รัฐบาลสปป.ลาวคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.3

รัฐบาลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสปป.ลาวจะเติบโตร้อยละ 3.3 ในปีนี้ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตเดียวกันที่คาดการณ์ไว้ในเดือนมิถุนายน แม้ว่าจะมีการจำกัดการเดินทางที่ยืดเยื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ  COVID-19 ยังคงดำเนินต่อไป นายทองเจือ สีสุลิธนายกรัฐมนตรีสปป.ลาว กล่าวเพิ่มเติมว่า“ เราประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมาหลายปีแล้วยังมีปัจจัยด้านสภาพอากาศที่รุนแรงและการระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของสปป.ลาว” นอกจากนี้ COVID-19 ยังทำให้เกิดภาระมากขึ้นต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลสปป.ลาว เป็นที่มาของการร่างแผนระยะสั้นระยะกลางและระยะยาวเพื่อจัดการกับหนี้สินและลดการขาดดุลการคลังในแต่ละปี รัฐบาลจะไม่รับเงินกู้จากต่างประเทศอีกต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการคลัง นายกรัฐมนตรียอมรับว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงแต่มองในแง่ดีว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสูงกว่าอัตราการเติบโตของโลกที่คาดการณ์ในปี 63 จะหดตัวถึงร้อยละ -4.4

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Economic_210.php

ใช้สิทธิการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีลดฮวบ

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์ สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ในเดือน ม.ค.-ก.ค.63 ว่า มูลค่าการใช้สิทธิรวมเท่ากับ 35,421.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 14.77% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.94% แบ่งเป็นเอฟทีเอ 32,875.25 ล้านเหรียญฯ ลด 15.88% และจีเอสพี 2,546.60 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 2.61% ทั้งนี้ “แม้ภาพรวมการใช้สิทธิลดลง แต่สินค้าบางรายการของไทยยังส่งออกได้ต่อเนื่อง ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป แม้มีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ส เช่น นม ผลไม้สดต่างๆ ทั้งทุเรียน มังคุด มะม่วง อาหารปรุงแต่ง น้ำผลไม้ ปลาทูน่าปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่งที่ทำจากเกล็ดธัญพืช เต้าหู้ปรุงแต่ง ซอสปรุงแต่ง กุ้ง ข้าวโพดหวาน ปลาสคิปแจ็ก เป็นต้น” นอกจากนี้ การใช้สิทธิเอฟทีเอนั้น ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 11,152.89 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 3.84% รองลงมาอาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและอินเดีย ขณะที่การใช้สิทธิจีเอสพี 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1962459

สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในกัมพูชา

ประธานสมาคมธนาคารในกัมพูชา (ABC) กล่าวว่าภาคธนาคารยังคงมีความมั่นคงจากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่จัดการได้ในช่วง COVID-19 และอุทกภัยที่ผ่านมา โดยธนาคารกำลังติดตามผลกระทบต่อลูกค้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในภาคธนาคารเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่อยู่ภายใต้การจัดการของอุตสาหกรรม โดย NPLs ตอนนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 ก่อนหน้า COVID-19 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 1.3 ดังนั้นการเติบโตของ NPL จึงอยู่ในระดับต่ำ ณ เดือนตุลาคมสถาบันการเงินได้ให้การปรับโครงสร้างเงินกู้แก่ลูกค้ามากกว่า 280,000 ราย ซึ่งคิดเป็นวงเงินประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ข้อมูลจากสมาคมการเงินรายย่อยกัมพูชา (CMA) แสดงให้เห็นว่าสมาชิก CMA ได้ปรับโครงสร้างเงินกู้สำหรับลูกค้า 265,000 ราย ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ ภายในกลางเดือนตุลาคม NPL ในภาคการเงินรายย่อยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ของทั้งหมดในเดือนกันยายน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50777269/non-performing-loans-rise-but-only-by-a-slight-margin/

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนลงทุนบนเกาะ Norea ราว 2.5 พันล้านดอลาร์

รัฐบาลกัมพูชาเตรียมการอัดฉีดเงินลงทุนประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาเมืองแห่งใหม่บริเวณเกาะนอเรียทางตะวันออกของเมืองหลวงในช่วงสามปีข้างหน้า โดยจะลงทุนประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานของโครงการทั้งหมด โดยบริษัท OCIC ร่วมพัฒนาบนพื้นที่ 125 เฮกตาร์ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานของโครงการก่อสร้างทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์แล้วร้อยละ 27 สำหรับการพัฒนาครั้งต่อไปบริษัทกำลังสร้างสะพานคอนกรีตสองแห่งข้ามแม่น้ำบาสัก โดยการพัฒนาเกาะนอเรียจะช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในหลายด้าน จากการบรรเทาปัญหาการจราจร เพิ่มความสะดวกในการขนส่ง และเป็นการพัฒนาสังคม ทั้งรองรับผู้อยู่อาศัยได้ราว 50,000 คน ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนถือว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในกัมพูชา โดยรัฐบาลได้เรียกร้องให้บริษัทภาคเอกชนทุกแห่งดำเนินธุรกิจและทำการลงทุนในประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50777087/2-5b-investment-for-koh-norea-ocic/