กัมพูชา-เม็กซิโก จ่อจัดเวทีธุรกิจ ขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน

ความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัมพูชาและเม็กซิโกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายหลังการประชุมทางธุรกิจซึ่งมีแผนที่จะจัดขึ้นในกรุงพนมเปญเร็วๆ นี้ โดยคำกล่าวดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (29 เม.ย.) ระหว่าง Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชา และ Liliana Ferrer เอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำกัมพูชา ซึ่งทั้งสองหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่มีอยู่และการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศในอนาคต ด้านเอกอัครราชทูตเม็กซิโกพร้อมที่จะสนับสนุนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนยังกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการส่งเสริมศักยภาพและผลิตภัณฑ์ของเม็กซิโก ตลอดจนโอกาสในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะการเกษตร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการท่องเที่ยว เป็นสำคัญ โดยการค้าทวิภาคีระหว่างเม็กซิโกและกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 355 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.07 เมื่อเทียบกับปี 2022 ขณะที่สินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังเม็กซิโก ได้แก่ กางเกงชั้นในและกระเป๋า ชุดสูทสตรีไม่ถัก และเสื้อสเวตเตอร์ถัก ด้านสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก ได้แก่ รถบรรทุกและรถยนต์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501481587/business-forum-to-scale-up-cambodia-mexico-trade-investment-ties/

“บีโอไอ” เผยลงทุนไตรมาสแรก 2.28 แสนล้านบาททะยานต่อเนื่อง นำโดยอุตฯอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรก การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยในส่วนของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้น 94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31%

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์ขึ้นครองอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และฮ่องกง สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://siamrath.co.th/n/533144

‘เวียดนาม’ เผย 4 เดือนแรก โกยรายได้ 271.4 ล้านล้านด่อง

จากข้อมูลของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) เปิดเผยว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนมากกว่า 6.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 68.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และนักท่องเที่ยวในประเทศ มีจำนวน 40.5 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 271.4 ล้านล้านด่อง หรือประมาณ 10.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ชาวเกาหลีใต้ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 1.6 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 25.8% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาเยือนเวียดนาม รองลงมาชาวจีน ไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ จากนโยบายวีซ่าที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.66 หนุนให้นักท่องเที่ยวชาวยุโรปเดินทางมาเยือนเวียดนามมากขึ้น รวมถึงตลาดหลัก ได้แก่ สหราชอาณาจักร (35.2%), ฝรั่งเศส (41.7%), เยอรมนี (36.9%), อิตาลี (77.4%), สเปน (48.5%) และรัสเซีย (74%)

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-posts-2714-trillion-vnd-in-fourmonth-tourism-revenue/285265.vnp

‘เวียดนาม’ เผยเม็ดเงินทุน FDI ไหลเข้าธุรกิจอสังหาฯ เพิ่มขึ้น 4 เท่า

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจต่างชาติทุ่มเงินในโครงการอสังหาริมทรัพย์ มูลค่ากว่า 1.68 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งสัญญาณว่าตลาดอสังหาฯ ของเวียดนามยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติ ถึงแม้ว่าตลาดจะเผชิญกับอุปสรรคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) รายงานว่าธุรกิจต่างชาติอัดฉีดเงินลงทุนในภาคอสังหาฯ มูลค่า 66.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ จำนวนโครงการประมาณ 1,000 โครงการ ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นายเลอ ฮวง เชา ประธานสมาคมอสังหาริมทรัพย์นครโฮจิมินห์ กล่าวว่าธุรกิจ FDI จำนวนมากที่มีเงินทุนสูง จะทุ่มเงินไปยังอุตสาหกรรมอสังหาฯ การท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัยในเวียดนามมากขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/four-month-fdi-into-real-estate-increases-fourfold-post1092558.vov

ธนาคารกลางเมียนมาปรับเพิ่มอัตราสำรองขั้นต่ำ

เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและควบคุมการเพิ่มขึ้นของเงินสดหมุนเวียน ธนาคารกลางแห่งเมียนมา (CBM) ได้ปรับเพิ่มอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำของสกุลเงินท้องถิ่นจากร้อยละ 3.5 เป็นร้อยละ 3.75 ในสินทรัพย์สภาพคล่อง ตามประกาศคำสั่ง (4/2024) ลงวันที่ 30 เมษายน 2567 โดยการแก้ไขอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำนี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ดังนั้น ธนาคารของรัฐ ธนาคารเอกชน และสาขาของธนาคารต่างประเทศ มีสิทธินำเงินสดเข้าธนาคาร (CAB) ได้ร้อยละ 3 เพื่อเข้าบัญชีเงินฝากของธนาคารกลางเมียนมาและถือ CAB ร้อยละ 0.75 รวมทั้ง ยังได้กำหนดดอกเบี้ยสำรองส่วนเกินโดยเฉลี่ยไว้ที่ร้อยละ 3.8 เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของธนาคาร และธนาคารที่ถือเงินสำรองส่วนเกินโดยเฉลี่ยเกินกว่า 7 พันล้านจ๊าด อย่างน้อยก็มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย ทุนสำรองส่วนเกินที่ธนาคารถืออยู่นั้นจำกัดอยู่ที่ 50 พันล้านจ๊าด อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินต้องดำรงอัตราส่วนเงินฝากเข้าธนาคารกลางเมียนมา โดยเฉลี่ยจนถึงวันสุดท้ายของระยะเวลาดำรงเงินสำรองที่กำหนด ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับจากธนาคารกลางเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/cbm-hikes-minimum-reserve-requirement-ratio/#article-title

สปป. ลาว เผยไตรมาสแรกปี 67 มียอดนักท่องเที่ยวแล้ว 1 ล้านคน

กระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว เผยจำนวนนักท่องเที่ยวช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 1 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวไทยมีจำนวนมากที่สุดกว่า 337,689 คน รองลงมาคือชาวเวียดนาม จำนวน 263,160 คน ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน เกาหลีใต้ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ รัฐบาล สปป.ลาว ตั้งเป้าที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างน้อย 4.6 ล้านคนในปี 2567 และคาดว่าจะสร้างรายได้ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายและความมุ่งมั่นในแนวทางปฏิบัติด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สปป.ลาว จึงพร้อมที่จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/02/laos-welcomes-over-1-million-tourists-in-first-quarter-of-2024/