Vietnam Economic Factsheet : Q1/2567

FACTSHEET VIETNAM Q1.67

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ขยายตัว 5.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) โดยมีอัตราการเติบโตสูงกว่าไตรมาสแรกของปี 2563-2566 ถึงแม้ว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ที่ขยายตัว 6.72% ถึงอย่างไรก็ตามการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น จากความขัดแย้งในทะเลแดง

ด้านการผลิต : ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และประมง ขยายตัว 2.98%, ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ขยายตัว 6.28% และภาคบริการ ขยายตัว 6.12%

ด้านการใช้จ่าย : การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัว 4.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว, การสะสมทุนในสินทรัพย์ ขยายตัว 4.69%, การส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัว 18% และการนำเข้าสินค้าและบริการ ขยายตัว 17.08%

‘เวียดนาม’ คาดตลาดสมาร์ทโฟน แตะ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยข้อมูลตัวเลขการค้าเบื้องต้น พบว่ายอดการนำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนในเดือน เม.ย. อยู่ที่ 789.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่ามากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ตลาดนำเข้าหลักของสินค้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนของเวียดนาม ได้แก่ จีน เกาหลีใต้และฮ่องกง ในขณะที่การส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 18.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งโทรศัพท์และชิ้นส่วนเป็นสินค้าส่งออกหลักอันดับ 2 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม รองจากคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริม

อีกทั้ง เวียดนามกลายมาเป็นผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ตั้งแต่ปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 12% ของส่วนแบ่งตลาดโลก และจากตัวเลขการคาดการณ์ของ Statista ได้คาดการณ์ว่าตลาดสมาร์ทโฟนของเวียดนาม จะมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 1.45% ตั้งแต่ปี 2567-2571

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/trade-turnover-from-phones-and-components-increases-in-4m.htm

‘รัฐบาลเวียดนาม’ เร่งดำเนินแก้ปัญหาฉ้อโกงซื้อขายออนไลน์

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม มีมูลค่าสูงถึง 20.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่รายงานค้าปลีกออนไลน์ในปี 2566 และแนวโน้มในปี 2567 พบว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำรายได้จากธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) สูงถึงราว 500 ล้านล้านด่อง หรือประมาณ 19.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 และคาดว่ามูลค่าจะสูงถึงราว 650 ล้านล้านด่องในปีนี้

อย่างไรก็ดี ผู้ไม่ประสงค์ดีจำนวนมากใช้ประโยชน์จากความไว้วางใจของผู้บริโภคและใช้ช่องโหว่ทางนโยบายการขายสินค้าคุณภาพต่ำ โดยปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าของแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ด้วยเหตุนี้ ทางหน่วยงานของภาครัฐฯ จึงมักได้รับรายงานว่ามีสินค้าลอกเลียนแบบบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องมีทรัพยากร โดยเฉพาะเครื่องมือ วิธีการและบทลงโทษที่เหมาะสม

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/e-commerce-frauds-require-utmost-in-attention-from-regulators-2282406.html

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาทบทวนมาตรการควบคุมราคาบ้าน

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) กำลังทบทวนมาตรการควบคุมราคาบ้านที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของกัมพูชาจะต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ ด้านดัชนีราคาบ้านพักและที่อยู่อาศัย (RPPI) ซึ่งเริ่มเปิดตัวในกลางปี 2022 เพื่อวัดราคาบ้านโดยรวมทั่วประเทศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9 ภายในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2020 โดย NBC กำลังติดตามราคาบ้านอย่างใกล้ชิด และอาจใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมราคาหากจำเป็น ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นตัววัดเงินเฟ้อของกัมพูชาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ในปี 2022 และคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ภายในปีนี้ สำหรับมาตรการควบคุมราคาบ้านอาจส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกัมพูชา รวมถึงผู้ซื้อบ้านอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยอันเนื่องจากมาตรการและราคาบ้านที่อาจชะลอตัวลงหรือลดลงในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501490347/the-national-bank-of-cambodia-reviews-measures-of-housing-prices/

กัมพูชาเสนอจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ สำหรับบริษัทเกาหลีใต้เพื่อกระตุ้นการลงทุน

กัมพูชาเสนอจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะสำหรับบริษัทเกาหลีใต้หวังดึงดูดการลงทุน ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จะได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัทเกาหลีใต้ ที่สนใจเข้ามาลงทุนและดำเนินธุรกิจภายในกัมพูชาด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนใหม่ ให้สอดรับกับความต้องการของภาคการลงทุน โดยเศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบันเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่าร้อยละ 7 สำหรับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจกัมพูชาเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่กัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะเชื่อมนักลงทุนเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น ผ่านเครือข่ายความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคและทวิภาคี (FTA) รวมถึงเขตการค้าเสรีอาเซียน อาเซียนบวกหนึ่ง, RCEP, กัมพูชา-จีน FTA, กัมพูชา-เกาหลีใต้ FTA และกัมพูชา-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ FTA

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501490362/cambodia-proposes-exclusive-special-economic-zone-for-korean-firms-to-boost-investment/

“ไทย-ภูฏาน” ถก FTA รอบแรก ตั้งคณะทำงานด้านการค้าสินค้า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รอบ 2 ส.ค.นี้

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นภินทร ศรีสรรพางค์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงานภูฏาน (นำเยล ดอร์จิ) ได้ร่วมประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับภูฏาน ในช่วงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย-ภูฏาน (JTC) ครั้งที่ 5 คณะเจรจาของไทยและภูฏานจึงได้ประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน รอบแรก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ผ่านมา ณ ประเทศภูฏาน โดยมีตนเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และ โซแนม เชอริง ดอร์จิ ผู้อำนวยการกรมการค้า เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายภูฏาน สำหรับการหารือระหว่าง นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับ เชริง ท็อปเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567นายกรัฐมนตรีภูฏานขอให้พิจารณาเร่งรัดสรุปผลการเจรจาโดยเร็วที่สุด ซึ่งทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า FTA ไทย-ภูฏาน จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยผู้บริโภคภูฏานมีความนิยม รวมทั้งยอมรับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการของไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ที่มา : https://moneylifenews.com/en/articles/294591-gov