ญี่ปุ่น บริจาคสิ่งของหนุน สปป.ลาว เพื่อเป็นประธานอาเซียนในปี 67

รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดหายานพาหนะ อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มูลค่ากว่า 63 พันล้านกีบ (500 ล้านเยน) ให้แก่สปป.ลาว เพื่อสนับสนุนในการเป็นประธานอาเซียนที่จะจัดการประชุมขึ้นในปี 2567 ซึ่งประกอบไปด้วย รถยนต์โตโยต้า คัมรี ไฮบริด 33 คัน ซึ่งจะใช้ในการขนส่งรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาเมื่อเข้าร่วมประชุมอาเซียนที่ประเทศลาวในปี 2567 และอุปกรณ์ไอทีเพื่อปรับปรุงระบบสื่อสารและสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยมีนายทองพัน สะหวันเพ็ด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสปป.ลาว และนายเคนอิจิ โคบายาชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสปป.ลาว เข้าร่วมพิธีลงนามที่กระทรวงการต่างประเทศในเวียงจันทน์เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten232_Japan_y22.php

ส่งออกเดือนต.ค.ร่วง 4.4 % เจอปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.4% คิดเป็นเงินบาท มีมูลค่า 801,273 ล้านบาท รวม 10 เดือนของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) มีมูลค่า 243,138.5 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 9.1% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 8,325,091 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่า การส่งออกทั้งปี 2565 ยังเป็นบวก จากการประมาณการร่วมกับภาคเอกชนล่าสุดยังมั่นใจว่าเกินเป้าที่กำหนดไว้ 4% จะเพิ่มเกือบหนึ่งเท่าตัว ส่วนมูลค่าตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 9 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มจะเกินกว่า 9 ล้านล้านบาท และจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปี 2565 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกติดลบ มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าเป็นห่วง โดยเศรษฐกิจโลกปี 2564 เพิ่ม 6% ปี 2565 เพิ่ม 3.2% และปี 2566 เพิ่ม 2.7% ตลาดจีนยังมีมาตรการซีโร่โควิด-19 ดัชนีการผลิต หรือ PMI ของคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป ลดลง แต่ก็มีปัจจัยบวกจากเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ทั้งนี้การส่งออกในเดือนตุลาคม 2565 ที่กลับมาติดลบ 4.4% ถือเป็นการกลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน นับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่วนการนำเข้าตุลาคม 2565 มีมูลค่า 22,368.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.1% ขาดดุลการค้า 596.4 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 10 เดือน นำเข้ามลค่า 258,719.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.3% ขาดดุลการค้า 15,581.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา: https://www.naewna.com/business/694962

กัมพูชาส่งออกเครื่องนุ่งห่มโตร้อยละ 18.51 ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.

กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา รายงานถึงการส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 7.747 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคมปีนี้ ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 41.30 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มีมูลค่ารวม 18.747 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยการส่งออกเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายของกัมพูชา (ถัก) สร้างรายได้กว่า 5.513 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 4.752 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 16 ในขณะที่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกาย (ไม่ถักแบบนิตติ้ง) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1 หรือคิดเป็นมูลค่า 2.234 พันล้านดอลลาร์ สำหรับการนำเข้า กัมพูชานำเข้าผ้าถักหรือโครเชต์ในช่วงเวลาดังกล่าวมูลค่ารวมกว่า 2.545 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ในขณะที่การนำเข้าเส้นใยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ที่มูลค่า 1.008 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การนำเข้าฝ้ายปรับตัวลดลงร้อยละ 1.4 ที่มูลค่า 424.244 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501191842/cambodias-garment-exports-increases-by-18-51-to-7-747-billion-in-jan-oct-2022/

อัตราเงินเฟ้อกัมพูชาลดลงเหลือร้อยละ 4.9 รายงานโดยกระทรวงเศรษฐกิจ

ไตรมาส 3 ปี 2022 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยภายในประเทศกัมพูชาปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.4 ข้อมูลดังกล่าวรายงานโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยรายงานดัชนีราคาระบุว่าน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5, น้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 13.6 และก๊าซหุงต้มร้อยละ 16.7 ในไตรมาสที่สามของปี 2565 ขณะที่ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบอยู่ที่ 96.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 และราคาข้าวอยู่ที่ 429.3 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งกระทรวงเศรษฐกิจระบุว่า อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงในไตรมาสที่ 3 ลดลง ขณะที่เศรษฐกิจกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มเห็นถึงการฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รวมกับปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน สอดรับกับโครงการก่อสร้าง โครงการลงทุน และการเติบโตของการผลิตภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501191479/inflation-rate-drops-to-4-9-pct-says-ministry-of-economy/

‘เวียดนาม-ลาว’ ตั้งเป้าการค้าทวีภาคีทะลุ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เวียดนามและสปป.ลาว คาดว่าจะบรรลุการค้าทวิภาคี 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเร็วๆนี้ เหตุจากในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ อยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว การประชุมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าของลาว กล่าวว่างานประชุมครั้งนี้เปิดโอกาสให้รับฟังข้อกังวลของภาคธุรกิจ และส่งเสริมความร่วมมือในทุกมิติทั้งด้านนโยบาย วิธีการดำเนินงานและกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอกชนให้สามารถยกระดับการผลิตและการส่งออกได้ ทั้งนี้ คุณ Do Quoc Hung รองสำนักงานตลาดเอเชีย-แอฟริกาของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม กล่าวว่าสปป.ลาว อยู่ในอันดับที่ 78 ของประเทศที่เวียดนามเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน เวียดนามก็เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในสปป.ลาว โดยงานดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การบรรลุเป้าหมายทางการค้าระหว่างสองประเทศ และความร่วมมือทางการตลาดและด้านพลังงาน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-laos-eye-us2-billion-in-two-way-trade-post986596.vov

‘เวียดนาม’ พัฒนาอาคารสีเขียว มุ่งสู่ลดคาร์บอนเป็นศูนย์

เวียดนามตั้งเป้าที่จะเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยเป้าหมายดังกล่าว นาย ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้กล่าวในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ซึ่งจะเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์สีเขียวของชาติ ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระทรวงการก่อสร้างได้อนุมัติแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี 2022-2030 ในขณะที่ตามรายงานของกระทรวงฯ ระบุว่าในปัจจุบัน เวียดนามมีอาคารสีเขียวทั้งสิ้น 230 แห่ง ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนอาคารที่สร้างไว้แล้ว อาคารสีเขียวยังมีส่วนสำคัญที่จะตอบสนองความต้องการพลังงานสูงขึ้นในอนาคตและปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-developing-green-buildings-towards-net-zero-emissions/244464.vnp

1 เม.ย.ถึง 18 พ.ย.65 การค้าระหว่างประเทศเมียนมา พุ่งแตะ 21.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมาเผย ระหว่างวันที่ 1 เมษายนถึง 18 พฤศจิกายน 2565 ของปีงบประมาณ 2565-2566 การค้าระหว่างประเทศของเมียนมา พุ่งขึ้นถึง 21,468 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นการส่งออก 10.427 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น 89.595 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การค้าทางทะเลเพิ่มขึ้นถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งสำคัญ ได้แก่ ผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่า และสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ส่วนการนำเข้าจะเป็นสินค้าทุน วัตถุดิบอุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ในช่วงปีงบประมาณ 2563-2564 การค้าระหว่างประเทศของเมียนมาอยู่ที่ 29.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปี งบประมาณย่อย 2564-2565 (เดือนต.ค.2564-เดือนมี.ค.2565) อยู่ที่ 15.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-surges-to-over-21-46-bln-as-of-18-nov/#article-title

กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ทุ่ม 4 พันล้านพัฒนาสนามบิน ท่องเที่ยวฟื้น! รับผู้โดยสารทะลัก

นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาคทั้ง 29 แห่ง ปี 66 ว่า หลังสายการบินเริ่มเพิ่มเที่ยวบิน ทำให้ ทย.มีเป้าหมายดำเนินการดังนี้ 1.เร่งขยายขีดความสามารถสนามบินภูมิภาคให้มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีแผนลงทุนรวมกว่า 4,568 ล้านบาท รองรับปริมาณผู้โดยสาร รวม 41 ล้านคนในปี 66 และ 2.เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร และสายการบินที่มาใช้บริการ ด้วยการเปิดให้บริการเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมสายการบิน ส่วนการขยายขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาค มีดังนี้ สนามบินกระบี่เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1-3 รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 คนต่อ ชม. หรือ 8 ล้านคนต่อปี สนามบินขอนแก่นเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 2,000 คนต่อ ชม. หรือ 5 ล้านคนต่อปี สนามบินนครศรีธรรมราชเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารเป็น 1,600 คนต่อ ชม. หรือ 4 ล้านคนต่อปี ส่วนการเปิดให้บริการเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมสายการบินนั้น ขณะนี้ ทย.ได้พัฒนาระบบให้เป็นเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมแล้ว 6 สนามบิน.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2564078