สปป.ลาว จับตาการเชื่อมโยงพลังงานกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

สปป.ลาว หวังที่จะกระชับความร่วมมือให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อเอาชนะความท้าทายในการพัฒนาพลังงานกับประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยมีความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งจะหารือในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านพลังงานของอาเซียนในเดือนมิถุนายน 2567 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังจะหารือถึงแนวทางในการเปลี่ยนผ่านไปสู่แหล่งพลังงานทดแทนใหม่ๆ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ หน่วยงานด้านพลังงานของภูมิภาคจะหารือถึงความสำคัญของการบูรณาการโครงข่ายไฟฟ้าของอาเซียน เพื่อรับประกันเสถียรภาพด้านพลังงานระหว่างประเทศสมาชิก และความจำเป็นที่จะต้องก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ หน่วยงานด้านพลังงานของลาวแจ้งให้สมาชิกอาเซียนคนอื่นๆ เกี่ยวกับแผนพลังงานที่มีลำดับความสำคัญของตนในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสพิเศษด้านพลังงานของอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดหลวงพระบางเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_36_Laos_eyes_y24.php

รัฐบาล สปป.ลาว อนุมัติโครงการศึกษาสร้างท่าเทียบเรือหลวงน้ำทา

การศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าเรือ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ พื้นที่การค้าและบริการ และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรในเขตเมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา โดยจะเริ่มดำเนินการหลังจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กระทรวงการวางแผนและการลงทุน และบริษัท นิว คอนเซ็ปต์ คอนซัลติ้ง จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ หากโครงการได้รับการอนุมัติจะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง เพื่อพัฒนาแม่น้ำโขงให้เป็นทางน้ำที่ได้มาตรฐานสากลสำหรับการขนส่งเชิงพาณิชย์ในแม่น้ำโขงและล้านช้าง โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล สปป.ลาว และจะสร้างให้ได้มาตรฐานสากล สถานที่ก่อสร้างที่เสนออยู่ในเชียงกกและหมู่บ้านอื่นๆ อีก 11 หมู่บ้านในเขตเมืองลองและจะครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 44,260,311 ตารางเมตร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_36_Govt_y24.php

รมว.อุตสาหกรรมของไทยหารือร่วม JETRO และ JCC ถกแนวโน้มทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือกับนายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น และนายยามาชิตะ โนริอากิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ และคณะกรรมาธิการวิจัยทางเศรษฐกิจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ในประเด็นเข้ารายงานสรุปผลการสำรวจแนวโน้มความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย พบว่า แนวโน้มดัชนีเศรษฐกิจ (ID) คาดการณ์อยู่ที่ -16.0 อันเนื่องมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก และอุปสงค์การส่งออกที่ลดลง แต่มีการปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 10 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 เนื่องจากมีการขยายตัวเรื่องการท่องเที่ยว และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมได้ไปเยือนญี่ปุ่น มีโอกาสเข้าร่วมหารือกับกระทรวง METI เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม ใน 4 มิติ ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การกำจัดซากรถยนต์ และการศึกษาเพื่อพัฒนาเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและเกิดโอกาสใหม่ ๆ ในการลงทุน

ที่มา: https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/261166

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ชี้ปี 67แรงกดดันเงินเฟ้อของเวียดนามอยู่ภายใต้การควบคุม

นาย Nguyen Duc Do รองผู้อํานวยการสถาบันเศรษฐกิจและการเงิน กล่าวว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของเวียดนามไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว ถึงแม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางที่ชะลอตัว และมีผลให้การส่งออกของเวียดนามในปีนี้ขยายตัวอย่างค่อนเป็นค่อยไป ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างและเศรษฐกิจโดยรวมจะได้รับผลกระทบและคาดว่าจะขยายตัวในระดับต่ำในปีนี้ ตลอดจนตลาดอสังหาฯ ของเวียดนามที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซา

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่าเวียดนามควรจับตามองปัจจัยต่างๆ ของภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐ และสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-inflationary-pressure-under-control-this-year-say-experts-post1077608.vov

‘Brand Finance ‘ เผยมูลค่าแบรนด์ระดับชาติของเวียดนามโตเร็วที่สุดในโลก ปี 62-66

‘Brand Finance’ บริษัทให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินมูลค่าแบรนด์จากสหราชอาณาจักร รายงานว่ามูลค่าของแบรนด์ระดับชาติของเวียดนามโตสูงขึ้น 102% ตั้งแต่ปี 2562-2566 นับว่าเป็นการเติบโตเร็วที่สุดในโลก และยังเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งสูงสุดด้านมูลค่าอันดับที่ 33 ของโลก เพิ่มขึ้น 1 อันดับจากปีที่แล้ว โดยแบรนด์โทรคมนาคมของเวียดนาม มีมูลค่า 13.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 31% ของมูลค่ารวมของแบรนด์เวียดนาม 100 อันดับแรก จำแนกออกเป็น 3 บริษัท ได้แก่ บริษัทเวียดเทล (Viettel), บริษัทวินาโฟน (Vinaphone) และบริษัทโมบิโฟน (MobiFone) ตามมาด้วยแบรนด์กลุ่มธนาคาร แบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าแบรนด์ชั้นนำของเวียดนามมีความก้าวหน้าอย่างมาก สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของแบรนด์ระดับโลก

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20240219/vietnams-national-brand-value-worlds-fastestgrowing-in-201923-report/78344.html

ไทย-สปป.ลาว เตรียมผลักดันด่านชายแดนถาวรแห่งใหม่ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า

เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจากทั้งไทยและ สปป.ลาว ได้หารือเกี่ยวกับการปรับปรุงจุดตรวจเชื่อมระหว่างหมู่บ้านปักสะพาน เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน สปป.ลาว กับบ้านปากแสง อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย จุดตรวจนี้เกิดขึ้นจากข้อจำกัดสำหรับสินค้าบางประเภทที่จำกัดการขายและการขนส่ง ณ จุดตรวจ คาดว่าการพัฒนาในครั้งนี้จะปูทางไปสู่การเปิดการค้าข้ามพรมแดนโดยสมบูรณ์ โดยมีกำหนดจะเริ่มการพัฒนาภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยประเมินมูลค่าการค้าบริเวณจุดตรวจนี้มีมูลค่าเกิน 2.8 พันล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 77.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และในอนาคตมีแผนที่จะสร้างสะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 6 ที่จะย่นเส้นทางการค้าจากไทยไปยังเมืองดานัง ประเทศเวียดนามลงอย่างมาก โดยลดเหลือ 137 กิโลเมตร เพื่อส่งเสริมการค้าในระดับภูมิภาค และคาดว่าจะช่วยปรับปรุงการเคลื่อนย้ายสินค้า ผู้คน และบริการ ส่งเสริมการค้าระหว่างลาว ไทย และเวียดนามได้มากขึ้น

ที่มา: https://laotiantimes.com/2024/02/19/laos-thailand-to-implement-permanent-border-checkpoint-boost-trade-cooperation/

รัฐบาล สปป.ลาว ไฟเขียวโครงการพลังงานลม 1,200 เมกะวัตต์ ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน

รัฐบาล สปป.ลาว ได้ลงนามในข้อตกลงการพัฒนาโครงการพลังงานลม PDA กับบริษัท Savan Vayu Renewable Energy Co., Ltd. (SVARE) โดยเป็นโครงการพลังงานลมขนาด 1,200 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เมืองเซปอน แขวงสะหวันนะเขต ถือเป็นการพัฒนาพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว ในปัจจุบัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และมีส่วนสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานของภูมิภาค โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จครั้งสำคัญของ สปป.ลาว ในการนำพาประเทศสู่การผลิตและใช้พลังงานสะอาดและการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่เพียงแต่สนับสนุนความต้องการพลังงานภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างสถานะของลาวในฐานะผู้ส่งออกพลังงานไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือได้ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไฟฟ้าไปยังเวียดนาม ซึ่งมีส่วนสนับสนุนความมั่นคงและความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาค ทั้งนี้ คาดว่าโครงการพลังงานลมนี้จะเปิดดำเนินการได้ภายในต้นปี 2569 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของลาวอย่างมีนัยสำคัญ และสนับสนุนเป้าหมายในการบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2573

ที่มา: https://laotiantimes.com/2024/02/16/lao-government-green-lights-largest-wind-power-project-to-date/