การส่งออกสินค้าประมงทะลุ 675 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 15 มีนาคม

อู ยุนท์ วิน ผู้อำนวยการกรมประมง (เนปิดอ) กล่าวว่า เมียนมาส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงมากกว่า 300 ชนิด ซึ่งมีมูลค่า 675.958 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปยัง 45 ประเทศ ณ วันที่ 15 มีนาคม ในปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2566-2567 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ สินค้าประมงจะถูกจัดส่งไปยังคู่ค้าต่างประเทศผ่านช่องทางการค้าทางทะเล และทางชายแดน โดยการส่งออกทางทะเลเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 หากเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การส่งออกกุ้งในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก และกุ้งเลี้ยงจากตะนาวศรีเป็นสินค้าซื้อขายที่มีมูลค่ามากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีปลามากกว่า 20 ชนิด รวมถึงฮิลซา ปลากะพง ปลาโรหู ปลาดุกแม่น้ำ และปลาบาร์บัส โดยที่คู่ค้าหลักที่เมียนมาส่งออกไป ได้แก่ ญี่ปุ่น ประเทศในตะวันออกกลาง ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มาเลเซีย จีนไทเป และออสเตรเลีย นอกจากนี้ สหพันธ์ประมงเมียนมาและกรมประมงกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนการส่งออกประมงในฐานะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในขณะที่การส่งออกอาหารทะเลไปยังประเทศต่างๆ เช่น จีน มีการตรวจสอบที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานกำลังพยายามปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัดเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกประมง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/fishery-exports-cross-us675-mln-as-of-15-march/#article-title

MCBA อำนวยความสะดวกในการรับสินค้าออกจากท่าเรือ

สมาคมนายหน้าศุลกากรแห่งเมียนมา (MCBA) จะดำเนินการให้แน่ใจว่าการรับสินค้าออกจากท่าเรือจะไม่เกิดความล่าช้า โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ด้านกรมศุลกากรของเมียนมาเริ่มมีการใช้เครื่องเอ็กซเรย์ เพื่อช่วยลดเวลาในการตรวจสอบสินค้า รวมทั้ง ท่าเรือ Asia World Port Terminal (AWPT) ก็มีการให้บริการสแกนเอ็กซเรย์เช่นกัน และด้านท่าเรืออุตสาหกรรมของเมียนมา (MIP) ก็เริ่มมีการฝึกปฏิบัติโซลูชั่นรักษาความปลอดภัยด้วยการเอ็กซเรย์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร, สมาคมขนส่งตู้คอนเทรนเนอร์เมียนมา (MCTA), การท่าเรือเมียนมา (MPA), สมาคมผู้ส่งสินค้าระหว่างประเทศเมียนมา (MFFA), AWPT, MIP และ MCBA จะอำนวยความสะดวกในการประสานงานเรื่องต่างๆ เพื่อให้การรับคืนสินค้าและการค้าเป็นไปอย่างราบรื่นทันเวลา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mcba-to-facilitate-cargo-retrieval-from-port-terminal/

Angkor Air เปิดเที่ยวบินตรง กัมพูชา-เดลี เสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

Angkor Air สายการบินแห่งชาติของกัมพูชา ประกาศเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างพนมเปญของกัมพูชา เชื่อมกับ กรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดีย โดยจะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน เป็นต้นไป โดยจะมีเที่ยวบิน 4 เที่ยวต่อสัปดาห์ ให้บริการทุกวันอาทิตย์ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ ซึ่งคาดว่าเที่ยวบินใหม่นี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและอินเดีย และส่งเสริมโอกาสทางการท่องเที่ยวและธุรกิจระหว่างสองประเทศให้มากขึ้น กล่าวโดย Sok Soken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และได้กล่าวเสริมว่า อินเดียและจีนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดที่กัมพูชา ในขณะเดียวกัน สายการบิน IndiGo Airlines ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำของอินเดีย ได้รับอนุมัติจากทางการกัมพูชาให้ดำเนินการเที่ยวบินระหว่างเดลีและเสียมเรียบ สำหรับกัมพูชาดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้กว่า 5.43 ล้านคนในปี 2023 เพิ่มขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 139 จาก 2.27 ล้านคนในปี 2022 สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 3.04 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 115 จากมูลค่า 1.41 พันล้านดอลลาร์ ในปีก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501461599/phnom-penh-delhi-flight-from-june-16/

กัมพูชา-ไทย มุ่งยกระดับความสัมพันธ์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงรุก

อดีตนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เรียกร้องให้มีการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับไทย ในด้านการค้า แรงงาน และภาคการท่องเที่ยว โดยยกระดับความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สู่หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงรุก ซึ่งได้กล่าวไว้ในระหว่างการให้การต้อนรับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรของไทย ณ กรุงพนมเปญ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 มี.ค.) โดยทั้งสองฝ่ายมองว่าการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะกลับมาหารืออีกครั้งเกี่ยวกับการสำรวจและขุดเจาะแหล่งน้ำมันและก๊าซร่วมกัน ในพื้นที่ทับซ้อน (Overlapping Claims Area: OCA) ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ในอ่าวไทย ซึ่งความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เชิงรุก (Comprehensive Strategic Partnership) เป็นรูปแบบความร่วมมือทวิภาคีที่ครอบคลุมระหว่างสองประเทศในประเด็นต่างๆ อย่างรอบด้าน ครอบคลุมหลายภาคส่วน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501461617/call-to-elevate-cambodia-thai-ties-amid-bid-to-settle-oca/

เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กระทบเงินบาทของไทย-ริงกิตของมาเลเซีย รวมถึงสกุลอื่นๆ ในอาเซียน

สกุลเงินบาทของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในช่วงเริ่มต้นปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงขยายตัวและข้อมูลการจ้างงานที่สดใส ความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกนาน ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินบาทของไทยและริงกิตของมาเลเซียได้รับผลกระทบหนักที่สุด แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวในช่วงสั้นๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ตามการตัดสินใจครั้งล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ “สกุลเงินเกือบทั้งหมดในโลกอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรก Joey Chew หัวหน้าฝ่ายวิจัย FX ของเอเชียของธนาคาร  HSBC กล่าวกับ The Business Times.

ที่มา : https://www.businesstimes.com.sg/international/asean/strong-us-dollar-hits-thai-baht-malaysian-ringgit-hardest-among-asean-currencies