“พาณิชย์” ประกาศเริ่มใช้งานระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองใหม่ 20 ก.ย.นี้

กรมการค้าต่างประเทศประกาศเริ่มใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองแบบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.นี้เป็นต้นไป นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการอาเซียน แจ้งว่าประเทศสมาชิกสามารถใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองแบบใหม่ หรือที่เรียกว่าระบบ AWSC (ASEAN Wide Self-Certification) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขึ้นทะเบียนเป็น “ผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรอง” (Certified Exporter) โดยผู้ส่งออกสามารถขึ้นทะเบียนได้ผ่านเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ (www.dft.go.th) เพื่อดำเนินการกรอกข้อมูลการขึ้นทะเบียน Certified Exporter พร้อมแนบเอกสารหลักฐานประกอบการขึ้นทะเบียนผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางมายื่นเอกสารที่กรมฯ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนเป็น Certified Exporter เพิ่มขึ้น กรมฯ ได้จัดกิจกรรมขึ้นทะเบียนสัญจร ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 16 ก.ย. 2563 เพื่อให้คำแนะนำในการขึ้นทะเบียน และการใช้ประโยชน์จากระบบ AWSC ในการส่งออกไปยังอาเซียน

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9630000092441

เวียดนามคาดส่งออกข้าว 100,000 ตันไปอียู

จากการหารือของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ในประเด็น ‘การส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป’ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา คุณ Le Quoc Doanh รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ระบุว่าข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อผลผลิตทางการเกษตร การส่งออกข้าวจะมีศักยภาพสูงขึ้นภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ประกอบกับอียูจะให้โควตาข้าวของเวียดนาม 80,000 ตันต่อปี และเปิดเสรีการค้าข้าวหักอย่างสมบูรณ์ หมายความว่าเวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 100,000 ตันต่อปี ไปยังอียู ทั้งนี้ กรมการผลิต ระบุว่าอียูจะยกเว้นภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวจากเวียดนาม หลังจาก 3-5 ปี ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงมีความได้เปรียบการค้าเมื่อเทียบกับกัมพูชาและเมียนมา ที่ต้องจ่ายภาษี 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2563 และ 123 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในปี 2564

ที่มา : http://dtinews.vn/en/news/018/69841/vietnam-hopes-to-export-100-000-tonnes-of-rice

นักลงทุนญี่ปุ่นย้ายฐานเข้าสู่เวียดนาม เหตุห่วงโซ่อุปทาน

การลงทุนของญี่ปุ่นในเวียดนามนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังคงดำเนินต่อไปอีก เนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่นมองว่าเวียดนามมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี โดยบริษัทญี่ปุ่น 15 รายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อกระจายห่วงโซ่อุปทานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ คุณ Watanabe Nobuhiro กล่าวว่าบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งเข้าร่วมกับทาง HCMC Japanese Friendship Club (JCCH) แสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของผู้ประกอบการญี่ปุ่นต่อการทำธุรกิจในนครโฮจิมินห์ อีกทั้ง สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ระบุว่าสาเหตุดังกล่าวมาจากการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ธุรกิจญี่ปุ่นในโฮจิมินห์สามารถจัดการกับปัญหาในการทำธุรกิจได้

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/japanese-investors-shifting-to-vietnam-to-diversify-supply-chain-24249.html