เศรษฐกิจเวียดนามครึ่งปีแรกเติบโตในระดับต่ำ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวร้อยละ 1.81 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 เป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดนับตั้งแต่ครึ่งปีแรกปี 2554 ซึ่งในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ชี้ให้เห็นว่า GDP ของเวียดนามเติบโตร้อยละ 0.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2554-2563 เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วงไตรมาสสอง และรัฐบาลเพิ่มข้อปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรก ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และประมงมีการขยายตัวร้อยละ 1.19, ภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างเติบโตร้อยละ 2.98 และภาคบริการเติบโตร้อยละ 0.57 นอกจากนี้ รองผู้อำนวยการ GSO กล่าวว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัส ส่งผลกระทบทางลบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงระบบการเมือง เป็นต้น รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเห็นถึงความสำคัญในการต่อสู้กับ COVID-19 และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องสุขภาพและชีวิตของผู้คน แม้ว่าจะสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ตาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economy-records-decadelow-h1-growth/177673.vnp

เวียดนามเกินดุลการค้าครึ่งปีแรก พุ่ง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่ายอดเกินดุลการค้าในเดือนมิ.ย. ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย. ชี้ให้เห็นว่ายอดเกินดุลการค้าสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นราว 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) สำหรับภาคการลงทุนในประเทศนั้นคาดว่าจะขาดดุลการค้าราว 10.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 6 เดือนแรก ในขณะที่ บริษัทต่างชาติ (FDI) มียอดเกินดุลการค้า 14.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เดือนมิ.ย. เวียดนามมีมูลค่าส่งออกประมาณ 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ในขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าประมาณ 20.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 นอกจากนี้ ในบรรดาคูค้ารายใหญ่ของเวียดนาม พบว่าในช่วง 6 เดือนแรก สหภาพยุโรปมียอดเกินดุลการค้าลดงร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ด้วยมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จีนขาดดุลการค้าลดลงร้อยละ 19.3 ด้วยมูลค่า 15.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-trade-surplus-widens-to-us4-billion-in-h1-312907.html

เวียดนามเผยเม็ดเงิน FDI ลดลง 15.1% ในช่วงครึ่งปีแรก

กระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม (MPI) เปิดเผยว่าเวียดนามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดลงร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยมูลค่า 15.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ยอดการลงทุนดังกว่าจะรวมถึง 8.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน 1,418 โครงการที่ได้รับการอนุญาตใหม่ และอีก 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นการการลงงทุนเพิ่มในโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน 526 โครงการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปสามารถดึงดูดเม็ดเงิน FDI สูงสุด มากกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.1 ของยอดเงินลงทุนทั้งหมด รองลงมาภาคการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ค้าปลีกค้าส่งและอสังหาริมทรัพย์ ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.7 ของทั้งหมด รองลงมาไทย (10.1%), จีน (10.1%),  ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ตามลำดับ นอกจากนี้ ทางกระทรวงฯ ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกของภาคการลงทุน FDI ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ลดลงทั้งในแง่มูลค่าและสัดส่วนจากการค้าต่างประเทศในเวียดนาม ประมาณ 79.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (รวมน้ำมันดิบ)

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/fdi-drops-151-year-on-year-in-first-half-415437.vov

ธนาคารพาณิชย์เวียดนาม “Vietcombank” รักษามาตรฐานการกู้ยืม

ธนาคารพาณิชย์ “Vietcombank” ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม จะไม่ปรับลดมาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อช่วงหลังการแพร่ระบาดไวรัส เพื่อรักษาเงินทุนให้แข็งแกร่งในปี 2563 ซึ่งธนาคารจะยกระดับคุณภาพสินเชื่อ เพื่อรองรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังสิ้นสุดการระบาดของ COVID-19 โดยธนาคารจะมองหาลูกค้าใหม่ พิจารณาสินเชื่อแก่ธุรกิจค้าส่งและขยายการลงทุนไปยังพันธบัตรทางการเงิน รวมถึงปรับปรุงสัดส่วนการลงทุนของธนาคาร ทั้งนี้ ในปี 2563 Vietcombank มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยมูลค่า 55.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราหนี้เสียตั้งเป้าให้ต่ำกว่าร้อยละ 1.5 ในปีนี้ อัตราเงินปันผลร้อยละ 8 ปีนี้ และจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นและจ่ายโบนัสอีกด้วย นอกจากนี้ ธนาคารวางแผนว่าจะจ้างพนักงานใหม่มากกว่า 2,200 คนในปีนี้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/748843/vietcombank-to-maintain-lending-standards.html

“เวียดนามแอร์ไลน์” เปิด 4 เส้นทางบินใหม่จากเมืองเกิ่นเทอ

เวียดนามแอร์ไลน์ (Vietnam Airlines) เปิดตัว 4 เส้นทางบินใหม่จากเมืองเกิ่นเทอในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ถึงเมืองไฮฟอง (Hai Phong), วินห์ (Vinh), บวนมาถวต (Buon Ma Thuot) และดาลัด (Da Lat) ซึ่งจากงานสัมมนาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. หารือเกี่ยวกับวิธีส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยรองประธานคณะกรรมการประชาชนเกิ่นเทอ กล่าวว่าเส้นทางการบินใหม่ดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ รองผู้อำนวยการเวียดนามแอร์ไลน์ กล่าวเสริมว่าเส้นทางการบินใหม่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกจากนี้ เส้นทางการบินใหม่ยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง อาทิ ตลาดน้ำ “Cai Rang”, อุทยานแห่งชาติ “Tram Chim” และหมู่บ้านดอกไม้ เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/748711/vietnam-airlines-unveils-4-new-air-routes-from-can-tho.html

เวียดนามเผยการเดินทางทางอากาศในประเทศจะฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบ หลังหมดโควิด-19

สนามบินโหน่ยบ่าย (Noi Bai International Airport) ระบุว่าการเดินทางในประเทศเริ่มฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อเทียบกับก่อนที่จะเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เนื่องจากมีความต้องการเดินทางเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงกระตุ้นของรัฐบาลและสายการบิน ซึ่งสนามบินดังกล่าวเป็นศูนย์กลางในการขนส่งที่ใหญ่ที่สุดทางตอนเหนือของเวียดนาม ปัจจุบันสามารถรองรับเที่ยวบินประมาณ 400-450 เที่ยวบินต่อวันและรองรับผู้โดยสารเฉลี่ยมากกว่า 60,000 คนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินในประเทศ ทั้งนี้ ทางตัวแทนของสนามบิน กล่าวว่าจำนวนผู้โดยสารพุ่งสูงขึ้น ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้ สนามบินโหน่ยบ่าย จึงต้องดำเนินมาตรการหลายอย่าง ได้แก่ การปรับโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การติดตั้งเคาร์เตอร์เช็คอินเพิ่มมากขึ้น รวมถึงช่วยเหลือและให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/748703/domestic-air-travel-sees-full-recovery-post-covid-19.html

ส่งออกกุ้งเวียดนามไปยังแคนาดา โต 32%

สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลของเวียดนาม (VASEP) ระบุว่าตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงครึ่งปีแรกของเดือนพ.ค. ยอดส่งออกกุ้งของเวียดนามไปยังแคนาดา เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เป็นมูลค่า 54.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในเดือนม.ค. การส่งออกกุ้งของเวียดนามไปยังแคนาดา เผชิญกับภาวะชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกในเดือนที่ผ่านมา มีการเติบโตในอัตราเลขสองหลัก (Double-Digit Growth) ทั้งนี้ แคนาดาเป็นผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่ของเวียดนาม อยู่ในอันดับที่ 6 ของตลาดต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.7 ของยอดส่งออกทั้งหมด ในขณะที่ ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ ยอดส่งออกกุ้งของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นมูลค่า 49.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ศูนย์กลางการค้าโลก (World Trade Center) ชี้ว่าในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ เวียดนามนำเข้ากุ้งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รองลงมาอินเดีย เวียดนาม ไทย จีนและเอกวาดอร์ ตามลำดับ สำหรับราคาเฉลี่ยส่งออกกุ้งของเวียดนาม มีราคาสูงสุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดแคนาดา

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-shrimp-exports-to-canada-surge-32-21651.html

เวียดนามเผย 5 เดือนแรก ยอดส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์โต

กรมศุลกากรเวียดนาม (GDC) เปิดเผยว่าเดือนพ.ค. ยอดส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ลดลง แต่ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ กลับเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนที่แล้ว การส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปยังต่างประเทศ ลดลงร้อยละ 3.7 ในแง่ปริมาณ และร้อยละ 9.7 ในแง่มูลค่า ด้วยปริมาณ 42,821 ตัน และมูลค่า 263.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ในขณะที่ ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกสินค้าดังกล่าว เพิ่มขึ้นทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า ร้อยละ 17.1 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของยอดส่งออกทั้งหมด รองลงมาสหภาพยุโรป ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ร้านอาหารและโรงแรมในสหรัฐฯและยุโรปนำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์แปรรูปลดลง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cashew-nut-exports-grow-in-first-five-months/177379.vnp

ลิ้นจี่เวียดนามที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น “ขายหมด”

ผู้อำนวยการสำนักงานเกษตรและพัฒนาชนบทในจังหวัดบั๊กซาง กล่าวว่าลิ้นจี่สดที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นนั้น คาดว่าจะขายได้ดี ซึ่งในวันที่ 21 มิ.ย. ทางจังหวัดดังกล่าว ส่งออกลิ้นจี่สดไปยังญี่ปุ่นผ่านการขนส่งทางอากาศ ด้วยปริมาณ 3 ตัน และเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ได้ส่งออกลิ้นจี่สดเพิ่มอีก 6 ตัน ผ่านทางทะเล ส่งผลให้ปริมาณขายลิ้นจี่ในญี่ปุ่น อยู่ที่ราว 10 ตัน โดยจะเริ่มวางขายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ “ราคาลิ้นจี่ที่ขายในตลาดต่างประเทศ ปรับตัวสูงถึง 40,000 ด่งต่อกิโลกรัม ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าเมื่อเทียบกับราคาในประเทศ อย่างไรก็ตาม หากได้การวางแผนที่ดี จะสามารถส่งออกไปยังญี่ปุ่นหลายร้อยตัน”

ที่มา : http://en.dangcongsan.vn/economics/vietnamese-lychee-sold-out-in-japan-555343.html

เวียดนามเผยราคาส่งออกข้าวต่ำสุด ในรอบ 2 เดือน

อุปทานข้าวในประเทศอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวหัก (Broken Rice) ของเวียดนามปรับตัวลดลงอยู่ที่ 450 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ณ วันที่ 19 มิ.ย. ถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวเวียดนาม ระบุว่าผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวฤดูร้อน-ใบไม้ร่วง ปริมาณส่งออกข้าวดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 2.3-2.5 ล้านตัน หลังการบริโภคภายในประเทศเพียงพอแล้ว ในขณะเดียวกัน ราคาส่งออกข้าวในวันที่ 4 มิ.ย. พบว่าราคาปรับตัวสูงสุด 475 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็นผลมาจากอยู่ในช่วงฝนตกหนักกระทบต่อการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ทั้งปริมาณและมูลค่าส่งออกข้าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนามมากที่สุด ด้วยปริมาณรวม 1.3 ล้านตัน (+22.4%YoY) คิดเป็นมูลค่า 598.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+41.4%YoY) รองลงมาจีน ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/rice-export-price-lowest-in-two-months/177308.vnp