เวียดนามตั้งเป้า GDP ขยายตัว 7% ในปี 2564-2568

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลและวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NCIF) คาดการณ์ว่าเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเวียดนาม (GDP) ที่ระดับร้อยละ 7 ต่อปี ในช่วงปี 2564-2568 สำหรับเศรษฐกิจมหภาคอยู่ในระดับทรงตัว อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ต่อปี และผลิตภาพแรงงานจะขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี โดยข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) คาดว่าจะมีผลกระทบเขิงบวกมากกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เนื่องมาจากมีกลุ่มประเทศที่ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งทั้ง 2 ของความตกลงการค้าเสรีดังกล่าวนั้น จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมาก ได้แก่ เสื้อผ้า สิ่งทอ และรองเท้า  เป็นต้น นอกจากนี้ เขตการค้าเสรีจะช่วยให้เวียดนามปรับปรุงนโยบายและสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnams-gdp-expected-to-expand-7-in-20212025-406577.vov

EVFTA ส่งผลให้บริษัทโลจิสติกส์ เผชิญกับความท้าทายและโอกาส

ผู้ประกอบการโลจิสติกส์เวียดนามจำเป็นต้องพัฒนาในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เพื่อที่จะพยุงธุรกิจ เมื่อข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVFTA) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้กระตุ้นอุปสงค์ด้านโลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น โดยคุณ Thi Thu Trang, ผู้อำนวยการหอการค้าเวียดนาม ระบุว่าเมื่อผลของข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA มีผลบังคับใช้ จะเปิดโอกาสแก่บริษัทบริการโลจิสติกส์ของสหภาพยุโรป ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น แต่สามารถนำเงินทุน เทคโนโลยีใหม่ๆ และโอกาสในการร่วมมือของธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยต้นทุนโลจิสติกส์เวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21-25 ของ GDP นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศยังไม่พร้อม ส่งผลต่อความสามารถในการกระจายสินค้า และภาวการณ์แข่งขันของสินค้าเวียดนามลดลง

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/evfta-to-bring-logistics-firms-both-opportunities-and-challenges-405316.vov

FTA เวียดนาม-อียู ความทะเยอทะยานที่สัมฤทธิ์ผล

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้วางยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนที่สำคัญกับประเทศอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือ “การทำเขตการค้าเสรีเวียดนามกับสหภาพยุโรป (EU-VN FTA)” เหตุผลเพราะช่วยเปิดตลาดสหภาพยุโรป สำหรับสินค้าเวียดนามให้มีความได้เปรียบคู่แข่งมากยิ่งขึ้น และช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ภายในปี 2562 เกี่ยวกับประเด็นการเปิดตลาดสินค้า การพัฒนาที่ยั่งยืน การลดภาษีกว่า 99% ของสินค้านำเข้าทั้งสองประเทศ เป็นต้น จะช่วยให้เวียดนามพัฒนากรอบด้านการลงทุนและการใช้กฎหมายให้มีความโปร่งใส เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากประเทศสหภาพยุโรป อีกทั้ง เวียดนามยังใช้สิทธิ GSP จะเป็นโอกาสที่เวียดนามสามารถเข้าตลาดสหภาพยุโรปที่มีประชากรกว่า 508 ล้านคน มีมูลค่า GSP ประมาณ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 สินค้าสำคัญที่อียูนำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า (โทรศัพท์มือถือ) รองเท้า เสื้อผ้า เป็นต้น

ที่มา : https://bangkokbanksme.com/en/fta-vietnam-eu

FTA อียู-เวียดนาม จะกระเทือนส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในอียู?

สหภาพยุโรปและเวียดนาม ได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (EVFTA) เมื่อปลายปี 2558 ในสาระสำคัญของความตกลง EVFTA คือ การลดภาษีสินค้านำเข้ากว่าร้อยละ 99 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด ซึ่งการลดภาษีสินค้าดังกล่าว จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเวียดนามมากขึ้น แต่หากพิจารณาเฉพาะหมวดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนั้น ในระยะสั้นถึงกลาง ไม่ได้ส่งผลให้เวียดนามได้เปรียบไทยมากนัก เพราะแม้ว่าไทยจะต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าประเภทนี้ในปัจจุบัน แต่อัตราภาษีนำเข้าในอียูก็อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ คืออยู่ที่ร้อยละ 0-4 ประกอบกับไทยมีฝีมือการเจียระไนอัญมณีที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงทำให้ไทยยังคงเป็นที่ต้องการจของตลาดโลกรวมถึงตลาดอียูอีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในระยะยาว EVFTA อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย เพราะแม้ว่ามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของเวียดนามไปยังอียูจะยังค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น หากเวียดนามได้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และสินค้าอัญมณีเวียดนามก็อาจแย่งส่วนแบ่งการตลาดของไทยในอียูได้ในอนาคต เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและการตลาดเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://infocenter.git.or.th/Content_View.aspx?id=2605&Lang=TH&mail=1