มะริดส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมูลค่า 19.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2566-2567

U Zaw Min Oo รองผู้อำนวยการกรมประมง เมืองมะริด เขตตะนาวศรี รายงานว่า ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากเขตตะนาวศรี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากมะริด ถูกส่งออกผ่านเส้นทางการค้าชายแดนมอตอง ในขณะที่บางส่วนขนส่งโดยตรงจากเกาะสองไปยังระนอง ในปีงบประมาณ 2566-2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำรวม 32,567.61 ตัน สร้างรายได้ 19.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 3,854 ตันในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2567-2568 โดยมีรายได้ 3.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี อำเภอมะริดขึ้นชื่อเรื่องการผลิตปลาน้ำเค็มและกุ้ง ซึ่งผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ส่งออกสำคัญจากเขตตะนาวศรี ได้แก่ ปลา กุ้ง ปลาเลี้ยง และผลิตภัณฑ์ทางทะเลอื่นๆ จากเกาะสอง อำเภอทวาย และมะริด ที่ถูกขนส่งผ่านห้าเส้นทางเพื่อการส่งออก และสินค้าบางส่วนยังขนส่งไปยังย่างกุ้งก่อนส่งออกไปต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myeik-district-exports-us19-41-million-worth-of-aquatic-products-in-2023-24-financial-year/

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาจับมือสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา ส่งออกข้าวโพดและข้าว กระตุ้นเศรษฐกิจ

มีรายงานว่า ข้าวโพดกว่า 5,400 ตันถูกส่งออกจากท่าเรือ Min Htet Min (MHM) พร้อมด้วย 2,700 ตันจากท่าเทียบเรือ Shweme (SMJ) และข้าว 4,850 ตันจากท่าเรือ Wilmar International Port ซึ่งจุดเริ่มต้นด้านการส่งออกดังกล่าวนี้ ดำเนินการผ่านความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และสหภาพสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา (UMFCCI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม มีการส่งออกเพิ่มเติม ได้แก่ ข้าวโพด 71,900 ตัน และข้าว 6,000 ตันจากท่าเรือ Sule Port Wharves (SPW) ข้าวโพด 53,500 ตันจากท่าเรืออุตสาหกรรมเมียนมา (MIP), ข้าวโพด 58,400 ตัน และข้าว 12,500 ตันจากท่าเรือ Ahlon International Port Terminal (AIPT), ข้าวโพด 29,500 ตันจาก The Myanmar Terminal-TMT, ข้าวโพด 5,400 ตันจากท่าเรือ Min Htet Min (MHM), 11,000 ตันจากท่าเทียบเรือนานาชาติย่างกุ้ง (YIGT) และข้าวโพด 2,700 ตันจาก Myanmar Five Star Line ( MFSL) ซึ่งการส่งออกเหล่านี้ได้ถูกกำหนดให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moc-collaborates-with-umfcci-to-export-maize-and-rice-boosting-economy/

Vietnam Economic Factsheet : Q4/2566

FACTSHEET VIETNAM Q4.66

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ขยายตัว 6.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.41% ในไตรมาสแรก, 4.25% ในไตรมาสสอง และ 5.47% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566

ด้านการผลิต : ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และประมง ขยายตัว 4.13%, ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง ขยายตัว 7.35% และภาคบริการ ขยายตัว 7.29%

ด้านการใช้จ่าย : การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัว 4.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว, การสะสมทุนในสินทรัพย์ ขยายตัว 6.21%, การส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัว 8.68% และการนำเข้าสินค้าและบริการ ขยายตัว 8.76%

ไทยร่วมมือซาอุฯ ส่งเสริมพัฒนาสินค้าฮาลาล

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้การต้อนรับ นายมาญิด บิน อับดุลเลาะฮ์ อัลกอเศาะบี รมว.พาณิชย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียและคณะ เพื่อหารือความร่วมมือและแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของทั้งสองประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมอาหาร ซาอุดีอาระเบียมีความยินดีที่ได้ร่วมมือและดำเนินการร่วมกันในอุตสาหกรรมฮาลาล เนื่องจากซาอุดีอาระเบียเป็นศูนย์กลางของตลาดฮาลาลในภูมิภาคชาติอาหรับ อีกทั้งมีผู้บริโภคจำนวนมาก นับเป็นเรื่องสำคัญมากหากได้รับความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยได้มีการวางแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านฮาลาลระหว่างสองประเทศ เพื่อผลักดันให้สินค้าฮาลาล รวมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคของไทย สามารถเข้าถึงตลาดซาอุดีอาระเบียได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมสินค้าฮาลาลระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย มุ่งเน้นไปที่สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ขยายโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงข้อมูลและช่องทางการจำหน่ายสินค้าในตลาดซาอุดีอาระเบีย ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี ร่วมพัฒนากลยุทธ์และมาตรฐานสินค้าฮาลาล เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและความสามารถในการแข่งขัน

ที่มา : https://www.naewna.com/business/804219

โครงการค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมข้าวกัมพูชา ดันการเพิ่มผลผลิตและการส่งออกข้าว

โครงการประกันสินเชื่อส่งออกข้าว (REGS) ได้รับการลงนามระหว่างองค์กรรับประกันสินเชื่อแห่งชาติ (CGCC) สมาคมผู้ส่งออกข้าวแห่งกัมพูชา (CRF) และสถาบันการเงินที่เข้าร่วม (PFIs) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตข้าวในกัมพูชาอย่างโรงสีให้สามารถขยายการซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรมาเก็บสต็อก เพื่อสีแปรรูป และส่งออก รวมถึงเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรมภายในประเทศ ซึ่งพิธีลงนามดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ภายใต้การเป็นประธานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เพื่อส่งเสริมการส่งออกข้าวตามนโยบายของรัฐบาลยุคปัจจุบัน สำหรับวงเงินโครงการอยู่ที่ 30 ล้านดอลลาร์ โดยมีสถาบันการเงิน 7 แห่งเข้าร่วม ได้แก่ AMK, Canadia Bank, FTB, Maybank, Prince Bank, Sathapana Bank และ Wing Bank ขณะที่เป้าหมายของโครงการ นอกจากการเพิ่มผลผลิตและศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชาแล้ว ทางการกัมพูชายังได้สร้างความท้าทายด้วยการกำหนดนโยบายส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปี 2025

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501486350/rice-credit-guarantee-scheme-inked-to-boost-rice-productivity-and-export/

การค้าระหว่าง กัมพูชา-จีน ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

การค้าระหว่างกัมพูชาและจีนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 มีมูลค่ารวม 4.48 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกัมพูชา ตามมาด้วยเวียดนาม สหรัฐฯ ไทย และญี่ปุ่น ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (RCEP) และความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2022 ช่วยส่งเสริมการเติบโตของภาคการค้าในปัจจุบัน ที่ได้รับผลประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงการค้าทั้งสองฉบับทำให้สินค้ากัมพูชา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคุณภาพสูง เช่น ข้าวเปลือก กล้วยหอม มะม่วง ลองกอง มันสำปะหลัง และพริกไทย เป็นสำคัญ ซึ่งสามารถส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501486365/cambodia-china-trade-continues-to-rise-in-jan-april/