เวิลด์แบงก์ คาดเศรษฐกิจเวียดนามปี 64 โต 6.8%

ธนาคารโลก (World Bank) ออกรายงานอัพเดทด้านเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก จะเติบโตขึ้นร้อยละ 6.8 ในปี 2564 และหลังจากนั้นจะอยู่ในระดับทรงตัวประมาณร้อยละ 6.5 ซึ่งการคาดการณ์ตัวเลขดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐานว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะการปล่อยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม นาง Carolyn Turk ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำเวียดนาม กล่าวว่าเวียดนามกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากการฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด-19 และมีโอกาสที่จะกำหนดเส้นทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฉลาดขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น ช่วยให้ในอนาคตสามารถรับมือกับการระบาดใหญ่และภัยธรรมชาติ ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์ คาดว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวร้อยละ 3 ในปี 2563 ขณะที่เศรษฐกิจโลกจะหดตัวร้อยละ 4 ท่ามกลางภัยพิบัติครั้งใหญ่ในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา

  ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economy-to-grow-68-percent-in-2021-world-bank/193558.vnp

เวียดนามน่าจะยังคงความสามารถทางการแข่งขันไว้ได้ แม้ค่าเงินดองมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะข้างหน้า

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

รายงานว่าด้วยการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า (Currency Manipulation) รอบล่าสุดที่เปิดเผยในเดือนธันวาคม 2563 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุให้เวียดนามเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ ทั้ง 3 เกณฑ์ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากกระบวนการแทรกแซงค่าเงินดองของเวียดนามที่ทางสหรัฐฯ ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยสะท้อนได้จากยอดซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิของเวียดนามสูงถึงร้อยละ 5.1 ต่อ GDP[1] (สูงกว่าเกณฑ์ที่ร้อยละ 2.0 ต่อ GDP) นอกเหนือจาก 2 เกณฑ์หลักซึ่งได้แก่ มูลค่าการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด

ค่าเงินดองที่อ่อนค่าเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เอื้อให้การส่งออกสินค้าต่างๆ ของเวียดนามที่มีความได้เปรียบในการผลิตอยู่แล้วมีแรงดึงดูดการลงทุนมากกว่าคู่แข่งประเทศอื่น ทำให้เวียดนามสามารถผลิตและส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี การที่เวียดนามได้ถูกสหรัฐฯ กล่าวหาเรื่องบิดเบือนค่าเงิน จะมีผลให้การดำเนินการในการแทรกแซงค่าเงินในระยะข้างหน้าเป็นไปได้ยากขึ้น อีกทั้ง เมื่อพิจารณาโครงสร้างดุลการชำระเงินที่น่าจะอยู่ในทิศทางเกินดุลสูง เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศที่สูง อาจเป็นแรงกดดันที่ทำให้ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) จำเป็นต้องทยอยปรับค่าเงินดองให้แข็งค่าขึ้น (Revaluation) เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่อาจจะถูกสหรัฐฯ ปรับใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าเพิ่มเติม

[1] เป็นการติดตามการแทรกแซงค่าเงินในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุดก่อนการรายงาน

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3172-Veitnam.aspx

Huawei ช่วยสร้างทางด่วนอัจฉริยะแห่งแรกในสปป.ลาว

เฟสแรกของทางด่วนจีน-สปป.ลาวจากเวียงจันทน์ไปยังวังเวียง (ทางด่วนเวียงจันทน์-วังเวียง) ที่พัฒนาโดย Yunnan Construction and Investment Holding Group ร่วมมือกับรัฐบาลสปป.ลาวเมื่อทางด่วนสร้างแล้วเสร็จการเดินทางจากเวียงจันทน์ไปวังเวียงใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงซึ่งประหยัดเวลาสองชั่วโมงครึ่งและจะส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการส่งเสริมระบบขนส่งให้มีคุณภาพเพื่อพัฒนาควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว ทางด่วนเวียงจันทน์-วังเวียงเป็นทางด่วนอัจฉริยะสายแรกในสปป.ลาวได้หัวเว่ยมาร่วมมือกับพันธมิตร Yunnan Huayuan Electronics Co. , Ltd. โดยมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารชั้นนำระดับโลก (ICT), คลาวด์คอมพิวติ้ง , Internet of Things ( IoT) ในการนำมาพัฒนาให้ระบบการจัดการของทางด่วนมีประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Huawei_248.php

วิเคราะห์ส่งออก ‘เวียดนาม’ ไม่สะเทือน แม้ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีปั่นค่าเงิน

โดย ศรัณย์ กิจวศิน I THE STANDARD

เวียดนามถือเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงินร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เวียดนามอาจไม่สามารถเข้าดูแลค่าเงินได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ค่าเงินดองมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่ประเด็นนี้อาจไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของเวียดนามมากนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ทางการเวียดนามจะทยอยปรับค่าเงินดองให้สูงขึ้นในช่วง 5-7% สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่พบว่าเวียดนามกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าความเป็นจริง 4.2-5.2% ในปี 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินดองจะไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในระยะสั้นถึงกลาง เนื่องจากโครงสร้างการผลิตของเวียดนามส่วนมากเน้นการใช้แรงงานเข้มข้น

สำหรับในระยะข้างหน้าด้วยค่าเงินดองมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันให้แข็งค่าต่อเนื่องจากโครงสร้างทางการค้าที่เกินดุล ทางการเวียดนามคงทยอยปรับค่าเงินดองให้แข็งค่าขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม อันช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามมีระยะเวลาในการปรับตัวเพียงพอต่อทิศทางการแข็งค่าของเงินดองในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดทอนผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าและการตัดสินใจลงทุนในระยะยาวของนักลงทุน ขณะที่ยังสามารถที่จะลดแรงกดดันจากข้อกล่าวหาในการบิดเบือนค่าเงิน

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวคงไม่ทำให้เวียดนามสูญเสียความได้เปรียบในการทำตลาดส่งออก เนื่องจากหากค่าเงินดองแข็งค่าขึ้นก็น่าจะเอื้อประโยชน์ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าปัจจัยการผลิตขั้นกลางของเวียดนามที่ยังต้องพึ่งพาจากต่างประเทศถึง 54% ของการนำเข้าทั้งหมด ประกอบกับโครงสร้างการผลิตที่เอื้อให้สินค้าเวียดนามมีต้นทุนต่ำ จึงน่าจะบริหารจัดการลดส่วนแบ่งกำไรลงบางส่วนเพื่อรักษาตลาดไว้ได้ ทำให้เวียดนามจะยังคงความสามารถในการแข่งขันในด้านการผลิตและส่งออกไว้ได้อีกระยะหนึ่ง

ที่มา : https://thestandard.co/vietnam-export-not-effecting-united-states-currency/