เวียดนามคุมเข้ม “พ่อค้าแม่ค้าไลฟ์สด” ต้องจ่ายภาษีตามกฎระเบียบ

สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ว่า นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม สั่งการให้กระทรวงการคลังติดตามการไลฟ์สดขายสินค้า ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ บุคคลที่มีรายได้มากกว่าปีละ 100 ล้านดอง (ราว 144,000 บาท) ต้องสำแดงและชำระภาษีภายใต้กฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเวียดนาม และรายงานโดยกระทรวงการคลังเวียดนามระบุว่า กลุ่มนักสร้างคอนเทนต์หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์จำนวนมาก ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง เนื่องจากไม่แจ้งข้อมูลรายได้ต่อหน่วยงานทางการ ส่วนผู้ที่อยู่ในสาขาอื่น เช่น การตลาด ไอที บริการ การค้าดิจิทัล และโซเชียลมีเดีย จัดอยู่ในกลุ่มที่มีหนี้ภาษีจำนวนมาก

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/3530881/

‘เวียดนาม’ เผยยอดขายรถยนต์ เดือน พ.ค. พุ่ง 6%

สมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) เปิดเผยว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน พ.ค. อยู่ที่ 25,794 คัน เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เป็นผลมาจากตัวแทนจำหน่ายออกมาตรการจูงใจซื้อรถยนต์มากขึ้น และหากจำแนกประเภทรถยนต์ พบว่ายอดขายรถยนต์นั่ง อยู่ที่ 18,235 คัน เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. ในขณะที่ยอดขายรถยนต์พาณิชย์และรถยนต์ใช้งานพิเศษ อยู่ที่ 7,292 คัน และ 267 คัน ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่ายอดขายรถยนต์สำเร็จรูป (CPU) มีการเติบโตสูงกว่ารถยนต์ในประเทศ เนื่องจากรถยนต์นำเข้าที่มีอัตราการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตภายในประเทศ 40% จะได้ลดภาษีศุลกากรเหลือ 0% ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามลงนามไว้

นอกจากนี้ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ได้แนะนำให้ภาครัฐฯ ควรใช้มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันสำหรับรถยนต์ที่ประกอบในประเทศในระยะยาว

ที่มา : https://ven.congthuong.vn/domestic-auto-sales-inch-up-6-in-may-51100.html

การส่งออกผลผลิตทางการเกษตรของเมียนมาทะลุ 970 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนเม.ย.-พ.ค

ตามการระบุของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา การส่งออกสินค้าเกษตรของเมียนมาเพิ่มขึ้นเป็น 971.957 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2567-2568 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน โดยตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกว่า 379 ล้านดอลลาร์ เทียบกับที่บันทึกไว้ (592.7 ล้านดอลลาร์) ในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2566-2567 อย่างไรก็ดี เมียนมาส่งออกสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ และสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูปผ่านช่องทางการค้าทางทะเลและชายแดน ในขณะที่นำเข้าสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง วัตถุดิบที่นำเข้าโดยวิสาหกิจ CMP และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยได้ดำเนินยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติ (NES) พ.ศ. 2563-2568 เพื่อกระตุ้นการส่งออก ซึ่งภาคส่วนที่มีลำดับความสำคัญของ NES ได้แก่ การผลิตทางการเกษตร เครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจประมง ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ การผลิตและบริการดิจิทัล บริการโลจิสติกส์ การจัดการคุณภาพ บริการข้อมูลการค้า นวัตกรรม และภาคผู้ประกอบการ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-agri-produce-exports-cross-us970m-in-apr-may/

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ประกาศรหัส HS 1,100 รหัส สำหรับคลังสินค้าศุลกากร

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ตอบรับการนำเข้า 4 ประเภทในคลังสินค้าศุลกากรด้วยรหัส HS 1,100 รหัส ได้แก่ ยา (117 รหัส) ยานพาหนะไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง (56 รหัส) วัตถุดิบและเคมีภัณฑ์อุตสาหกรรม (866 รหัส) และวัตถุดิบอาหาร (61 รหัส) นอกเหนือจากสินค้าที่ได้รับอนุญาตในคลังสินค้าของศุลกากรแล้ว การขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าก่อนถึงท่าเรือถือเป็นข้อบังคับ และการไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับและโทษตามกฎหมายที่มีอยู่ ตามประกาศการค้าฉบับที่ 50/2020 กรมภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 อย่างไรก็ดี หากไม่ได้รับใบอนุญาตจะห้ามมิให้ผู้ใดส่งออกและนำเข้าสินค้าที่ระบุซึ่งต้องขอใบอนุญาต กรมการค้าเตือนผู้ส่งออกและผู้นำเข้าถึงบทลงโทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการส่งออกและนำเข้าคำสั่งและแนวปฏิบัติเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยแจ้งให้พวกเขาขอใบอนุญาตก่อนเป็นเอกสารก่อนมาถึงสำหรับการขนส่งทางอากาศ ทะเล และถนนทุกประเภท ตามประกาศข่าวการส่งออกและนำเข้า 3/2567 ของกรมการค้า

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moc-announces-1100-hs-codes-for-customs-warehousing/#article-title

‘เวียดนาม’ เผย 5 เดือนแรก จัดตั้งธุรกิจใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่ายอดการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 64,758 ราย เพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเฉลี่ยต่อธุรกิจ 9.3 พันล้านด่อง หรือประมาณ 365,500 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.2%YoY

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องการปรับตัวขององค์กรให้เข้าสู่สถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น ความเครียดทางการเมืองโลกที่ทวีความรุนแรงสูงขึ้นและความผันผวนของตลาด

นอกจากนี้ จากการประชุมครั้งล่าสุดระหว่างกระทรวงและผู้ประกอบการในท้องถื่น แสดงความเห็นว่าควรออกมาตรการสนับสนุนการผลิตและการดำเนินธุรกิจให้มากขึ้น รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนและการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/number-of-newly-established-firms-in-five-months-highest-on-record-post1100977.vov

นายกฯ สปป.ลาว ให้คำมั่นที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความคล่องตัว

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวกับที่ประชุมรัฐสภาว่า รัฐบาลจะเพิ่มความพยายามในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและให้คำมั่นว่าจะลดขั้นตอนในการจดทะเบียนและขอก่อตั้งธุรกิจ เพื่อลดความยุ่งยากในการดำเนินธุรกิจและดึงดูดการลงทุนมากขึ้น โดยกล่าวว่า ความพยายามในการปรับปรุงกระบวนการเริ่มต้นการขอจัดตั้งธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ พร้อมเสริมว่าระบบเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลกำลังแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน โดยร่างการแก้ไขกฎหมายจะถูกส่งไปยังสมาชิกรัฐสภาในระหว่างการประชุม ซึ่งจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 เพื่ออภิปรายและอนุมัติเห็นชอบ การแก้ไขนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องและนโยบายจูงใจที่มุ่งดึงดูดการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ สวนอุตสาหกรรม เขตโลจิสติกส์ และอื่นๆ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_111_Govt_y24.php

‘ยูโอบี’ คาดเศรษฐกิจเวียดนามครึ่งปีหลัง ฟื้นตัวต่อเนื่อง

ธนาคารยูโอบี (UOB) เปิดเผยรายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามว่ามีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เป็นผลมาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในครึ่งแรกของปี และเมื่อพิจารณาการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาสก่อน พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ และไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ขยายตัว 5.66% และ 6.72% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ จะได้รับปัจจัยหนุนมาจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและบริการ รวมถึงการค้าต่างประเทศที่กลับมาดีขึ้น ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 50.3 และการผลิตภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 8.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการเติบโตเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในปีนี้

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-economic-recovery-momentum-to-continue-in-h2-uob/