‘ผลสำรวจ’ ชี้ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของยุโรปในเวียดนาม ปรับตัวเพิ่มขึ้น

จากผลการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาด ‘Decision Lab’ เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BCI) ของหอการค้ายุโรปในเวียดนาม (Eurocham) ในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ระดับ 52.8 นับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 โดยแนวโน้มของความเชื่อมั่นทางธุรกิจมีทิศทางในเชิงบวก ตอกย้ำถึงทัศนคติหรือมุมมองของนักธุรกิจยุโรปในเวียดนามที่มองถึงการเติบโตของประเทศไปในทิศทางที่ดี ทั้งนี้ ดัชนีฯ ที่ปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 แสดงให้เห็นถึงความมีเสถียรภาพของประเทศและความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามในตลาดโลก รวมถึงเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนในระดับภูมิภาคและนโยบายเชิงรุกของภาครัฐฯ ที่มุ่งเน้นให้นักลงทุนขยายการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ จากการตอบแบบสอบถามพบว่านักธุรกิจส่วนใหญ่ 54% มีการแนะนำนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ในขณะที่นักธุรกิจ 71% มีมุมมองเชิงบวกจากโอกาสทางธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-economic-rise-fuels-european-optimism-eurocham-post1087680.vov

‘เวียดนาม’ หารือกรอบกำหนดราคาซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาว ไตรมาส 2

เหงียน ฮง เดียน (Nguyen Hong Dien) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม กล่าวว่าจะกำหนดกรอบหลักเกณฑ์อัตราค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากสปป.ลาวในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งจากการเจรจากับนายโพไซ ไซยะสอน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว เปิดเผยว่าตามคำขอของสปป.ลาว และความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศนั้น ทางการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) จะทำการศึกษาข้อมูลและเสนอราคารับซื้อไฟฟ้าหลังปี 2568 เมื่อร่างข้อเสนอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทรวงฯ จะทำการประเมินก่อนยื่นให้นายกรัฐมนตรีเวียดนามอนุมัติต่อไป ในขณะเดียวกันรัฐบาลสปป.ลาว เสนอให้เวียดนามจัดตั้งหน่วยงานหรือคณะทำงานในการดูแลการไฟฟ้า รวมถึงอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากสปป.ลาวไปยังประตูชายแดนและท่าเรือชายแดน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-to-issue-price-framework-to-purchase-electricity-from-laos-in-q2/284164.vnp

เมียนมานำเข้าปุ๋ย 1.047 ล้านตันในปีงบประมาณ 2566-2567

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ระบุว่ามีการนำเข้าปุ๋ยรวม 1.047 ล้านตันในปีงบประมาณ 2566-2567 โดย คณะกรรมการจัดซื้อและจัดจำหน่ายปุ๋ยยูเรีย รายงานว่า ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและแนะนำให้ออกใบอนุญาตนำเข้าปุ๋ย 2 ล้านตันและยาฆ่าแมลง 37,000 ตันในปีงบประมาณที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ ปุ๋ยยูเรียรวม 4,900 ตัน และปุ๋ยผสม 21,000 ตัน ได้รับการกำหนดให้ใช้ในพื้นที่เพาะปลูก 120,000 เอเคอร์ใน 12 รัฐและภูมิภาค รวมถึงกรุงเนปิดอว์ ในโครงการปลูกพืชน้ำมันบริโภคในฤดูหนาว นอกจากนี้ ปุ๋ยยูเรีย 36,000 ตัน และปุ๋ยผสม 36,000 ตัน ได้รับการจัดสรรเพื่อใช้ในพื้นที่นาฤดูร้อน 720,000 เอเคอร์ใน 6 ภูมิภาคและรัฐ รวมถึงกรุงเนปิดอว์ด้วย อย่างไรก็ดี ปุ๋ยทั้งหมด 74,000 ตัน ซึ่งรวมถึงปุ๋ยยูเรียมากกว่า 3,700 ตัน และปุ๋ยผสม 37,000 ตัน คาดว่าจะใช้ในรัฐและภูมิภาค 10 รัฐ รวมถึงกรุงเนปิดอว์ สำหรับโครงการนาข้าวในฤดูมรสุม ปุ๋ยที่จำเป็นเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยนำเข้าที่สำคัญสำหรับโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐ และสำหรับโครงการที่ไม่ครอบคลุมอยู่ในกองทุนนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดราคาปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-imports-1-047-million-tonnes-of-fertilizers-in-2023-24-fy/

YCDC ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซมีเทน ที่มาจากการฝังกลบ

ตามที่คณะกรรมการพัฒนาเมืองย่างกุ้ง (YCDC) ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่โรงแรมชาเทรียมในย่างกุ้ง มีการอภิปรายเน้นย้ำถึงความร่วมมือของ YCDC และ GES Co., Ltd. ของเกาหลี ในการทำงานเพื่อทำการฟอกก๊าซมีเทนจากแหล่งทิ้งขยะขั้นสุดท้าย ในการฝังกลบขั้นสุดท้าย เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ ยังมีกระบวนการทำปุ๋ยหมักเพื่อลดปริมาณขยะเนื่องจากที่ดินหายาก นอกจากนี้ มีรายงานว่าก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบจะถูกปล่อยออกทางท่อเพื่อป้องกันการเกิดเพลิงไหม้เนื่องจากความร้อน ดังนั้น การอภิปรายจึงมุ่งเน้นไปที่การใช้ก๊าซมีเทนอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปริมาณขยะในเมืองย่างกุ้งเพิ่มขึ้นทุกปี และทั้งเมืองสามารถกำจัดขยะได้ 2,500 ตันต่อวัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/ycdc-to-generate-electricity-with-methane-gas-from-landfills/#article-title

สปป.ลาว-ไทย เปิดตัวการชำระเงินด้วย QR ข้ามพรมแดน

สปป.ลาวและไทย เปิดตัวการเชื่อมโยงการชำระเงินด้วยระบบคิวอาร์โค้ดข้ามพรมแดน เพื่ออำนวยความสะดวกในกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ และส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว พิธีเปิดตัวจัดขึ้นที่แขวงหลวงพระบาง โดยมีธนาคารแห่ง สปป. ลาว (BOL) เป็นเจ้าภาพ โดยผู้ว่าการ BOL ได้กล่าวว่าความร่วมมือระหว่าง สปป.ลาว และไทย ในด้านบริการทางการเงินสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันในการบูรณาการในระดับภูมิภาค การพัฒนาเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรือง “เรายืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของเราในการกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมการเติบโตร่วมกันตลอดจนการเติบโตในระดับภูมิภาค” การเปิดตัวการชำระเงินผ่าน QR ข้ามพรมแดนถือเป็นการก้าวกระโดดในขอบเขตของเทคโนโลยีทางการเงิน โดยสัญญาว่าจะสะดวกยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน

ที่มา : https://english.news.cn/20240404/a42224e9ec0d4fa2b6697adf5b6046e1/c.html

รัฐบาล สปป.ลาว วางเป้าหมายการทูตทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน

กระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว หันมาใช้การทูตทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้จัดการประชุมระดับสูงเพื่อยกระดับการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการประชุมได้มุ่งเน้นไปที่ความจำเป็นในการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับนโยบายการค้าและการลงทุนที่เอื้ออำนวยของ สปป.ลาว เน้นเป็นพิเศษในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ กำหนดกลยุทธ์และยุทธวิธีที่รัฐบาลใช้ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การเพิ่มการค้า การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และการเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีและพหุภาคี ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศของ สปป.ลาว ที่ผ่านมามีมากกว่า 463,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ภาคการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานผลิตไฟฟ้า เหมืองแร่ บริการ และการเกษตร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_70_Govt_y24.php

ทางการกัมพูชากำหนดแผนเริ่มก่อสร้างคลองฟูนันเตโชในปีนี้

Sun Chanthol รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) กล่าวว่า โครงการก่อสร้างคลองฟูนันเตโชความยาว 180 กิโลเมตรของกัมพูชาจะเริ่มต้นในปีนี้ แม้จะยังมีความกังวลต่อผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดการก่อสร้างคลองดังกล่าว ถึงแม้จะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าได้ โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์ ที่คาดว่าจะดำเนินการด้วยเงินทุนจากจีน ด้านรองนายกฯ ได้กล่าวเสริมไว้ในระหว่างปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กัมพูชา-ประตูสู่อาเซียน” ในการประชุมสุดยอดธุรกิจกัมพูชา-อาเซียน 2024 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงพนมเปญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501467402/cambodia-plans-to-start-funan-techo-canal-work-this-year/

สมาคมญี่ปุ่น-กัมพูชา พร้อมดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศ

สมาคมญี่ปุ่น-กัมพูชา เปิดทำการอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 เม.ย.) ณ กรุงพนมเปญ โดยคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้ามาสู่กัมพูชา ด้านนาย Heng Sour รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมอาชีวศึกษา (MLVT) ได้กล่าวไว้ในระหว่างการเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงาน สมาคมญี่ปุ่น-กัมพูชา ซึ่งการจัดตั้งสมาคมดังกล่าวถือเป็นการสะท้อนความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น สำหรับนาย Takahashi Fumiaki ประธานสมาคมญี่ปุ่น-กัมพูชา พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพด้านการลงทุนในกัมพูชาให้กับบริษัทญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสู่กัมพูชามากขึ้น สำหรับญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 5 ของกัมพูชา รองจากจีน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และไทย ด้านคณะกรรมการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นไปแล้วกว่า 210 โครงการ ณ เดือนมกราคมปีที่แล้ว ด้วยมูลค่าการลงทุน 3.1 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ปี 1994 จนถึงปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501467404/japan-cambodia-association-to-help-attract-investors-sour-says/

‘VinFast’ รถไฟฟ้าสัญชาติเวียดนาม เจาะตลาดรถยนต์ EV ในไทย

วินฟาสต์ (VinFast) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเวียดนาม แข่งขันกับบริษัทรถยนต์จีนในการเจาะตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ทางบริษัทวางแผนที่จะส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ไปยังไทย ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ นายวู ดัง เยน ฮัง (Vu Dang Yen Hang) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของวินฟาสต์ ประเทศไทย กล่าวว่ารัฐบาลไทยสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และตลาดไทยเป็นเป้าหมายของบริษัท เนื่องจากตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ทางบริษัทเริ่มเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนให้แก่บริษัทต่างชาติ

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/business/motoring/2770804/vietnams-vinfast-focusing-on-thailands-ev-market

ฝรั่งเศส เยอรมนี สนับสนุนโภชนาการและการศึกษาสำหรับนักเรียนของ สปป.ลาว

สถานทูตฝรั่งเศสและเยอรมนีในประเทศลาวได้เยี่ยมชมโครงการอาหารและโภชนาการของโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการอาหารและโภชนาการโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) ในแขวงเซกองและสาละวัน โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนี โดยให้การช่วยเหลือแก่สตรีและเด็กผู้หญิงสามารถเข้าถึงโภชนาการและการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่พวกเขายังคงเผชิญกับผลกระทบจากความไม่มั่นคงทางอาหารและทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในปี 2566 ฝรั่งเศสสนับสนุนโครงการความช่วยเหลือด้านอาหารกว่า 139 โครงการทั่วโลก มูลค่ารวมกว่า 170 ล้านยูโร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_68_France_y24.php