ค้าชายแดนท่าขี้เหล็ก เมียนมา-จีน-ไทย ทะลุ 10.154 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย เดือนธันวาคม 2565 มูลค่าการค้าชายแดนท่าขี้เหล็กของเมียนมากับจีนและไทยมีมูลค่ากว่า 10.154 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นมูลค่าการส่งออก 4.636 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้า 5.597 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกหลักคือสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากป่า และสินค้าประมง เช่น ใบชาแห้ง ส้ม ไม้สักแปรรูป กุ้ง ฯลฯ ส่วนการนำเข้าจะเป็นสินค้าประเภท  สินค้าทุน วัตถุดิบอุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ปูนซีเมนต์ ยานพาหนะและอุปกรณ์ยานพาหนะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ วัสดุก่อสร้างที่ทำจากแก้ว อุปกรณ์จำหน่ายไฟฟ้าและติดตั้ง วัสดุก่อสร้างที่ทำจากแร่ วัสดุก่อสร้างเหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม น้ำมันพืช เคมีภัณฑ์ สีเคลือบเงา วัตถุดิบพลาสติก กระดาษ วัตถุดิบที่ทำจากเหล็กกล้า สบู่ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์กีฬา ฯลฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/tachilek-border-trade-with-china-and-thailand-valued-at-us10-154-mln/

ลุ้นคลังขยับเป้าจีดีพีปี 2566 เพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 1-16 ม.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ 78 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปีที่แล้ว เฉลี่ยอยู่ที่ 95.4 เหรียญ ดังนั้นในปีนี้อัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลงและอยู่ในอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ในกรอบ 1-3% ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง จะทบทวนคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2566 ใหม่ และจะประกาศอย่างเป็นทางการวันที่ 27 ม.ค.นี้ โดยคาดว่า สศค.จะปรับเป้าจีดีพีไทยปี 66 ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์เดิมไว้ว่าปี 65 จะขยายตัวได้ 3.4% และปี 66 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 คาดว่าอยู่ที่ 6.2% และปี 66 อยู่ที่ 2.9% โดยปัจจัยบวกนอกจากเรื่องราคาน้ำมันดิบที่ลดลงแล้วคือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ ของจีน ที่เปิดให้คนจีนออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้ ซึ่งก่อนหน้านี้การคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้ อยู่ที่ 21.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก ปี 65 ที่มีนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นการคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนประมาณ 2.8 ล้านคน ส่วนปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อคือเงินบาทที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 66 จะขยายตัว 2.5% เท่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2609673

ชาวจีนร่วมฉลอง “ตรุษจีน” ในสปป.ลาว อย่างคีกคัก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 ผ่านมา ชาวสปป.ลาว และชาวจีนต่างร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนที่จัดขึ้น ณ สถานฑูตจีน อย่างคึกคัก  โดยในงานได้รับเกียรติจาก นาย Jiang Zaidong เอกอัครราชทูตจีนประจำสปป.ลาว เข้าร่วมงาน โดยบรรยากาศภายในงาน มีการเชิดสิงโต การจุดประทัด  อาหารมงคล และนิทรรศการจีนโบราณในธีมแม่น้ำและภูเขาที่งดงาม  ซึ่งมีชาวสปป.ลาวและชาวจีนเข้าร่วมงานกว่า 500 คน

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20230122/3347759a05514ca3b43f0a8ec034526b/c.html

เจพีมอร์แกนชูหุ้นไทย “น่าลงทุนที่สุด” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค เปิดเผยว่า การที่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ของ ไทย กลับมาฟื้นตัวได้ดีเกินคาดหลังจาก จีนเปิดประเทศ และมีแนวโน้มที่จะช่วยกระตุ้นการอุปโภคบริโภคของไทยให้ปรับตัวขึ้นนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ตลาดหุ้นไทย มีความ “น่าลงทุนมากที่สุด” เมื่อเทียบกับบรรดาตลาดหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ นายจักรพันธ์ พรพรรณรัตน์ หัวหน้าสายงานวิจัยหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยแพร่วันนี้ (19 ม.ค.) ว่า ภาวะการซื้อขายที่คึกคักในตลาดหุ้นไทยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องหลังจากราคาพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบชะลอตัวลงนั้น จะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยทำผลงานโดดเด่นเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาคยกเว้นเวียดนาม

ที่มา : https://www.thansettakij.com/finance/stockmarket/553556

“บ่าเหรี่ยะ หวุงเต่า” ตั้งเป้ารายได้ต่อหัว 8,200 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566

คุณ Dang Minh Thong รองประธานคณะกรรมการจังหวัดบ่าเหรี่ยะ หวุงเต่า (Ba Ria – Vung Tau) กล่าวว่าในปี 2566 เงินลงทุนเพื่อการพัฒนาในจังหวัดจะสูงถึง 59 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.54% โดยรายได้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 89 ล้านล้านดอง ดังนั้น ทางหน่วยงานจังหวัดจึงจัดทำแผนการปฏิบัติงาน (Action Plan) อาทิเช่น โครงสร้างพื้นฐานระหว่างภูมิภาค โครงการสำคัญต่างๆ รวมถึงโครงการของรัฐฯ ระยะกลางในปี 2564-2569 และยังพัฒนาจังหวัดบ่าเหรี่ยะ หวุงเต่าให้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของชาติ นอกจากนี้ จังหวัดดังกล่าวได้รับเงินลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้นประมาณ 2.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/ba-ria-vung-tau-aims-for-per-capita-grdp-of-8200-usd-in-2023/247275.vnp

ทุนสำรองเงินฯ ของเวียดนาม มูลค่าเติบโตสูงขึ้นในปี 2566

ตามรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ VNDirect Securities Corporation ระบุว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้และปรับเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเวียดนาม ซึ่งจะช่วยลดค่าเงินดองของเวียดนาม ทั้งนี้ บริษัท VNDirect ยังคาดว่าบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลการค้า 0.4% ของ GDP ในปีนี้ จากที่คาดการณ์ว่าจะขาดดุล 1.3% ของ GDP ในปีที่แล้ว ด้วยเหตุนี้ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเวียดนามจะฟื้นตัวสู่ระดับการนำเข้าได้มากกว่า 3 เดือน และแตะระดับ 102 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปีนี้ จากระดับปัจจุบันที่ 89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1451472/viet-nam-s-foreign-exchange-reserves-to-grow-this-year.html

“สปป.ลาว” เร่งจัดหาเงินในการชำระหนี้ เงินเดือนและโครงการพัฒนาของภาครัฐ

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ การพัฒนาโครงการลงทุนและการชำระหนี้ เป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของรัฐบาลที่ได้จัดสรรในปี 2566 โดยรัฐบาลปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายจากปีที่แล้ว อยู่ที่ 34.5 ล้านล้านกีบ ขึ้นมาอยู่ที่ 43.49 ล้านล้านกีบในปี 2566 ในขณะที่รายได้ของประเทศตั้งเป้าไว้ที่ 38.44 ล้านล้านกีบ เพิ่มขึ้น 21.7% เมื่อเทียบปีต่อปี และแผนการใช้จ่ายงบประมาณในปีนี้ คิดเป็นร้อยละ 18.58% ของ GDP ทั้งนี้ รัฐบาลได้ทำการปรับปรุงเกี่ยวกับการบริหารรายจ่ายและการพัฒนาระบบการชำระเงิน ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญ คือ การจัดการรายได้ในประเทศให้เพียงพอกับการใช้จ่ายได้ หรือทำให้เกินดุลงบประมาณ เพื่อให้รัฐฯ มีเงินสำรองในการชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าลง ทำให้รัฐบาลต้องคาดการณ์ว่าจะสามารถชำระหนี้ต่างประเทศได้หรือไม่

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_More14.php

ราคายางพาราเมียนมา พุ่งแตะ 1,300 จัตต่อปอนด์

ราคายางพาราในรัฐมอญ พุ่งแตะ 1,300 จัตต่อปอนด์ โดยที่ผ่านมาราคาเคยพุ่งไปถึง 1,600 จัตต่อปอนด์ ในเดือนกันยายน ปี 2565  เป็นผลมาจากความต้องการยางพาราและผลผลิตจากทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ล้วนส่งผลให้ราคายางในตลาดเมียนมามีความผันผวน ซึ่งจากข้อมูลปี 2561-2562 เมียนมามีพื้นที่เพาะปลูกยางพารา 1.628 ล้านเอเคอร์ ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง ภาคตะนาวศรี ภาคพะโค และภาคย่างกุ้ง มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 300,000 ตันต่อปี โดยร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมดส่งออกไปยังจีน ส่วนที่เหลือส่งออกไปยังสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น ฯลฯ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563-2564 ที่ผ่านมา เมียนมามีรายได้จากการส่งออกยางมากกว่า 449 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rubber-price-hits-k1300-per-pound-in-domestic-market/