‘รถไฟจีน-ลาว’ กระตุ้นการท่องเที่ยวในสปป.ลาว

รถไฟจีน-ลาว มีส่วนสำคัญในการยกระดับภาคการท่องเที่ยวในลาว ทั้งด้านการขนส่งผู้โดยสารและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการเดินทาง นับตั้งแต่เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2564 ทั้งนี้ เมื่อสอบถามประชาชน พบว่าคุณกิ่งแก้ว ด้วงพันลำ คุณแม่วัย 32 ปี จากแขวงหลวงพระบาง บอกกับสำนักข่าวซินหัวว่าการเดินทางไปและกลับจากบ้านเกิดของเธอพร้อมลูกน้อยแรกเกิดนั้นสะดวกขึ้นมากตั้งแต่เริ่มเปิดใช้การรถไฟ และยังช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างเวียงจันทน์และหลวงพระบางจาก 8-9 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ รถไฟจีน-ลาว อยู่ภายใต้โครงการ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)” ของรัฐบาลจีน และถือเป็นยุทธศาสตร์ของลาวที่จะเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ไปสู่ประเทศศูนย์กลางการคมนาคมทางบก

ที่มา : http://en.people.cn/n3/2022/1129/c90000-10177510.html

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าว 1 ล้านตัน ในอีก 5 ปีข้างหน้า

กัมพูชามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมประเทศในฐานะ “Rice basket” และเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ โดยมีเป้าหมายที่จะส่งออกข้าวอย่างน้อย 1 ล้านตันต่อปี นับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายรับประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากการส่งออกข้าวสาร โดยกัมพูชายังมองหาตลาดส่งออกขนาดใหญ่ของผลิตภัณฑ์ข้าวประมาณ 150,000 ตัน ณ ราคา 7,000 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวว่า การเติบโตของภาคการส่งออกข้าวน่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากสถานการณ์ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาตลาดใหม่ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในสหภาพยุโรป และในตลาดจีน ซึ่งในเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2022 กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศแล้วกว่า 509,249 ตัน มูลค่า 323.90 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.67 ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาในช่วง 10 เดือนแรกของปี สร้างรายรับกว่า 3.07 พันล้านดอลลาร์ จากการส่งออกสินค้าเกษตรปริมาณรวม 7.62 ล้านตัน ตามรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง (MAFF)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501192888/one-million-tons-rice-export-target-set-for-next-five-years/

CDC อนุมัติโครงการลงทุนใหม่กว่า 460 ล้านดอลลาร์ ในช่วง Q3/2022

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการการลงทุน 52 โครงการ มูลค่ากว่า 460 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาส 3 ปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งโครงการการลงทุนที่ได้รับอนุมัติสร้างงานกว่า 40,274 ตำแหน่ง ให้กับคนในท้องถิ่น ตามรายงานล่าสุดจากกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยกล่าวว่าโครงการลงทุน 33 โครงการ ตั้งอยู่นอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ มูลค่าการลงทุนรวม 266 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่โครงการอื่นๆ อีก 19 โครงการ ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มูลค่าการลงทุนรวม 194 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกระทรวงฯ ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของกัมพูชาเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โครงการก่อสร้าง การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและบริการ และการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501192692/investment-projects-worth-460m-approved-in-q3/

‘เวียดนาม’ เผยการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น แต่การใช้จ่ายต่ำ

คุณ Nguyen Anh Tuan ผู้อำนวยการสถาบันการท่องเที่ยวเวียดนาม กล่าวว่าการเกิดวิกฤตต่างๆ อาทิเช่น โควิด-19 ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศถือเป็นความหวังของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเวียดนามและยังเป็นตลาดที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจากการวิจัยตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ปี 2559-2563 พบว่าการท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญของการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดถึง 85 ล้านคน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวในประเทศมีการใช้จ่ายรวมกันทั้งสิ้น 6.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 และมีการใช้จ่ายขยายตัวเฉลี่ย 20.5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นว่าทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวในประเทศยังคงมีช่องว่าง ตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในประเทศเฉลี่ย 977,700 ด่องต่อวันในปี 2554 และ 1.15 ล้านด่องในปี 2563

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1399500/domestic-tourism-increases-but-spending-remains-low.html

‘เวียดนาม’ พร้อมเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์

ศาสตราจารย์ Nguyen Mai ประธานสมาคมธุรกิจเวียดนามลงทุนต่างประเทศ (VAFIE) กล่าวว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดของวิด-19 และความขัดแย้งทางการค้าโลก ทำให้การผลิตเซมิคอนดักเตอร์หยุดชะงัก บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกต่างต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์ในการผลิตสินค้า อาทิเช่น สมาร์ทโฟน ยานพาหนะและปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น โดยเวียดนามนับเป็นศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์อีกแห่งด้วย เนื่องจากซัมซุงได้ประกาศแผนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีหน้า ด้วยการเพิ่มเงินลงทุน 920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนามยังเป็นที่ตั้งของโรงงานประกอบและศูนย์ทดสอบรายใหญ่ที่สุดของบริษัทอินเทล (Intel) ด้วยเงินลงทุนราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1399493/vn-ready-to-become-a-semiconductor-manufacturer.html

สหพันธ์ข้าวกัมพูชาคาดการณ์ปริมาณการส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้น

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) คาดว่าการส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้นในปี 2023 เนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดยุโรป อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีน และการเกิดขึ้นของตลาดใหม่ รวมถึงบังคลาเทศ ด้าน Pan Sorasak รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันกัมพูชาได้รับโควต้าการส่งออกข้าวสารไปยังจีนกว่า 400,000 ตัน โดยคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการส่งออกข้าวให้กับกัมพูชาได้เป็นอย่างมาก และเสริมว่าขณะนี้กระทรวงกำลังเจรจาข้อตกลงฉบับใหม่เกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่าง กัมพูชา-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งถือเป็นการขยายศักยภาพด้านการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง โดยการส่งออกข้าวสารของกัมพูชาในปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10.6 คิดเป็นปริมาณกว่า 509,249 ตัน ในเดือนมกราคม-ตุลาคมปีนี้ ตามรายงานของ CRF สร้างรายได้กว่า 324 ล้านดอลลาร์ ด้วยการส่งออกไปยัง 56 ประเทศ ทั่วโลก ซึ่งจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญของกัมพูชา คิดเป็นกว่าร้อยละ 45 ของการส่งออกข้าวสารทั้งหมดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501192058/cambodia-milled-rice-export-seen-increasing/

กัมพูชาพิจารณาผลประโยชน์ FTA กัมพูชา-เกาหลีใต้

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันเกี่ยวกับการผลประโยชน์และขั้นตอนการส่งออกให้แก่ผู้ส่งออกในประเทศ ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี (CKFTA) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนหน้า โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวง สถานทูตเกาหลี ภาคเอกชน และผู้แทนรวมกว่า 200 คน ในหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่ง CKFTA จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2022 ที่กำลังจะมาถึง ทางการหวังว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศและสร้างโอกาสการส่งออกใหม่ๆ ให้กับภาคเอกชน โดยกัมพูชาจะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีส่งออกสินค้ากว่าร้อยละ 92.37 ของอัตราภาษีทั้งหมด ซึ่งการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้แตะระดับ 920 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลี (KITA) โดยมูลค่าดังกล่าวคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 341 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501192199/cambodia-korea-fta-export-benefits-deliberated/

7 เดือนของปี 65 สิงคโปร์รั้งอันดับหนึ่ง FDI ในเมียนมา

หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของเมียนมา  (DICA) เผย ใน 7 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเม.ย.-เดือนต.ค. 2565)  บริษัทจดทะเบียนในสิงคโปร์ 14 บริษัทได้เร่งอัดฉีดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเมียนมาเป็นมูลค่า 1.154 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในการพัฒนาเมือง อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน และภาคการผลิตรองลงมาเป็นบริษัทจากฮ่องกง 163 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  จำนวน11 บริษัท และจีน 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 22 บริษัทที่เข้ามาลงทุน ซึ่งในช่วงงบประมาณย่อยที่ผ่านมา (เดือนตุลาคม 2564-เดือนมีนาคม 2565) สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมา จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าในปีงบประมาณ 2562-2563 มีเม็ดเงินลงทุน .85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2561-2562 นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังกลายเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 2 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา รองจากญี่ปุ่น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/singapore-tops-fdi-ranking-in-myanmar-in-past-seven-months/#article-title

 

ญี่ปุ่น บริจาคสิ่งของหนุน สปป.ลาว เพื่อเป็นประธานอาเซียนในปี 67

รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดหายานพาหนะ อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มูลค่ากว่า 63 พันล้านกีบ (500 ล้านเยน) ให้แก่สปป.ลาว เพื่อสนับสนุนในการเป็นประธานอาเซียนที่จะจัดการประชุมขึ้นในปี 2567 ซึ่งประกอบไปด้วย รถยนต์โตโยต้า คัมรี ไฮบริด 33 คัน ซึ่งจะใช้ในการขนส่งรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาเมื่อเข้าร่วมประชุมอาเซียนที่ประเทศลาวในปี 2567 และอุปกรณ์ไอทีเพื่อปรับปรุงระบบสื่อสารและสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยมีนายทองพัน สะหวันเพ็ด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสปป.ลาว และนายเคนอิจิ โคบายาชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสปป.ลาว เข้าร่วมพิธีลงนามที่กระทรวงการต่างประเทศในเวียงจันทน์เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten232_Japan_y22.php

ส่งออกเดือนต.ค.ร่วง 4.4 % เจอปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.4% คิดเป็นเงินบาท มีมูลค่า 801,273 ล้านบาท รวม 10 เดือนของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) มีมูลค่า 243,138.5 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 9.1% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 8,325,091 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่า การส่งออกทั้งปี 2565 ยังเป็นบวก จากการประมาณการร่วมกับภาคเอกชนล่าสุดยังมั่นใจว่าเกินเป้าที่กำหนดไว้ 4% จะเพิ่มเกือบหนึ่งเท่าตัว ส่วนมูลค่าตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 9 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มจะเกินกว่า 9 ล้านล้านบาท และจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปี 2565 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกติดลบ มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าเป็นห่วง โดยเศรษฐกิจโลกปี 2564 เพิ่ม 6% ปี 2565 เพิ่ม 3.2% และปี 2566 เพิ่ม 2.7% ตลาดจีนยังมีมาตรการซีโร่โควิด-19 ดัชนีการผลิต หรือ PMI ของคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป ลดลง แต่ก็มีปัจจัยบวกจากเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ทั้งนี้การส่งออกในเดือนตุลาคม 2565 ที่กลับมาติดลบ 4.4% ถือเป็นการกลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือน นับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่วนการนำเข้าตุลาคม 2565 มีมูลค่า 22,368.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.1% ขาดดุลการค้า 596.4 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 10 เดือน นำเข้ามลค่า 258,719.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.3% ขาดดุลการค้า 15,581.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา: https://www.naewna.com/business/694962