กัมพูชาให้การต้อนรับผู้โดยสารทางอากาศในช่วง 10 เดือนแรกของปี แตะ 4.11 ล้านคน

Mao Havannall รัฐมนตรีสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งรัฐกัมพูชา เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 มีผู้เดินทางซึ่งลงทะเบียนในระบบเดินทางทางอากาศมายังกัมพูชากว่า 4.11 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 144 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจุบันมีสายการบินทั้งในและต่างประเทศประมาณ 32 สายการบิน ให้บริการเที่ยวบินทั้งหมด 41,596 เที่ยวบิน ไปยังสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ของกัมพูชา สำหรับในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินตรงมากจาก 8 ประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน และมาจากจีน เกาหลีใต้ และกาตาร์ รวมถึงประเทศอื่นๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501393834/cambodia-reports-4-11-mln-air-passengers-in-first-10-months-minister/

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ลดลงเกือบ 17% หลังได้รับผลกระทบ

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคมการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวลดลงร้อยละ 16.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลการค้าล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งได้รายงานการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชาไว้ที่มูลค่า 8.96 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี ซึ่งลดลงอย่างมากจาก 10.78 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้ภาคการจ้างงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการจ้างงานลดลง ด้านผู้เชี่ยวชาญได้ระบุเสริมว่านอกจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากภาวะสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ภาคการส่งออกของกัมพูชายังได้รับผลกระทบจากการไม่ต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และการลดสิทธิประโยชน์บางรายสินค้าจาก สิทธิพิเศษทางภาษี (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังสหภาพยุโรปของกัมพูชาลดลงจาก 4.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 เหลืออยู่ที่มูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 และลดลงร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501393555/global-headwinds-keep-cambodias-gft-exports-down-nearly-17-percent/

ศูนย์อุตฯ ฮาลาล เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ได้เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยไปยังตลาดโลก โดยจากข้อมูลในปี 2564 ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี และในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213,816 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 2.7% เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งอาหารฮาลาลส่งออกของไทยส่วนใหญ่ 78% เป็นฮาลาลโดยธรรมชาติ ส่วนที่เหลือ 22% ต้องผ่านการรับรองฮาลาล โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งภารกิจของศูนย์ดังกล่าวครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเร่งรัดจัดทำข้อตกลงทางการค้าเพื่อเปิดตลาด ส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (National Focal Point) และด้านพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน

ที่มา : https://www.naewna.com/business/770216

โอกาสส่งออกของมะพร้าวเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ และจีน

คุณ Bui Duong Thuat ผู้อำนวยการของบริษัท Mekong Fruit Export กล่าวว่าตลาดสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้ามะพร้าวรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน เนื่องมาจากได้มีการนำเข้ามะพร้าวสดประมาณ 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี ในขณะที่บริษัทเวียดนามส่งออกมะพร้าวสดไปยังตลาดสหรัฐฯ ราว 110-120 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสเติบโตของมะพร้าวเวียดนามในตลาดดังกล่าวอีกมาก นอกจากนี้ ในพื้นที่ของจังหวัดเบ๊นแจ (Ben Tre) พบว่ามีบริษัท 5 แห่งที่ทำการส่งออกมะพร้าวสดไปยังตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน (จีน) ออสเตรเลียและแคนาดา เป็นต้น และยังมีบริษัทประมาณ 20 แห่งที่ลงทะเบียนเพื่อรับรหัสหีบห่อและรหัสพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งช่วยให้สามารถส่งออกมะพร้าวไปยังตลาดจีนได้

ที่มา : https://en.nhandan.vn/opportunity-for-vietnams-coconut-exports-to-us-china-post131272.html

‘นครโฮจิมินห์’ ครองอันดับดัชนีความสามารถโลจิสติกส์ของประเทศ

สมาคมธุรกิจโลจิสติกส์เวียดนาม (VLA) ร่วมกับสถาบันวิจัยและการพัฒนาด้านโลจิสติกส์เวียดนาม (VLI) และศูนย์บ่มเพาะ จัดทำรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ (LCI) และได้มีการประเมิน 26 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีตัวชี้วัด ดังนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (GRDP) ปริมาณสินค้าบรรทุก และจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ ทั้งนี้ จากการประเมินพบว่านครโฮจิมินห์ได้รับคะแนนสูงสุด อยู่ที่ 43.3-74.3 จากคะแนนเต็ม 100 บ่งชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่โดดเด่นของเมืองในการบูรณาการเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพการให้บริการ และกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ รองลงมาเมืองไฮฟองและเมืองบิ่นห์ดิ่นห์ (Binh Dinh)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/hcmc-tops-logistics-competitiveness-index/