‘อลงกรณ์’ชูชุมพรฮับผลไม้ใต้ มั่นใจรถไฟจีน-ลาวช่วยส่งออกปีนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่ากระทรวงเกษตร มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของ จ.ชุมพร เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ปี 2565 กว่า 1 แสนล้านบาท โดยมีภาคเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งพืชเศรษฐกิจหลักทำรายได้ เช่น ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มะพร้าวและกาแฟโรบัสต้า รวมทั้งเศรษฐกิจภาคบริการด้านการท่องเที่ยว จึงได้วางนโยบายการพัฒนาอย่างน้อย 3 ด้าน ดังนี้ 1.นโยบายพัฒนาชุมพรเป็นมหานครผลไม้ภาคใต้ ซึ่งชุมพรเป็นจังหวัดที่ผลิตทุเรียนได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยเฉพาะการเปิดเส้นทางขนส่งผลไม้ทางรถไฟสาย จีน-ลาว จะเพิ่มการส่งออกผลไม้ได้มากขึ้นในปีนี้ จึงเร่งยกระดับการพัฒนาชุมพรเป็นฮับผลไม้ภาคใต้ 2.นโยบายพัฒนาชุมพรเป็นฮับกาแฟโรบัสต้าของประเทศ โดยสร้างแบรนด์สร้างมูลค่ากาแฟโรบัสต้าที่ชุมพร 3.นโยบายพัฒนาชุมพรเป็นประตูท่องเที่ยวเกตเวย์ทะเลใต้

ที่มา : https://www.naewna.com/local/632576

เกตรกรในรัฐฉาน หวังราคามันเทศสูงขึ้น โอดต้นทุนสูง

เกษตรกรผู้ปลูกมันเทศในเมืองตองยี รัฐฉาน ต่างหวังว่าจะได้ราคาที่ดีขึ้นเพื่อคุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนและราคาน้ำมันก๊าดในปัจจุบันสูง เกษตรกรในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลว่าได้ปลูกมันเทศบนพื้น 5 เอเคอร์ ซึ่งสถานการณ์ตลาดในปีนี้ไม่ดีนัก ซึ่งปีที่แล้วมันเทศหนึ่งถุงขายได้มากกว่า 10,000-13,00 จัต แต่ปีนี้เหลือเพียง 10,000 จัต โดยส่วนใหญ่มันเทศจะถูกส่งไปขายยังย่างกุ้งและมัณฑะเลย์เป็นหลัก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sweet-potato-growers-expect-better-prices-in-shan-state/#article-title

สถาบันการเงินกัมพูชา รายงานถึงปริมาณสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กล่าวว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ภาคสถาบันการเงินภายในประเทศได้ทำการปล่อยสินเชื่อในระบบรวม 185.1 ล้านล้านเรียล หรือประมาณ 44.9 พันล้านดอลลาร์ แก่ภาคการเกษตร การก่อสร้าง การผลิต การบริการ การค้า และภาคครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยภาคเกษตรมีสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งโฆษกของสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา ระบุว่าภายในสิ้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ปริมาณสินเชื่อสำหรับไมโครไฟแนนซ์ได้เพิ่มขึ้น 8.218 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 600 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่จำนวนผู้กู้เพิ่มขึ้นเป็น 2,028,882 ราย เพิ่มขึ้น 51,116 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2021
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50992206/banking-and-financial-institutions-disbursed-44-9-billion-in-loans-an-increase-of-23-percent/

‘เวียดนาม’ เผยเดือน ม.ค.-ส.ค. ภาคเกษตร ป่าไม้และประมง เกินดุลการค้าลดลง

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท เปิดเผยว่าตั้งแต่เดือนม.ค.-ส.ค. ภาคเกษตร ป่าไม้และประมงของเวียดนาม ทำรายได้จากการส่งออก 32.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่ยอดการนำเข้าสินค้า 28.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้าแตะ 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 48.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมงลดลงอย่างมาก เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 ทำให้บริษัทแปรรูปและส่งออกหลายแห่งดำเนินการผลิตได้เพียง 30-40% ขณะเดียวกันยังมีธุรกิจอีกหลายแห่งต้องระงับการดำเนินกิจการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมงรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ด้วยมูลค่า 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/agro-forestry-fishery-sector-earns-smaller-trade-surplus-in-jan-aug/

เมียนมาเตรียมแผนรองรับ COVID-19 สำหรับภาคเกษตร

กระทรวงเกษตรปศุสัตว์และชลประทาน (MOALI) ของเมียนมาจัดทำแผนแม่บทความมั่นคงด้านอาหารเพื่อรองรับภาคการเกษตรและปศุสัตว์จากปัญหา COVID-19  ภายหลังจากการประชุมตามแผนรับมือเศรษฐกิจ COVID-19 (CERP) เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของ COVID-19 ที่มีต่อประชากรในชนบทรวมทั้งเกษตรกร นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาที่ยั่งยืนของเมียนมา ภายใต้แผน MOALI จะมุ่งเน้นไปที่การผลิตพืชผลและปศุสัตว์ให้เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศส่วนที่เหลือจะถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้ภายใต้ CERP รัฐบาลได้เบิกจ่ายเงินไปแล้วร้อยละ 75 ของเงินจำนวน 9 หมื่นล้านจัต เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากการระบาดครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคม 63

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-draws-plan-cushion-agri-sector-covid-19.html

ภาคเกษตรเวียดนาม เกินดุลการค้าราว 49% ในช่วงไตรมาสแรก

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท เปิดเผยว่าภาคเกษตรเวียดนาม มียอดเกินดุลการค้าราว 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกสินค้าพืชสวนสำคัญอยู่ที่ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีแนวโน้มที่เหมือนกับสินค้าส่งออกป่าไม้ ประมงและปศุสัตว์ ด้วยมูลค่า 2.8, 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 109 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 16.13, 14 และ 21.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายรายการยังคงเติบโต ได้แก่ ข้าว สำปะหลัง ไม้และไม้แปรรูป เป็นต้น ในขณะเดียวกัน การส่งออกปลาสวายหดตัวอย่างมาก ลดลงร้อยละ 61.5 ด้วยมูลค่า 238 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมายาง (26.1%), ชา (19%) และพริกไทย (13.9%) เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดสหรัฐฯ แทนที่ตลาดจีน ในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรอยู่ที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.2 ของยอดส่งออกรวม รองลงมาจีน (21.4%), สหภาพยุโรป (13.1%), ญี่ปุ่น (8.9%) และอาเซียน (16.4%)

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/qi-agriculture-posts-nearly-49-growth-in-trade-surplus-412069.vov