วิกฤติทางการเมืองในเมียนมาทำให้ประชากรอีก 3.4 ล้านคนต้องเผชิญกับ ‘ความหิวโหย’

โดยโครงการอาหารโลก (World Food Programme, WFP)

ตั้งแต่รัฐประหารในเมียนมาเมื่อกุมภาพันธ์ 2564 ยิ่งทำให้ประเด็น ‘ความไม่มั่นคงทางอาหาร’ ของประเทศที่มีแต่เดิมรุนแรงขึ้น ประมาณว่าอีก 1.5 – 3.4 ล้านคนในเมียนมาจะประสบกับความหิวโหย และ 3 ใน 4 ของประชาชนจะเปราะบางต่อ ‘ความยากจน’ โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่เขตเมืองซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และผลกระทบระยะยาวที่มีต่อระบบอาหารในพื้นที่ชนบท

เพราะวิกฤติทางการเมืองทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว การค้าขายติดขัด การลงทะเบียนเปิดธุรกิจน้อยลงกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งทางธนาคารโลกคาดการณ์ว่า GDP ของเมียนมาร์อาจหดตัวถึง 10% ในปี 2564

นอกจากนี้ วิกฤติทางการเมืองทำให้การดำเนินการภาครัฐ 90% ต้องพักลงชั่วคราว การให้บริการสาธารณสุข สถาบันการศึกษา และโรงงานในย่างกุ้งกว่า 13 แห่ง (มีนาคม 2564) ต้องปิดตัวลง ผู้คนสูญเสียงานและรายได้ขณะที่ราคาข้าวและน้ำมันทำอาหารสูงขึ้น 5% และ 18% ตามลำดับ และสูงมากในบริเวณชายแดนในรัฐยะไข่ คะฉิ่น และฉิ่น ทั้งค่าใช้จ่ายในภาคขนส่งที่แพงขึ้น และธนาคารพาณิชย์ประมาณ 2,000 แห่งทำงานไม่ได้ตามปกติ การชำระเงินระหว่างประเทศ การถอนเงิน การโอนเงินระหว่างธนาคาร รวมถึงการส่งเงินกลับบ้านของชาวเมียนมามากกว่า 4 ล้านคนจากต่างประเทศซึ่งเป็นรายได้หนึ่งแหล่งที่สำคัญ ต้องประสบปัญหา – เหล่านี้เป็นสัญญาณสำคัญต่อประเด็นความยากจน และความหิวโหยในเมียนมา

เมียนมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำที่เศรษฐกิจพึ่งพิงอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อัญมณี เป็นต้น โดยที่ภาคบริการคิดเป็น 42% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 36% และภาคเกษตรกรรมคิดเป็น 22% ขณะที่ด้านการค้าขายส่วนมากค้าขายภายในภูมิภาคโดยมีจีนเป็นหุ้นส่วนหลักที่ส่งออก 31% และนำเข้า 34% ตามมาด้วยประเทศไทยและสิงคโปร์ ส่วนในด้านการลงทุนมีสิงคโปร์ลงทุน 34% และฮ่องกง 26%

อย่างไรก็ดี ในภาวะปกติจนถึงมกราคม 2564 ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารในเมียนมามาจาก – ความเปราะบางต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างชุมชน และผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจ

เช่นการศึกษาของ Fill the Nutrient Gap ในปี 2562 ระบุว่าอาหารที่มีโภชนาการและดีต่อสุขภาพยังคงมีราคาสูงจนคนเมียนมาไม่สามารถเข้าถึงได้ 9 ใน 10 ของครัวเรือนสามารถเข้าถึงอาหารที่ให้พลังงาน 4 ใน 10 สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

ขณะที่หลังจากวิกฤติทางการเมือง WFP ประเมินว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางอาหารมาจาก ‘การสูญเสียรายได้และสูญเสียงานของครัวเรือน จากเหตุการณ์ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยตั้งฉากทัศน์ไว้ที่ 3 เดือนและ 6 เดือนหลังจากเดือนมีนาคม 2564 โดยเฉพาะว่าในกลางเดือนมีนาคมจะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวบริเวณปากน้ำอิรวดี และเตรียมดินเพื่อทำนาในช่วงพฤษภาคม – มิถุนายน

ทว่าด้วยสถานการณ์ของเมียนมาในตอนนี้ซึ่งกระทบกับภาคการเกษตร แรงงาน และการคมนาคมขนส่ง ย่อมส่งผลทำให้อาจไม่สามารถปลูก-เก็บเกี่ยวพืชผลได้ ทั้งที่จะเป็นอาหารเลี้ยงปากท้องของคนเมียนมาเอง

ที่มา :

/1 https://www.sdgmove.com/2021/06/04/myanmar-after-takeover-face-food-insecurity/

/2 https://www.wfp.org/publications/myanmar-analysis-economic-fallout-and-food-insecurity-wake-takeover-2021