ค้าชายแดนเมียนมา ลดฮวบ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค 64 ถึง 7 ม.ค. 65 ของปีงบประมาณรายย่อยปัจจุบัน (2564-2565)  มูลค่าการค้าชายแดนรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่ 2.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแบ่งเป็นการส่งออก 1.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้า 493 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่ทำการค้าขายกับเมียนมา เช่น จีน ไทย บังคลาเทศ และอินเดีย มีด่านชายแดนที่ทำการค้าขายทั้งหมด 19 แห่ง โดยชายแดนเมียวมีมูลค่าการค้าสูงสุดประมาณ 656 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือ ด่านตีกี 444 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และด่านมูเซ 324 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เกษตร สัตว์ ทางทะเล ป่าไม้ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ส่วนการนำเข้าจะเป็นสินค้าทุน วัตถุดิบ สินค้าส่วนบุคคล และผลิตภัณฑ์ CMP

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/total-border-trade-down-nearly-1-3-bln/

บริษัทไทยทุ่ม 1 พันล้านดอลล์สรัฐฯ สร้างเมืองอัจฉริยะในสปป.ลาว

รัฐบาลลาวได้ให้สัมปทานแก่บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศไทย วางแผนที่จะลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการก่อสร้างอมตะสมาร์ทแอนด์อีโคซิตี้ในภาคเหนือของสปป.ลาว จะเริ่มในต้นปีนี้ โดยมีโอกาสขยายตัวได้ถึง 20,000 เฮกตาร์ในระยะต่อไป เมืองอมตะสมาร์ทแอนด์อีโค มีเป้าหมายเพื่อให้บริการนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เครื่องจักร การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนเคมีภัณฑ์และยา รวมถึงโลจิสติกส์และคลังสินค้า

อีกทั้งเมืองอัจฉริยะนี้ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟนาทวย ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนจีนประมาณ 20 กม. มีสถานีรถไฟสองแห่งซึ่งทำหน้าที่เป็นประตูระหว่างอาเซียนและจีนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางการค้า การสร้างเมืองอัจฉริยะไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในสปป.ลาว แต่ยังจะส่งเสริมให้นักลงทุนในภูมิภาคนี้ย้ายโรงงานของพวกเขามาที่นี่อมตะมีแผนจะเชิญบริษัทข้ามชาติและรัฐบาลจากจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย มาส่งเสริมโครงการอมตะสมาร์ทแอนด์อีโคซิตี้เพื่อพัฒนาโครงการนี้อย่างเต็มศักยภาพ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Thai_12_22.php

‘ธนาคารดิจิทัลเวียดนาม’ ระดมทุน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากข้อมูลรายงานของ TechInAsia เปิดเผยว่าธนาคารดิจิทัลเวียดนาม “Timo” ประกาศระดมทุน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนระดับโลกอย่าง Square Peg ตลอดจนซิสโก้และจังเกิล เวนเจอร์ส (Jungle Ventures) , Granite Oak, Phoenix Holdings และนักลงทุนอิสระรายอื่นๆ ยังได้เข้าร่วมในการระดมทุนครั้งนี้

ทั้งนี้ การระดมทุนดังกล่าว ธนาคาร Timo จะนำเงินไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีและมุ่นเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์เฉพาะด้านสำหรับตลาดเวียดนาม นอกจากนี้ ตามรายงานของ McKinsey & Company ชี้ว่าผู้ใช้บริการจากบริษัทฟืนเทคในเวียดนาม เพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 2560 เป็น 56% ในปี 2564 ซึ่งความนิยมของการใช้ E-wallets และ Fintech ในเวียดนามนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/sci-tech-environment/vietnamese-digital-banking-startup-gets-20-million-usd-809687.html

‘รัฐบาลเวียดนาม’ เล็งชงปรับลด VAT จาก 10% เหลือ 8% ในปี 65

หลังจากดำเนินมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ มูลค่ากว่า 350 ล้านล้านดอง (15 พันล้านเหรียญสหรัฐ) รัฐบาลกำลังพิจารณาปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการ (VAT) เหลือ 8% ในปี 2565 (ลดลง 2% จากอัตราปัจจุบัน) เริ่มต้นตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. นายโฮ ดึก ฟอก รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเวียดนาม กล่าวว่าการที่รัฐบาลดำเนินการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าภาษีเงินได้ เนื่องจากการลดภาษี VAT จะช่วยธุรกิจทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะผู้ที่รายงานผลกำไรเท่านั้น โดยบริษัทส่วนใหญ่ได้รับการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้นสาขาโทรคมนาคม การธนาคารและการเงิน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่และปิโตรเคมี และอื่นๆ

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์และผู้ประกอบการ แสดงความกังวลว่าการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 2% อาจไม่สามารถกระตุ้นการบริโภคและกิจกรรมทางธุรกิจได้ในปีนี้ ตลอดจนผลการบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.พ. นับว่าเป็นการเสียโอกาสที่จะกระตุ้นการบริโภคก่อนที่จะถึงเทศกาลตรุษเวียดนาม (Lunar New Year)

ที่มา : https://www.nationthailand.com/international/40011214

ความต้องการสินค้าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ดันการส่งออกกัมพูชาเติบโต

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และผลิตภัณฑ์การเดินทาง ของกัมพูชา เติบโตเฉลี่ยต่อปีถึงร้อยละ 10 ซึ่งกลายเป็นภาคส่วนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจกัมพูชา หลังจากที่ก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2020 โดยคาดว่าจะมีมูลค่ารวมกันเกือบ 10 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2021 หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 63 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ และมีการจ้างพนักงานเกือบ 1 ล้านคน ในอุตสาหกรรม ซึ่งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าสูงสุดรวม 6.538 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วง 10 เดือนแรกของปีก่อน โดยการส่งออกรองเท้าอยู่ที่ 1.113 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านการเดินทางมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.179 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมากจากการฟื้นตัวของภาคการค้าโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501008715/demand-for-cambodian-garments-footwear-to-further-push-exports/

การลงทุนของจีน ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรกัมพูชา

ในช่วงปัจจุบันมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากบริษัทสัญชาติจีนในกัมพูชา สอดคล้องกับการเติบโตของภาคการเกษตรภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของกัมพูชา จะได้รับการส่งเสริมในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน กล่าวโดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง กัมพูชา หลังจากได้ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจากบริษัทต่างๆ ในการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัมพูชาและจีน ระหว่างการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของกัมพูชา ผ่านการลงทุนระหว่างประเทศ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน คุณภาพสินค้า และความปลอดภัย ให้เป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกทั่วโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501009066/chinese-investment-to-drive-presence-of-cambodian-agricultural-products-in-international-markets/

ภาคธนาคารกัมพูชารายงานถึงการเติบโตในช่วงปีก่อน

ภาคอุตสาหกรรมการธนาคารของกัมพูชา รายงานถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในส่วนของสินเชื่อและเงินฝากในปี 2021 แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม โดยภาคธนาคารได้ทำการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 45.7 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินฝากของลูกค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.4 คิดเป็นมูลค่า 38.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการเติบโตได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในภาคการค้า ที่อยู่อาศัย การก่อสร้าง และภาคการผลิต โดยธนาคารกลางกล่าวเสริมว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังคงอยู่ในอัตราที่สามารถควบคุมได้ที่ร้อยละ 2.4 ทางด้านผู้ว่าการธนาคาร (NBC) ซึ่งได้กล่าวในการประชุมประจำปีของ NBC ว่าเศรษฐกิจของประเทศกลับมาปรับตัวดีขึ้นที่ประมาณร้อยละ 3 ในปี 2021 หลังจากหดตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2020 โดยอัตราเงินเฟ้อของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 2.9

ที่มา:https://www.khmertimeskh.com/501008197/cambodias-banking-industry-sees-three-percent-gdp-growth-last-year-despite-pandemic-38-5-billion-in-deposits/