Qatar Airways พร้อมกลับมาให้บริการเที่ยวบินตรงเชื่อมกรุงพรมเปญ

สายการบิน Qatar Airways พร้อมกลับมาให้บริการเที่ยวบินตรงมายังกรุงพนมเปญ เชื่อมไปยังนครโฮจิมินห์ของเวียดนาม โดยเริ่มให้บริการเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (29 ต.ค.) กล่าวโดย Vu Thi Thanh Huong ผู้จัดการสายการบิน Qatar Airways ประจำประเทศเวียดนามและกัมพูชา เชื่อว่าจะเป็นการเปิดโอกาสด้านการเดินทางใหม่ๆ ให้กับผู้โดยสาร ขณะที่ Cyril Girot ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสนามบินกัมพูชา ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ VINCI Airports ผู้ให้บริการสนามบินเอกชนชั้นนำของโลก ได้กล่าวเสริมว่า สนามบินในกรุงพนมเปญพร้อมที่จะสร้างเครือข่ายจุดหมายปลายทางใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเชื่อมต่อไปยังสนามบินนานาชาติของประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ สนามบินในกัมพูชามีการเดินทางผ่านทางอากาศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 162 โดยมีผู้โดยสารขาเข้าถึง 3.7 ล้านคน รายงานโดยสำนักเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งรัฐ ซึ่งสถิติสำคัญนี้ บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของอุตสาหกรรมการบินพลเรือนของประเทศที่ในช่วงก่อนหน้าเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501384054/qatar-airways-resumes-phnom-penh-flight/

ทางการกัมพูชาเตรียมเปิดตัวสะพานพระมณีวงศ์ ก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

โครงการก่อสร้างสะพานพระมณีวงศ์ พร้อมเปิดให้บริการก่อนกำหนด ซึ่งในเฟสแรกกำหนดวันเสร็จสิ้นไว้ก่อนช่วงวันขึ้นปีใหม่กัมพูชา (KNY) กล่าวโดย Khuong Sreng ผู้ว่าราชการกรุงพนมเปญ สำหรับสะพานแห่งนี้ ถือเป็นหนึ่งในงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในกรุงพนมเปญ โดยคาดว่าจะช่วยลดการติดขัดทางจราจรภายในเขตเมืองได้เป็นอย่างมาก รวมถึงสร้างความสะดวกในการเดินทางไปยังสนามบินนานาชาติ ขณะที่การก่อสร้างนำโดยบรรษัทการลงทุนข้ามชาติแห่งกัมพูชา (OCIC) เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2022 ด้วยเม็ดเงินลงทุน 37 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันเมืองพนมเปญมีประชากรเกือบ 2.3 ล้านคน และคาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน ภายในปี 2035 ซึ่งจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทางการกัมพูชาจึงจำเป็นต้องเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงถนน เพื่อเป็นการรองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ กัมพูชายังได้รายงานถึงจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 11.3 ต่อปี (5 ปีที่ผ่านมา) ซึ่งส่วนใหญ่จดทะเบียนในพนมเปญ ตามระบบการจัดการทะเบียนรถยนต์ของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501384056/37-million-monivong-flyover-to-open-ahead-of-schedule-by-kny/

คาด GDP ต่อหัวของกัมพูชาพุ่งแตะ 2,071 ดอลลาร์ ภายในปีหน้า

คาด GDP ต่อหัวของกัมพูชาจะอยู่ที่ 2,071 ดอลลาร์ ภายในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,917 ดอลลาร์ ในปี 2023 ตามรายงานจากกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยเฉพาะในภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป การท่องเที่ยว การก่อสร้าง และการเกษตร สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.6 ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 5.6 ในปีนี้ ขณะที่ประเทศกลุ่มที่มีรายได้ในระดับปานกลางมี GDP ต่อหัวอยู่ระหว่าง 4,466 ดอลลาร์ถึง 13,845 ดอลลาร์ ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงมี GDP ต่อหัวที่ 13,846 ดอลลาร์หรือมากกว่านั้น ตามการจัดประเภทของธนาคารโลก (World Bank) ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเนต กล่าวเสริมว่า อัตราความยากจนของกัมพูชาลดลงอย่างน่าทึ่งจากร้อยละ 33.8 เหลือร้อยละ 17.8 ของประชากร ภายในช่วงระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันกัมพูชามีประชากรประมาณ 17 ล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501383721/cambodias-gdp-per-capita-to-reach-2071-next-year-report/

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชามุ่งมั่นส่งเสริมภาคการค้าระหว่างไทย

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (MoC) มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในระดับทวิภาคีระหว่างไทย ด้วยการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ เข้ามายังกัมพูชา หวังเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยคำกล่าวนี้เกิดขึ้นระหว่างงานสัมนา ‘การจับคู่ธุรกิจกัมพูชา-ไทย’ ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ประกอบการเยาวชนกัมพูชาเพื่อการพัฒนา (CYEAD) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (28 ต.ค.) ณ กรุงพนมเปญ นำโดย Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลกัมพูชา เจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา และนักธุรกิจและนักลงทุนชาวไทยเข้าร่วมงาน สำหรับการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมของปีนี้ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.58 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 646 ล้านดอลลาร์ไปยังไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงร้อยละ 25.8 เหลือมูลค่า 1.93 พันล้านดอลลาร์ ภายในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังประเทศไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป สำหรับสินค้านำเข้าของกัมพูชาจากประเทศไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501383488/moc-committed-to-boosting-trade-ties-with-thailand/

รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติงบประมาณประจำปี 2024 มูลค่า 9.4 พันล้านดอลลาร์

รัฐบาลกัมพูชาได้อนุมัติร่างงบประมาณมูลค่า 38,829 พันล้านเรียล (9.4 พันล้านดอลลาร์) สำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2024 ลดลงจาก 9.64 พันล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2023 ซึ่งการอนุมัติดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำสัปดาห์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27 ต.ค.) นำโดยนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต โดยงบประมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับร้อยละ 27.16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาภาคสังคม การศึกษา การฝึกอบรมสายอาชีพ และสุขภาพ รวมถึงด้านอื่นๆ เป็นสำคัญ ภายใต้การตอบสนองต่อความเสี่ยงและความท้าทายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับร่างกฎหมายงบประมาณสำหรับปี 2024 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาในขั้นตอนถัดไป ก่อนที่จะนำเสนอต่อพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี เพื่อรับรองกรอบงบประมาณดังกล่าวต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501383281/cambodia-approves-9-4-billion-for-government-spending/

กัมพูชาชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP ขยายตัวกว่า 23.6%

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มูลค่า 5.81 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวถึงร้อยละ 23.6 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตามการรายงานล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (MoC) โดยได้ทำการส่งออกไปยังเวียดนามมากที่สุดมูลค่า 2.03 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 ส่งออกไปยังจีน 1.06 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 และส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่มูลค่า 885.7 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ประกอบด้วย 15 ประเทศสมาชิก ในพื้นที่เอเชียแปซิฟิก รวมถึง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ร่วมกับคู่ค้าสำคัญอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ภาคใต้ เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ด้วยข้อตกลงดังกล่าวเอื้อต่อภาคการค้าระหว่างประเทศโดยประเทศสมาชิกตกลงที่จะให้สิทธิทางอัตราภาษีพิเศษระหว่างกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501382938/cambodias-export-to-other-rcep-members-up-23-6-percent-in-9-months/

บริษัท “Long Grain” ขยายกำลังการผลิตข้าวสารในกัมพูชา

บริษัท ลองเกรน จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารชนิดพิเศษในกัมพูชาเปิดตัวโรงสีแห่งใหม่ โดยคาดว่าภายในปี 2040 จะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 33,000 ตัน เป็น 200,000 ตันต่อปี รวมถึงวางแผนที่จะขยายการผลิต สู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำนมข้าว เค้กข้าว เหล้าธัญพืช และน้ำมันรำข้าว ซึ่งบริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ในจังหวัดกัมปงสปือ บนพื้นที่ 68,809 ตารางเมตร ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่การสีไปจนถึงการจัดจำหน่ายเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 9 ล้านดอลลาร์ สำหรับสายการผลิตข้าวสาร โดยบริษัทตั้งเป้าดันประเทศกัมพูชาให้กลายเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมข้าวระดับโลก ขณะที่ปัจจุบันกัมพูชาเพาะปลูกข้าวคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร และคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของกัมพูชา ด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ได้ประมาณการณ์การผลิตข้าวของกัมพูชาไว้อยู่ที่ 10.2 ล้านตันต่อปี สำหรับในช่วงปี 2023-2024 โดยคาดว่าจะมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 1.91 ล้านตัน สำหรับการประมาณการณ์การผลิตข้าวทั่วโลกอาจจะสูงถึง 520.9 ล้านตัน ภายในปี 2023-2024 ด้วยแนวโน้มดังกล่าวส่งผลทำให้บริษัทเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาภาคธุรกิจให้ก้าวทันต่อสถานการณ์ตลาดโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501382174/cambodias-long-grain-co-unveils-rice-mill/

9 เดือนแรกของปี เขตเศรษฐกิจพิเศษ SSEZ ส่งออกสินค้าแตะ 2.5 พันล้านดอลลาร์

คาดปี 2023 เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) เติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวที่คิดเป็นกว่าร้อยละ 7.13 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกผ่าน SSEZ อยู่ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา BRI สร้างโอกาสการพัฒนามากมายให้กับ SSEZ ผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการผลิต และเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก สำหรับ SSEZ มีองค์กรหรือบริษัทภายในเขตกว่า 175 แห่ง ในปัจจุบันครอบคลุมทั้งการผลิตฮาร์ดแวร์ไปจนถึงเสื้อผ้า วัสดุก่อสร้าง และวัสดุไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501381926/ssez-conducts-2-5b-trade-in-nine-months/

ทางการกัมพูชาหวังดึงนักลงทุนจีนเข้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

ทางการกัมพูชาพร้อมดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกโดยรัฐบาลแห่งชาติ ผ่านการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งเพื่อเอื้อต่อภาคการลงทุนภายในประเทศ หวังดึงดูดการลงทุนของจีนมายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น ตามคำกล่าวของ Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ในระหว่างการประชุมความร่วมมือจีน-กัมพูชา ประจำปี 2023 ณ ประเทศจีน โดยงานนี้จัดขึ้นโดย Global Logistic Alliance (GLA) ซึ่งเป็นเครือข่ายของบริษัทผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับโลจิสติกส์มากกว่า 5,000 แห่ง ที่ได้ทำการลงทุนกระจายไปยังกว่า 170 ประเทศทั่วโลก ด้านรองนายกฯ ยังได้กล่าวเสริมอีกว่าแผนดังกล่าว สอดคล้องกับแผนแม่บทของกัมพูชา ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกว่า 174 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายใน 10 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา ถนน ระบบราง ทางน้ำ สายการบิน ท่าเรือ โลจิสติกส์ และระบบขนส่งอัตโนมัติ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501381311/infra-push-set-to-lure-chinese-investments/

จำนวนผู้โดยสารที่มาเยือนกัมพูชา ผ่านท่าอากาศยาน เสียมราฐ-อังกอร์ ขยายตัวต่อเนื่อง

ท่าอากาศยานนานาชาติ เสียมราฐ-อังกอร์ (SAI) ที่เพิ่งเปิดให้บริการต้อนรับผู้โดยสารทางอากาศ ขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 2,600 คนต่อวัน ตามการระบุของสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนแห่งรัฐ (SSCA) โดยท่าอากาศยานดังกล่าวสามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น 17 เที่ยวบิน เมื่อเทียบกับสนามบินนานาชาติเสียมราฐ (ก่อนปรับปรุง) ซึ่งคาดว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นผลมาจากปัจจุบันอยู่ในช่วงไฮซีซั่น เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงช่วงสิ้นปี ปัจจุบันมีสายการบิน 7 สายการบิน ให้บริการ ณ สนามบินนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ โดยเป็นสายการบินต่างประเทศ 6 สายการบิน และสายการบินท้องถิ่น 1 สายการบิน สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ ตั้งอยู่ในชุมชน Tayek ห่างจากตัวเมืองเสียมราฐ 50 กิโลเมตร ซึ่งสนามบินดังกล่าวจัดอยู่ในระดับ 4E ที่สามารถรองรับเที่ยวบินระยะไกลจากทั่วโลกด้วยรันเวย์ระยะ 3,600 เมตร และมี 38 ท่าเทียบเรือ โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 7 ล้านคนต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 12 ล้านคน ภายในปี 2040 ในด้านการขนส่งสินค้า สนามบินสามารถรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ 10,000 ตันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 26,000 ตันต่อปีจากปี 2040

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501381542/siem-reap-angkor-intl-airport-records-high-of-daily-passengers/