ทางการกัมพูชาอัพเดทโครงการก่อสร้างสนามบินเสียมราฐ-อังกอร์

Sin ChanSerey Vutha โฆษกสำนักเลขาธิการการบินพลเรือน (SSCA) กล่าวว่าปัจจุบันโครงการก่อสร้างสนามบิน เสียมราฐ-อังกอร์ ดำเนินการแล้วเสร็จเกือบร้อยละ 22 ของเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ โดยบนโครงการรวมถึงถนน ลานจอดเครื่องบิน รันเวย์ และระบบลงจอดของเครื่องบิน ซึ่งสนามบินแห่งใหม่ถูกจัดอยู่ในประเภทสนามบินนานาชาติระดับ 4E สร้างขึ้นบนพื้นที่กว่า 700 เฮกตาร์ โดยการประมาณการของท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ (AIAI) คาดว่าการก่อสร้างสนามบินมีกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน มีนาคม 2023 และจะมีการทดสอบในเดือน ตุลาคม 2023 ซึ่งโครงการก่อสร้างสนามบินแห่งนี้กำหนดงบประมาณในการก่อสร้างไว้ที่ 800 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501050097/siem-reap-angkor-airport-22-percent-construction-completed/

‘เวียดนาม’ เผย 3 เดือนแรกปี 65 ผลผลิตอาหารทะเล แตะ 566,700 ตัน

คณะกรรมการประมง กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ผลผลิตอาหารทะเลทั้งหมดของเวียดนามอยู่ที่ 566,700 ตัน เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ผู้อำนวยการกล่าวว่าปัจจุบัน เวียดนามมีสหภาพแรงงานประมงจำนวน 86 แห่งใน 16 จังหวัด และจำนวนสมาชิกราว 17,700 คน เรือประมง 6,200 ลำ ในขณะเดียวกัน ห้องเก็บความเย็นมีจำนวน 640 แห่ง สามารถบรรจุได้ 78,700 ตัน ทั้งนี้ เวียดนามได้ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเรือประมง การจัดการและติดตามแหล่งที่มาของสินค้า รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล นอกจากนี้ เวียดนามได้รับการร้องขอให้จัดการกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) อย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/seafood-output-hits-566700-tonnes-in-three-months/224285.vnp

‘ไบเดน’ ต้อนรับ ‘VinFast’ ผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม จ่อตั้งโรงงานในนอร์ทแคโรไลนา

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ยินดีกับการเข้ามาลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์เวียดนามอย่าง ‘วินฟาสต์’ (VinFast) ในการสร้างโรงงานแห่งแรกที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์บริษัทที่จะขยายธุรกิจในสหรัฐฯ ไบเดนได้ทวีตข้อความว่า วันนี้ บริษัทวินฟาสต์ประกาศสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ด้วยเม็ดเงินกว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ สร้างงานมากกว่า 7,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ที่ออกโดยทำเนียบข่าว เปิดเผยว่าไบเดน เน้นส่งเสริมการผลิตในประเทศและสร้างงาน ตลอดจนสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ รถยนต์ไฟฟฟ้า (EV) เป็นต้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/president-biden-welcomes-vinfast-facility-project-in-north-carolina-post933876.vov

เมียนมาคาด การปรับนโยบายใหม่ จะไม่กระทบการส่งออกข้าวโพด

นายอู มิน แค ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดของเมียนมา กล่าวว่า นโยบายใหม่เกี่ยวกับการส่งออกข้าวโพดของเมียนมา จะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อการส่งออกข้าวโพดของประเทศ โดยรายการสินค้าส่งออก ได้แก่ ข้าวโพด แป้ง ป๊อปคอร์น เมล็ดพืช แป้งข้าวโพด เมล็ดธัญพืช ข้าวฟ่าง อาหารเม็ด บัควีต (Buckwheat) และเมล็ดข้าวสำหรับเลี้ยงนก จะต้องขอใบอนุญาตส่งออกโดยการยื่น Form-D (หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 โดยการปรับเปลี่ยนนโยบายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรับรองความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงภายในประเทศ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ราคา FOB อยู่ที่ 320-340 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าวโพดในตลาดย่างกุ้ง ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกไปตลาดต่างประเทศ จำนวน 2.3 ล้านตัน ตลาดหลักคือไทย ส่วนที่เหลือจะส่งออกไปยังจีน อินเดีย และเวียดนาม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/30-march-2022/#article-title

การค้าทางทะเลของเมียนมา พุ่งขึ้น ! 2.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการค้าทางทะเลตั้งแต่วันที่  1 ต.ค.2564 ถึงวันที่ 18 มี.ค.2565 ของงบประมาณย่อย ปี 2564-2565 อยู่ที่ 11.59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.275 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นการส่งอออก 5.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้า 6.416 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในปีงบประมาณ 2563-2564 ที่ผ่านมา การค้าทางทะเลสร้างรายได้ 19,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากมูลค่าการค้าโดยรวมทั้งหมดของประเทศที่ 29,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ประมง แร่ธาตุ ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากป่า สินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ส่วนการนำเข้า ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบอุตสาหกรรม ปัจจุบันเมียนมามีท่าเรือ 9 แห่ง โดยท่าเรือย่างกุ้งเป็นประตูสู่การค้าทางทะเลของประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/30-march-2022/#article-title

ค่าแรงขั้นต่ำไม่เหมาะสมทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในสปป.ลาว

สหพันธ์แรงงานลาว (LFTU) เรียกร้องให้ภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า จ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้คนงานเพิ่มขึ้นจาก 1,100,000 กีบเป็น 1,500,000 กีบต่อเดือนในปีนี้ สหพันธ์ฯ กังวลว่าลาวจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ หากบริษัทไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น โดยที่คนจำนวนมากจะแห่ไปทำงานที่ไทย ค่าครองชีพในประเทศลาวสูงขึ้นและค่าแรงขั้นต่ำไม่ตรงกับความต้องการพื้นฐานของคนงาน ในขณะเดียวกัน นายจ้างในประเทศไทยมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้นและเสนอค่าจ้างที่เหมาะสม บริษัทในลาวประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและขาดข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น กระบวนการจัดหางานอย่างไม่เป็นทางการและการขาดการคุ้มครองการจ้างงาน ในขณะเดียวกัน ยังขาดตัวบ่งชี้ตลาดงานเกี่ยวกับโอกาสในการจ้างงานและการว่างงาน ส่วนใหญ่มีทักษะและสามารถหาเงินได้ในประเทศไทย ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำจะสูงกว่าในลาว สถิติจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมระบุว่ามีแรงงานกว่า 246,000 คน เดินทางกลับจากไทยไปยังลาวตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่ เมื่อมีการเลิกจ้างคนจำนวนมาก แต่มีแรงงานมีฝีมือ 150,000 คน เดินทางกลับประเทศไทยในเดือนมกราคมปีนี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Low63.php

กัมพูชากำหนดนโยบายพัฒนาภาคเกษตรมุ่งสู่ความทันสมัย

ทางการกัมพูชาได้สรุปการอภิปรายร่างนโยบายการพัฒนาการเกษตรสำหรับปี 2020-2030 ไปเมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) ส่งผลทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความคาดหวังเป็นอย่างสูง สำหรับนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาภาคการเกษตร ที่คาดว่าจะเป็นส่วนช่วยให้ภาคการเกษตรในประเทศสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างยั่งยืน และครอบคลุม ในด้านของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กล่าวเสริมว่าร่างนโยบายการพัฒนาการเกษตรเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาวในการปรับปรุงภาคการเกษตรในกัมพูชาให้เกิดความทันสมัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเติบโตของภาคการเกษตร ที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น ให้ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยคำนึงถึงที่ดิน การเกษตร น้ำ ทรัพยากรป่าไม้ การประมง และความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2021 กระทรวงเกษตรระบุว่า กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตร 7.98 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 63.8 หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 4.96 พันล้านดอลลาร์ จากการส่งออกในปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501049464/agricultural-development-policy-targets-modernisation/

คาดการก่อสร้างท่าเรือในจังหวัดกำปอตของกัมพูชาจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.

โครงการก่อสร้างท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวในกำปอต เมืองชายฝั่งสำคัญแห่งหนึ่งของกัมพูชา ขณะนี้แล้วเสร็จอยู่ที่ร้อยละ 93.41 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2022 รายงานโดยกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT) หลังจากได้ร่วมหารือกับทางรัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MPWT ซึ่งท่าเรือท่องเที่ยวกำปอตสร้างขึ้นภายใต้การจัดหาเงินทุนของ ADB มูลค่าโครงการเกือบ 10 ล้านดอลลาร์ ที่ได้เริ่มขึ้นในปี 2018 ซึ่งคาดว่าเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ท่าเรือท่องเที่ยวกำปอตจะกลายเป็นประตูสำคัญสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยและเวียดนาม และมีส่วนช่วยในการพัฒนาการท่องเที่ยวระดับจังหวัด สร้างโอกาสให้กับผู้คนในท้องที่ เพิ่มรายได้ และปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501049971/construction-of-kampot-tourism-port-to-complete-in-june/

ข่าวดี สปป.ลาว ไฟเขียว หลัง “จุรินทร์” เจรจา เพิ่มรถหัวลาก-เปิดด่าน 24 ชม.ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมหารือกับ ดร.คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ไทยไปยังจีน โดยในปี 2564 สปป.ลาว เป็นคู่ค้าอันดับ 7 ของไทยในอาเซียน ตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว มีมูลค่า 229,572 ล้านบาท +15% และได้ตั้งเป้ามูลค่าการค้าร่วมกัน ในปี 2568 มูลค่า 363,000 ล้านบาท ซึ่ง 93.5% ของตัวเลขการค้าระหว่างกันทั้งหมดเป็นการค้าชายแดน คิดเป็นมูลค่า 214,814 ล้านบาท +13.17 % ซึ่งมูลค้าการค้าที่เพิ่มขึ้นเกิดจากด่านชายแดนไทยกับ สปป.ลาว ได้เปิดการค้าระหว่างกัน ปัจจุบันเปิดแล้ว 12 ด่าน และกำลังดำเนินการในการเปิดด่านเพิ่ม

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_6972859