานี้คนขาดความเชื่อมั่นและไม่กล้าจ่าย แต่เมื่อสถานการณ์ไวรัสคลี่คลายชัดเจนคนจะเริ่มออกมาใช้จ่าย ซึ่งเห็นได้จากหลายประเทศใช้วิธีออกมาตรการกระตุ้น เช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ใช้วิธีแจกเงินเช่นกัน แต่วงเงินอาจจะไม่เหมาะกับเมืองไทยแต่ก็มีหลายมาตรการที่จะนำมาใช้ได้ ส่วนกรณีแจกเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ หากจะเพิ่มให้มีการสร้างงานในพื้นที่ควบคู่ไปด้วยก็จะดี

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/money_market/423159?utm_source=homepage_hilight&utm_medium=internal_referral

กัมพูชางดเก็บภาษีรายเดือนโรงแรมและเกสต์เฮาส์ในเสียมราฐจากความกังวลของไวรัส

          นายกรัฐมนตรีฮุนเซนประกาศจะไม่เรียกเก็บภาษีรายเดือน 4 เดือนสำหรับโรงแรมและเกสต์เฮาส์ในเสียมเรียบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจ โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ Covid-19 โรงแรมและเกสต์เฮาส์จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 4 เดือน สำหรับธุรกิจที่ลงทะเบียนกับกรมสรรพากรกัมพูชา โดยประธานสมาคมการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิกแห่งกัมพูชา (PATACC) กล่าวว่าภาคเอกชนได้สนับสนุนมาตรการใหม่ของรัฐบาลสำหรับการยกเว้นภาษีให้กับโรงแรมและเกสต์เฮาส์ในเสียมเรียบ ซึ่งยังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเว้นภาษีสำหรับบริษัททัวร์และ บริษัทท่องเที่ยวเนื่องจากบริษัททัวร์เหล่านั้นกำลังเผชิญกับปัญหาด้านการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะช่วยสนับสนุน ซึ่งพยายามเพิ่มแพ็คเกจการเดินทางไปยังตลาดท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50694633/tax-discount-on-siem-reap-hospitality-over-virus-fears

กัมพูชาเผชิญกับปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานจากไวรัส COVID-19

ซัพพลายเออร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากกัมพูชา เมียนมาและเวียดนามมีความสำคัญต่อแบรนด์แฟชั่นระดับโลกสูงขึ้นเกือบ 20% โดยซัพพลายเออร์เหล่านี้เผชิญกับปัญหาในด้านห่วงโซ่อุปทานเนื่องจากวัสดุส่วนใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายมาจากประเทศจีน ซึ่งได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าในประเทศกัมพูชาอ้างโดย Nikkei Asian Review กล่าวว่าวัตถุดิบมากกว่า 60% สำหรับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของประเทศกัมพูชามาจากประเทศจีน ซึ่งโฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวกับสื่อมวลชนท้องถิ่นว่ามีคนงานมากกว่า 90,000 คน ในโรงงานกว่า 200 แห่งในกัมพูชา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในครั้งนี้

ที่มา :  https://www.khmertimeskh.com/50694492/cambodia-faces-supply-chain-crunch-no-thanks-to-covid-19

ACV คาดผลกำไรลดลง 6 ล้านล้านดองในปี 63 จากโควิด-19

จากข้อมูลขององค์กรท่าอากาศยานเวียดนาม (ACV) คาดว่ากำไรในปีนี้จะสูงถึง 1.7 ล้านล้านดอง (73.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงมากกว่า 6 ล้านล้านดองเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องมาจากผลกระทบของสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยในปีที่แล้ว บริษัทมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 18.3 ล้านล้านดองและกำไรหลังหักภาษีอยู่ที่ 8.3 ล้านล้านดอง เป็นผลมาจากการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งในระหว่างการประชุมกับคณะรัฐมนตรี ระบุว่าทาง ACV ได้เสนอให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีทำการพิจารณาความคืบหน้าของโครงการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการพัฒนาระบบดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบินในท่าอากาศยานนานาชาติเตินเซินเญิ้ตและท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่าย ทั้งนี้ เอกสารทางกฎหมายนั้น เป็นแนวทางในการกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศเวียดนามปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดบทบาทของผู้ประกอบการท่าอากาศยานอย่างชัดเจนในด้านการลงทุน พัฒนาและขยายธุรกิจท่าอากาศยาน ซึ่งมอบหมายให้ธุรกิจได้บริหารและการใช้หาประโยชน์ ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นส่งผลต่อการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานเวียดนาม (ACV) นอกจากนี้ ในวันที่ 31 ธ.ค. 62 บริษัทมีเงินฝากระยะสั้นราว 31.2 ล้านล้านดอง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น ด้วยปัญหาข้างต้น จึงดำเนินการร่างแก้ไขพระราชกฤษฎีกา 102/2015 เกี่ยวกับการดำเนินงานของท่าอากาศยาน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/ha-tinhs-cage-fish-farmers-restore-production/169071.vnp

โรงงานถุงของจีนในเมียนมาปิดตัวลงเพราะพิษ COVID-19

วันจันทร์ที่ผ่านมาโรงงานถุงของจีนในย่างกุ้งประกาศปิดตัวลงเนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศจีน โรงงานถุงลัคกี้สกายในเขตอุตสาหกรรม Mya Sein Yaung เมือง Hlaing Tharyar ปิดตัวลงโดยไม่ได้แจ้งให้พนักงานทราบ ซึ่งเริ่มมีพนักงานประท้วงภายหลังปิดตัวลง หนึ่งในผู้นำของการประท้วงเรียกร้องให้เพิกถอนใบอนุญาตของโรงงานและให้เนรเทศพนักงานชาวจีน 20 คน โรงงานมีคนงาน 642 คน ซึ่งส่งออกกระเป๋าหนังไปยุโรป คนงานนัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 31 มกราคมถึง 11 กุมภาพันธ์ส่งผลให้คำสั่งซื้อลดลง หลังจากบรรลุข้อตกลงกับโรงงานเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์คนงานกลับมาทำงาน แต่ 10 วันต่อมาเลขาธิการสหภาพแรงงานถูกไล่ออกโดยไม่มีเหตุผลดังนั้นจึงเกิดการประท้วงและโรงงานปิดตัวลง ทั้งนี้ผู้บริหารโรงงานยืนยันว่าจะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ลัคกี้สกายเป็นบริษั จีนแห่งที่สามที่ต้องปิดตัวลงในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมียนมาแสดงความกังวลว่าครึ่งหนึ่งของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในประเทศอาจปิดตัวลงในเดือนหน้าเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบจากจีน ซึ่ง 90% ของผ้า สิ่งทอ และซิปที่ใช้ในโรงงานล้วนมาจากจีนทั้งสิ้น

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/chinese-bag-maker-shuts-down-myanmar-over-covid-19.html

ลุ้นรัฐกระทุ้งงบ-ออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ

วิจัยกรุงศรีฯ ลุ้นรัฐกระทุ้งงบ-ออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ คาดไวรัสโควิดจบมี.ค.นี้หนุนนักท่องเที่ยวดีครึ่งปีหลัง ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกจะขยายตัวติดลบ 0.7% แต่เชื่อว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งปีหลัง โดยคาดหวังว่าจะมีนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือนมี.ค.นี้เหลือ 0.75% จากปัจจุบัน 1% และรอภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มหลังจากงบประมาณ 63 มีผลบังคับใช้คาดกลางเดือนมี.ค.นี้ ทั้งนี้จากที่ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 1.5% เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมากจนอาจกระทบต่อเนื่องถึงภาคการผลิต การจ้างงาน และการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ขณะเดียวกันงบประมาณ 63 ที่ล่าช้ายังส่งผลให้งบเบิกจ่ายสูญเสียไปแล้ว 1.5 แสนล้านบาท คาดหลังจากเดือนมี.ค.นี้เมื่องบประมาณ 63 มีผลบังคับใช้ โดยรัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายให้เร็วที่สุดอาจมีเหลือ 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมางบประมาณล่าช้ากระทบต่องบลงทุนภาครัฐและลงทุนเอกชนเพราะโครงการลงทุนภาครัฐไม่ชัดเจน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรเริ่มจากช่วยกระตุ้นจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เช่นที่ผ่านมาแจกเงินเช็คช่วยชาติ ยังทำให้ห้างร้านได้ลดราคา ให้คนที่ไม่ได้เช็คช่วยชาติได้เข้าถึงสินค้าที่ลดราคานั้นด้วย ยิ่งทำให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มได้อีก อย่างไรก็ตามไวรัสโควิด-19 คาดจะไม่ยืดเยื้อ เชื่อว่าจะกระทบเศรษฐกิจสูงสุดเดือนก.พ.-มี.ค.นี้ และจะค่อย ๆ ลดลง หลังเดือนพ.ค.จากอัตราการแพร่กระจายจะลดลง โดยครึ่งปีหลังเมื่อไวรัสฯ กลับมาดีขึ้น จะทำให้การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาดีขึ้นตามไปด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/759323

แรงงานเมียนมาไม่หวั่นพิษโคโลน่ากลับเข้าทำงานในจีนเพิ่มขึ้น

ในไม่กี่วันที่ผ่านมาแรงงานเมียนมากลับไปยังประเทศจีนเนื่องจากโรงงานที่ตั้งอยู่ระหว่างสองประเทศยังเปิดทำการปกติ

แม้ว่าภูมิภาคโคโรนาไวรัสจะยังคงปิดอย่างต่อเนื่อง โรงงานในจีนกำลังเรียกคนงานกลับมาที่นี่ ทุกวันมีผู้คนราวหมื่นคนเดินทางกลับประเทศจีนผ่านประตูชายแดนมูเซ นอกจากนี้ยังมีบางคนที่ไปตอนเช้าและกลับตอนเย็น เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 63 ตลาดผลไม้ของเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมูเซ (Muse 105th Mile Border Trade Zone) มีรถบรรทุก 230 คันบรรทุกแตงโมและบรรทุกเมลอน 219 คัน มาขาย

ที่มา: https://elevenmyanmar.com/news/more-myanmar-workers-returning-to-their-jobs-despite-virus-threat

พิษไวรัส COVID-19 กระทบค้าชายแดนเมียนมา – จีน ลด 209 ดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกแตงโมและผลิตภัณฑ์ทางทะชายแดนเมียนมา – จีนลดลง 209 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง 14 กุมภาพันธ์ของปีงบประมาณ 61-62 มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 14,595 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น 2.147 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีนี้ มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 1.053 พันล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การค้าชายแดนลดลงเนื่องจากวันหยุดตรุษจีนและการแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่า ถึง 18 กุมภาพันธ์การค้าชายแดนลดลง 209 ล้านดอลลาร์สหรัฐ – ส่งออก 152 ล้านดอลลาร์สหรัฐและการนำเข้า 57 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีผลกระทบกับแตงโม, แตงโมหวาน, สินค้าที่เน่าเสียได้และผลิตภัณฑ์ทางทะเล การแก้ไขปัญหานี้รัฐบาลย่างกุ้งร่วมมือกับโรงแรมตากอากาศ เจ้าของร้านอาหาร และผู้ผลิตอาหารในการรับซื้อแตงโมและแตงโมหวานและช่วยเพิ่มการบริโภคในท้องถิ่น

โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าอาจต้องปิดตัวลงชั่วคราวเนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบหากไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบได้จนถึงเดือนเมษายน ซึ่งต้องนำเข้าวัตถุดิบ CMP ผ่านชายแดนจีน – เมียนมา

ที่มา: https://elevenmyanmar.com/news/myanmar-china-border-trade-declines-209-m-usd-due-to-covid-19

ถกทูตพาณิชย์ปรับทัพส่งออกปี63

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเรียกประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก 28 ก.พ.นี้เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกและปรับทัพใหม่หลังเจอไวรัสโควิด-19ระบาดหนัก  นายสมเด็จ สุสมบูรณ์  อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  ในวันที่ 28 ก.พ.นี้จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกเพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 63  พร้อมทั้งปรับแผนงานการส่งออกในตลาดในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันสูง ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  สงครามการค้าสหรัฐ-จีน  เป็นต้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีแผนการหรือกิจกรรมส่งเสริมการค้าเพื่อกระตุ้นการส่งออกที่แตกต่างกัน ส่วนแผนการการเจาะตลาด 18 ประเทศที่วางไว้ก็คงต้องมีการปรับใหม่เพื่อความเหมาะสมหลังจากที่เกิดเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิค-19 สำหรับแผนการตลาดที่ต้องต้องปรับใหม่ เช่น แผนการโปรโมทสินค้าผลไม้ในดือนเม.ย.ต้องดูความเป็นไปได้ว่าจะสามารถเข้าไปทำกิจกรรมโปรโมทได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็ต้องระงับไว้ก่อน พร้อมกับปรับแผนให้เน้นในเรื่องของการขายออนไลน์ให้มากขึ้น แต่หากว่าจีนคุมสถานการณ์ได้ไว้ เราก็ต้องรีบเข้าจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด  ขณะเดียวกันก็ต้องมองไปที่ตลาดอื่นๆด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/758828