ฮานอยติดอันดับที่ 3 เป็นเมืองน่าดึงดูดเม็ดเงินลงทุน FDI สูงที่สุด ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้

ตามรายงานของสำนักงานสถิติประจำเมือง ระบุว่ายอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังกรุงฮานอย อยู่ที่ราว 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงพฤศจิกายน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.2 ของมูลค่าการลงทุนรวม FDI ที่จดทะเบียนในเวียดนามปีนี้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงกรุงฮานอยอยู่ในอันดับที่ 3 เป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ เดือนพฤศจิกายนในปีนี้ กรุงฮานอยมีจำนวน 26 โครงการที่ได้รับการจดทะเบียนใหม่ ด้วยมูลค่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึง 26 โครงการจากนักลงทุนต่างชาติและอีก 6 โครงการเพิ่มเติม ด้วยมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังการร่วมลงทุนหรือซื้อหุ้นกิจการในประเทศ นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปีนี้ กรุงฮานอยมีจำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนใหม่ 24,600 แห่ง คิดเป็นมูลค่า 13.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการอีก 5,774 แห่ง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/hanoi-ranks-third-in-fdi-attraction-in-11-months/191424.vnp

อุตสาหกรรมการบินของเวียดนาม จำเป็นต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว มากกว่า 3 ปี

สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) ระบุว่าอุตสาหกรรมการบินของเวียดนามจำเป็นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ในการกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับปกติ ซึ่งทางองค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้จำลองสถานการณ์ 2 ลักษณะของอุตสาหกรรมการบินโลกไว้ โดยสถานการณ์แรกนั้น อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นตัวเป็นรูปตัววี “V” และสถานการณ์สอง จะเป็นการฟื้นตัวเป็นรูปตัวยู “U” ชี้ให้เห็นถึงอุตสาหกรรมดิ่งลงสู่ระดับต่ำที่สุด ใช้ระยะเวลา 3-5 เดือน พร้อมกับเศรษฐกิจตกต่ำ ด้วยเหตุนี้ ตลาดการบินจะปรับตัวลดลงร้อยละ 48-71 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ คุณ Pham Van Hao รองผู้อำนวยการ CAAV มองว่าอุตสาหกรรมการบินของเวียดนามมีแนวโน้มอยู่ในสถานการณ์แรก อย่างไรก็ตาม เวียดนามจะกำหนดเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศแก่รัฐบาลอีกครั้ง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการบินของเวียดนามสูญเสียรายได้ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-aviation-industry-needs-more-3-years-to-recover-315090.html

ปี 64 เมียนมาพร้อมเปิดตัวระบบเงินชดเชยจากการว่างงาน

กรมสวัสดิการสังคม กระทรวงแรงงานการเข้าเมืองและประชากรเผยเมียนมาจะเริ่มระบบเงินชดเชยจากการว่างงานในปีงบประมาณ 63-64 แม้ว่าสิทธิประโยชน์การว่างงานถูกกำหนดไว้แล้วภายใต้กฎหมายประกันสังคมปี 55 แต่ยังไม่มีการบังคับใช้ ซึ่งกระทรวงจะเริ่มดำเนินการโดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสหภาพยุโรป จากการประกันภัย 6 ประเภทภายใต้กฎหมายประกันสังคม พ.ศ. 55 มีการบังคับใช้เฉพาะการประกันสุขภาพและเงินชดเชยจากการบาดเจ็บในการทำงานเท่านั้น การประกันภัยประเภทอื่น ๆ อีกสี่ประเภทที่ยังคงต้องดำเนินการ ได้แก่ การประกันความช่วยเหลือครอบครัว ผลประโยชน์จากการว่างงาน การประกันความทุพพลภาพ เงินอุดหนุนและผลประโยชน์ของผู้รอดชีวิตตลอดจนความช่วยเหลือด้านประกันสังคม ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณหนึ่งล้านคนที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมและเป็นสมาชิกสวัสดิการสังคมในเขตย่างกุ้ง ตามกฎหมายเงินสมทบประกันสังคมคือ 5% – 2% จากเงินเดือนของพนักงานและเงินสมทบจากนายจ้างอีก 3% ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกันสังคม 60% ใช้สำหรับการดูแลสุขภาพของพนักงานส่วนที่เหลืออีก 40 % .ใช้สำหรับการลงทุน

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-introduce-unemployment-benefits-system-2021.html

การเปิดใช้ทางด่วนเวียงจันทน์ – วังเวียงอาจล่าช้าออกไป

เจ้าหน้าที่ได้เลื่อนการเปิดใช้ทางด่วนเวียงจันทน์-วังเวียงที่มีระยะทางรวม 113.50 กิโลเมตรที่ สาเหตุของความล่าช้ามาจากงานในโครงการบางส่วนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ผิดแผนไปจากเดิมที่จะมีการเปิดจราจรในวันชาติสปป.ลาว นายขัตติยศักดิ์ ไชยวงศ์หัวหน้าคณะกรรมการบริหารทางพิเศษกล่าวกับเวียงจันทน์ไทม์สเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า “งานเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วร้อยละ 99.9 และมีแผนจะเปิดในเดือนนี้ แต่ตอนนี้กำหนดการเปิดตัวคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้” ถนนทางพิเศษดังกล่าวซึ่งมีอุโมงค์คู่ผ่านภูเขาจะทำให้เส้นทางสั้นลงจากเดิมถึง 43 กม. โครงการทางพิเศษนี้ได้รับการลงทุนจากนักลงทุนจีนซึ่งจะดำเนินการภายใต้สัญญาสัมปทาน 50 ปีโดยมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลสปป.ลาวถือหุ้นร้อยละ 5 ในโครงการ  โครงการทางด่วนพิเศษเป็นการตอกย่ำถึงความประสงค์ของสปป.ลาวที่จะนำพาตัวเองไปสู่ประเทศที่เชื่อมต่อกับนานาประเทศ “Land lock Land link” ซึ่จะนำพาสปป.ลาวสู่ประเทศที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตจากปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Opening235.php

หนี้เสียทางฝั่งของไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชาลดลงร้อยละ 2.27 ณ ต.ค.

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของภาคการเงินรายย่อยลดลงจากร้อยละ 2.56 ในเดือนกันยายน สู่ร้อยละ 2.27 ในเดือนตุลาคมหลังจากเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.33 ในเดือนมกราคมและสูงสุดในเดือนพฤษภาคมที่ร้อยละ 2.61 โดยหัวหน้าฝ่ายสื่อสารของสมาคมการเงินรายย่อยกัมพูชา (CMA) กล่าวว่าการลดลงของหนี้เสียเนื่องจากธนาคารและสถาบันการเงินยังคงทำงานร่วมกันกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด สำหรับอัตราส่วน NPL ที่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีตามมาตรฐานอุตสาหกรรมระดับโลก ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว NBC แจ้งธนาคารและสถาบันการเงินว่าควรดำเนินการปรับโครงสร้างเงินกู้ต่อไปจนถึงกลางปี ​​2564 ในการที่จะช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50788275/microfinance-bad-loans-fall-to-2-27-in-october/

การเปลี่ยนแปลงทางด้านพลังงานสะอาดในกัมพูชา

จังหวัดกัมปอตจะเป็นที่ตั้งของฟาร์มกังหันลมแห่งแรกของกัมพูชา โดยถือเป็นก้าวสำคัญบนทิศทางของพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนในกัมพูชา ซึ่งโครงการพลังงานทดแทนจากลมในกัมพูชากำลังใกล้เข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง โดย The Blue Circle (กัมพูชา) ถือเป็นบริษัทผู้ทำการศึกษาโครงการและอยู่ระหว่างการหารือกับการไฟฟ้าแห่งกัมพูชา (EDC) เกี่ยวกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งโครงการพลังงานลมแห่งแรกของ Blue Circle ในกัมปอตสามารถผลิตไฟฟ้าสะอาดได้ถึง 225 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนได้ 150,000 ครัวเรือน และลดการปล่อย CO2 ได้มากกว่า 130,000 ตันต่อปี ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับกัมพูชาในการบรรลุพันธสัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกรุงปารีสในปี 2015 และถือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันกัมพูชาพึ่งพาแหล่งพลังงานต่างๆเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นพลังน้ำ ถ่านหิน น้ำมันเตา และพลังงานที่ทำการนำเข้ามาจากต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50788448/winds-of-change-for-renewables-in-the-kingdom/

อาเซียนบวกสามผนึกกำลังเพิ่มประสิทธิภาพความช่วยเหลือทางการเงิน เสริมสภาพคล่องหากขาดดุลการชำระเงิน ผ่านกลไกการริเริ่มเชียงใหม่

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ เป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค (Regional Financing Arrangement) ในการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน หรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และเมื่อครั้งการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนบวกสาม (AFMGM+3) ครั้งที่ 23 ได้มีมติเห็นชอบร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM) Agreement) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้แต่ละประเทศสมาชิกดำเนินการภายในเพื่อลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ คือ 1) เพิ่มสัดส่วนให้ความช่วยเหลือกรณีที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของวงเงินขอรับความช่วยเหลือสูงสุด 2) ยินยอมให้สามารถเลือกสมทบหรือขอรับความช่วยเหลือภายใต้กลไก CMIM เป็นสกุลเงินท้องถิ่นตามหลักความสมัครใจ ภายใต้วงเงินรวมคงเดิมจำนวน 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากจะยกเลิกการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกรุงลอนดอน (London Interbank Offered Rate : LIBOR) ในสิ้นปี 2564 และแก้ไขประเด็นเชิงเทคนิคเพื่อให้การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ภายใต้กลไก CMIM มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9630000123605