‘ธนาคารโลก’ จ่อมอบเงินทุน 221.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หนุนฟื้นฟูเวียดนาม เหตุโควิด-19

รัฐบาลเวียดนามและธนาคารโลก (WB) ตกลงร่วมบันทึกลงนามการจัดหาเงินทุนเป็นมูลค่า 221.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเวียดนามจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านการปฏิรูปนโยบายและเพิ่มความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยงบประมาณดังกล่าว เป็นการให้ความช่วยเหลือรูปแบบเงื่อนไขผ่อนปรน มีระยะเวลา 30 ปี และทำการปฏิรูปนโยบายเสาหลัก 2 ด้าน ได้แก่ 1) ช่วยการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจของเวียดนาม การลดภาะภาษีของธุรกิจและปรับปรุงมาตรการทางการเงินช่วยเหลือแก่กลุ่มเปราะบาง เป็นต้น 2) สนับสนุนนโยบายการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เร่งให้เป็นรัฐบาลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
ที่มา : http://hanoitimes.vn/world-bank-provides-us2215-million-to-support-vietnam-recovery-from-covid-19-319638.html

เปิดประเทศ-ผ่อนคลายมาตรการ ผลักดันอสังหาฯปี 65 ขยายตัว15-20%

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์  (LPN) กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 ว่า มีแนวโน้มเติบโต 15-20% ตามการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโต 3.5-4% ผลจากมาตรการเปิดประเทศ รวมถึงการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) โดยกำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน เป็น100% สำหรับที่อยู่อาศัยทุกประเภท ซึ่งมีผลจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565 โดยปัจจัยเสี่ยงในปี 2565 คือ ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และแนวโน้มการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธ์ “โอมิครอน”
ที่มา: https://www.naewna.com/business/625012

ทางการกัมพูชาเร่งกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รองรับ RCEP

กระทรวงพาณิชย์เร่งพัฒนาภาคการส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาเพื่อรองรับข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ ในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2022 ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสมาชิกมาจากกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และพันธมิตรการค้าเสรีอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) กล่าวถึงการส่งออกของกัมพูชาจะเติบโตถึงร้อยละ 7.3 และการลงทุนขยายตัวร้อยละ 23.4 จากการเข้าร่วม RCEP โดยกระทรวงพาณิชย์ระบุเพิ่มเติมว่ากัมพูชาจะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับสินค้าสำคัญ อาทิเช่น สินค้าเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรมเมื่อข้อตกลงมีผลใช้บังคับ
ที่มา:https://www.khmertimeskh.com/50994966/implementation-of-rcep-to-boost-cambodias-economic-growth/

กัมพูชารายงานถึงการจดทะเบียน โครงการก่อสร้างในช่วง 9 เดือนแรก

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีการยื่นขอจดทะเบียนในโครงการก่อสร้างทั่วประเทศจำนวนกว่า 3,263 โครงการ ลดลง 476 โครงการ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าโครงการรวม 4.6 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ20.6 จากจำนวนโครงการก่อสร้างที่จดทะเบียนทั้งหมดที่ 2,909 ตัวเลขรายงานจากกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยร้อยละ 86 เป็นโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50994897/over-3000-construction-projects-registered-in-first-nine-months/

รัฐ เอกชน รวมพลังแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี นายกเทศมนตรีนครเวียงจันทน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนหน่วยงานของรัฐเข้าร่วมการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่ลาวกำลังเผชิญอยู่ ดังนั้นการเปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับภาคเอกชน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานของรัฐ เป็นสิ่งสำคัญในการตอบสนองอย่างมีประสิทธิผลต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการให้บริการที่ดีขึ้นแก่พลเมืองลาวและภาคธุรกิจรวมถึงเศรษฐกิจโดยรวม ในส่วนภาครัฐนายกรัฐมนตรีได้มีการกระตุ้นให้มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้มากขึ้น และให้มีความรับผิดชอบมากขึ้นสำหรับการให้บริการสาธารณะที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่คณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ได้รับคำสั่งให้ปรับปรุงระบบการจัดเก็บรายได้ให้ทันสมัยพร้อมทั้งอุดช่องโหว่ทางการเงิน
ที่มา:https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_State_253_21.php

ภาคปศุสัตว์เมียนมา อ่วม! ต้นทุนการผลิตพุ่ง

สหพันธ์ปศุสัตว์เมียนมา (MLF) ระบุ ภาคปศุสัตว์ของเมียนมาประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง รวมถึงต้นทุนอาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิงและค่าขนส่งที่พุ่งขึ้น อีกทั้งปัญหาการนำเข้าเนื้อสัตว์แช่แข็งอย่างผิดกฎหมาย ค่าเงินจัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัว รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID 19 ทำให้ผลผลิตไก่ไข่และไก่เนื้อในปีนี้ลดลง การผลิตสินค้าปศุสัตว์และสัตว์ปีกในเมียนมาโตขึ้น 10-15% ต่อปี ส่วนใหญ่ใช้วิธีการแบบดั้งเดิมและบางส่วนได้เปลี่ยนไปใช้วิธีการสมัยใหม่ ซึ่งบางครั้งการเลี้ยงสัตว์ปีกและการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานยังพบเห็นได้ทั่วไปในเมียนมา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในท้องถิ่นยังเผชิญกับแรงกดดันจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน เช่น  จีน ไทย และอินเดีย นั่นคือเหตุผลที่ต้องปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ท้องถิ่นใหม่ เพื่อตอบรับการลงทุนในการเลี้ยงสัตว์ปีกของนักลงทุนต่างชาติ
ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/livestock-sector-struggling-with-high-input-cost/

“เวิลด์แบงก์” คงประมาณการจีดีพีของเวียดนามปี 65 ขยายตัวเป็นบวก

Jacques Morisset หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้ากลุ่มโครงการของธนาคารโลกประจำเวียดนาม ประมาณการณ์ตัวเลข GDP ของเวียดนามในปี 2565 เติบโต 6%-6.5% กรณีที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และรักษาระดับของความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ในขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนามในปีหน้านั้น ยังคงเป็นปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มีการกลายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นที่มีผลต่อเศรษฐกิจ สังเกตได้จากประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และอีกปัจจัยหนึ่งคือเรื่องของเงินเฟ้อ โดยได้ตั้งเข้าสังเกตไว้ว่าเศรษฐกิจชุมชนกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากการเสื่อมของอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอุปทาน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนในการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1) เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มุ่งเน้นไปที่การกระจายห่วงโซ่อุปทาน 2) เวียดนามสามารถใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์จากเศรษฐกิจสีเขียว และ 3) อุปสงค์ในประเทศ จำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มสูงขึ้น
ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/wb-remains-positive-on-vietnamese-gdp-growth-target-for-next-year-post914137.vov

‘ซัมซุง’ จ่อลงเม็ดเงินเพิ่มอีก 850 ล้านเหรียญสหรัฐ เหตุตั้งบริษัทลูกในเวียดนาม

การประชุมคณะกรรมการของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์อย่าง “ซัมซุง (Samsung)” ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ประกาศอนุมัติเงินลงทุน 850 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการตั้งบริษัทลูกในเวียดนามเพื่อทำการผลิตแผงวรจง flip-chip ball grid arrays (FC-BGA) โดยบริษัทจะใช้เงินลงทุนจนถึงปี 2566 เพื่อสร้างสายการผลิต FC-BGA ใหม่ ทั้งนี้ แผนของบริษัทลูกในเวียดนามแห่งนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การผลิต FC-BGA ในขณะที่โรงงานซัมซุงในเมืองซูวอน จังหวัดคยองกี และเมืองปูซานจะเชี่ยวชาญในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์
ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/10973202-samsung-to-invest-additional-850-mln-usd-in-vietnamese-subsidiary.html