‘เวียดนาม’ นำเข้ารถยนต์ 4 เดือนแรก มูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม รายงานว่าเวียดนามนำเข้ารถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ จำนวน 43,805 คัน มูลค่ากว่า 929.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 19.4% และ 23.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาเฉพาะเดือน เม.ย. พบว่าเวียดนามนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศทั้งคัน (CBU) จำนวน 11,565 คัน มูลค่าอยู่ที่ 255.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ อินโดนีเซีย ไทยและจีน เป็นซัพพลายเออร์รถยนต์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยทั้งสามประเทศมียอดขายรถยนต์รวมกันทั้งสิ้น 42,154 คัน คิดเป็น 96.2% ของปริมาณการนำเข้ารถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ นอกจากนี้ จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์เวียดนาม (VAMA) เปิดเผยยอดขายรถยนต์ในประเทศ ไตรมาสแรกของปีนี้ ลดลง 17% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655591/viet-nam-spends-nearly-1b-importing-cars-in-the-first-four-months-of-2024.html

‘เวียดนาม’ เผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น

คุณ เหงียน ถิ เฮือง (Nguyen Thi Huong) หัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่าภาวะเงินเฟ้อยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. ถึงแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันอย่างมากจากตลาดระหว่างประเทศและในประเทศ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ใกล้กับเพดานที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ที่ระดับ 4-4.5%

ในขณะเดียวกัน นายเหงียน บิช ลา (Nguyen Bich Lam) นักเศรษฐศาสตร์ มองว่าเศรษฐกิจเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างมาก รวมถึงการแข่งขันที่รุงแรงในตลาดต่างประเทศ และความตึงเครียดในทะเลแดง ซึ่งอาจเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและเกิดความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก

นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐต่อด่องเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตข้างหน้า เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐยังไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย จากตัวเลขเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง สิ่งเหล่านี้จะถือว่าเป็นภาระต้นทุนในการนำเข้าและเงินเฟ้อในประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/mounting-inflationary-pressure-requires-governments-flexible-moves-post286015.vnp

การส่งออกประมงของเมียนมามีมูลค่า 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนที่ผ่านมา

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เผยว่าการส่งออกประมงของเมียนมา เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 54.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 3 พฤษภาคม ในปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2567-2568 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้น 25.5 ล้านดอลลาร์ เทียบกับ 29.46 ล้านดอลลาร์ที่บันทึกไว้ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2023-2024 อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการส่งออกสินค้าประมงเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ปริมาณการส่งออกสินค้าประมงยังต่ำกว่าที่บันทึกไว้ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ เมียนมาส่งออกสินค้าประมง เช่น ปลา ปู และกุ้ง ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (จีนและไทย) ผ่านด่านชายแดน Muse, Myawady, Kawthoung, Myeik, Sittway และ Maungtaw นอกจากนี้ยังจัดส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น ประเทศในยุโรป จีน ไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคผ่านช่องทางเดินเรือ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-fishery-exports-hit-us55m-in-one-month/#article-title

ASEAN-Korea Startup Innovation Week 2024 ต้อนรับสตาร์ทอัพด้านไอทีจากเมียนมาเข้าร่วมการแข่งขันแนวคิดนวัตกรรม

ตามข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าเมียนมา บริษัทสตาร์ทอัพด้านไอทีของเมียนมาได้รับเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขันนำเสนอผลงานสัปดาห์นวัตกรรมสตาร์ทอัพอาเซียน-เกาหลี ปี 2024 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 ตุลาคม โดยงานสัปดาห์นวัตกรรมปี 2024 ได้มีการเชิญชวนสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นของอาเซียน ซึ่งสตาร์ทอัพที่ได้รับเลือกจะต้องเข้าร่วมโปรแกรมเร่งรัดและการประชุมทางธุรกิจแบบเสมือนตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 13 กันยายน จากนั้นพวกเขาจะต้องปรากฏตัวที่งานในเกาหลี การแข่งขันแนวคิดนวัตกรรม ซึ่งสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกจะต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการเสนอวิธีแก้ปัญหาต่อคณะกรรมการตัดสินซึ่งจะถามคำถามในวันที่ 21 ตุลาคม สตาร์ทอัพชั้นนำจะเข้าร่วมพิธีมอบรางวัลและสนทนาข้างกองไฟในวันที่ 22 ตุลาคม และเข้าร่วมทัวร์ระบบนิเวศสตาร์ทอัพของเกาหลีในวันที่ 23 ตุลาคม อย่างไรก็ดี ศูนย์อาเซียน-เกาหลีจะดูแลด้านที่พักและเที่ยวบินไป-กลับสำหรับสตาร์ทอัพแต่ละรายที่ได้รับการคัดเลือกสำหรับงานนี้ และขอให้สถานทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนในกรุงโซลเสนอสตาร์ทอัพ 2 แห่งเป็นตัวแทน นอกจากนี้ ตัวแทนต้องมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติและข้อกำหนดการสมัคร ซึ่งคณะกรรมการประสานงานอาเซียนว่าด้วยวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (ACCMSME) ยังสามารถแนะนำผู้ประกอบการรายหนึ่งรายสำหรับแต่ละประเทศในอาเซียนได้

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/asean-korea-startup-innovation-week-2024-welcomes-myanmar-it-startups-to-join-pitch-competition/

รถไฟลาว-ไทย เตรียมเปิดอย่างเป็นทางการ พร้อมทดลองวิ่ง

สปป.ลาวและไทยได้เริ่มทดลองใช้บริการรถไฟข้ามพรมแดนใหม่ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะประกาศภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า ดำเนินการโดยการรถไฟแห่งชาติลาว ภายใต้กระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การทดสอบจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14 ถึง 17 พฤษภาคม 2567 จากสถานีรถไฟท่านาเล้งถึงสถานีเวียงจันทน์ ใน สปป.ลาว หลังจากการทดลองวิ่งครั้งแรกนี้ การทดสอบจะขยายเพิ่มเติมจากสถานีรถไฟอุดรธานีและสถานีหนองคายในประเทศไทย ไปยังสถานีรถไฟท่านาเล้งและสถานีคำสะวาทของลาว ตั้งแต่วันที่ 18-20 พฤษภาคม 2567 รถไฟลาว-ไทย และรถไฟลาว-จีน เป็นองค์ประกอบสำคัญของเครือข่ายรถไฟระดับภูมิภาคที่มุ่งเชื่อมโยงจีนกับสิงคโปร์ผ่านลาว ไทย และมาเลเซีย

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/15/laos-thailand-railway-prepares-for-official-opening-with-trial-runs/

บริษัท สปป.ลาว-ไทย จัดตั้งบริษัทร่วมทุนด้านพลังงานสะอาด

รัฐบาล สปป.ลาว และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย ร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ Super Holding Company เพื่อบริหารจัดการธุรกิจพลังงานสะอาดขนาดกว่า 7GW สู่เป้าหมายของประเทศลาวที่ต้องการเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” โดยบริษัทร่วมทุนจะดำเนินการดูแลจัดการและการกระจายพลังงานสะอาดจากส่วนกลาง ส่งเสริมการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า และขับเคลื่อนความคิดริเริ่มการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศลาว ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้จากธุรกิจพลังงานสะอาดภายใน 3 ปี ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบ อำนวยความสะดวกในการพัฒนาโซลูชั่นการจัดเก็บพลังงาน นำเสนอโซลูชั่นยานยนต์ไฟฟ้า และลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนเพิ่มเติมเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายระดับชาติ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_91_LaosThai_y24.php

กัมพูชา-เกาหลีใต้ ยก FTA หนุนการค้าทวิภาคีพุ่ง

กัมพูชาและเกาหลีใต้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมความตกลงเขตการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลีใต้ (CKFTA) เป็นครั้งแรกเพื่อติดตามความคืบหน้าของการค้าระหว่างสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า CKFTA ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกันต่อไป ด้านกัมพูชาคาดการณ์ว่าการค้าทวิภาคีกับเกาหลีใต้จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่า CKFTA จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ สำหรับข้อมูลจากกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา เผยให้เห็นว่า การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.4 หรือคิดเป็นมูลค่า 256 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 เป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ที่มูลค่า 98.2 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าจากเกาหลีใต้มายังกัมพูชาเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 6.7 ที่มูลค่า 158 ล้านดอลลาร์ สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ ได้แก่ รองเท้า เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยาง ยา และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ด้านสินค้านำเข้าหลักจากเกาหลีใต้มายังกัมพูชา ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว เครื่องดื่ม ยา และพลาสติกสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501487866/cambodia-korea-laud-fta-for-rising-bilateral-trade/