กัมพูชาตั้งเป้าฉีดวัคซีนภายในประเทศ 10 ล้านคน โดยปัจจุบันฉีดไปแล้วกว่า 90%

กัมพูชาสามารถฉีดวัคซีนได้เกือบร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมายซึ่งได้กำหนดไว้ข้างต้นที่จำนวน 10 ล้านคน โดยตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2021 จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2021 ทางการกัมพูชาได้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วจำนวน 9,020,990 ราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.93 ของประชากรภายในประเทศ ที่มีจำนวนอยู่ที่ 16 ล้านราย นอกจากนี้ทางการกัมพูชายังได้ทำการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 (Booster) โดยใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 240,902 โดส ซึ่งได้เร่งทำการฉีดใน 7 จังหวัดที่มีชายแดนติดกับชายแดนของไทย รวมแล้วมีประชาชนจำนวน 7.5 ล้านราย มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 (Booster)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50916552/more-than-90-percent-of-the-targeted-10-million-population-in-cambodia-to-be-vaccinated-by-today-against-covid-19/

กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาหารือญี่ปุ่นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

กัมพูชาและญี่ปุ่นได้ร่วมประชุมระหว่างกันเพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในกัมพูชา โดยอธิบดีกระทรวงการท่องเที่ยวด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้จัดการประชุมทางวิดีโอกับ Naoya Okada ผู้แทนจากสถานทูตญี่ปุ่น และ Katsuhito Nabeshima ผู้ก่อตั้งบริษัท Yamato Green Co. Ltd. ซึ่ง Yamato Green ถือเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงการเกษตรในกัมพูชา ยกระดับคุณภาพอาหารและความปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมผลิตผลในท้องถิ่นในต่างประเทศ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและ Yamato Green ตกลงที่จะร่วมพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ให้เกิดความหลากหลาย ในด้านของการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวตามธรรมชาติ การท่องเที่ยวชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งกระทรวงกำลังเตรียมโครงการนำร่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในจังหวัดกำปงธม และโครงการปลูกพืชไร่ปลอดสารพิษ โดยภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 23 ของ GDP ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่าภาคส่วนนี้จะเพิ่มอีกร้อยละ 1.6 ในปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50916487/tourism-chief-holds-talks-with-japan-on-boost-to-agri-tourism/

จีนอนุญาตชาวเมียนมามาเดินทางกลับประเทศ หลังโควิดระบาดซ้ำ

ชาวเมียนมาที่ติด COVID-19 ในเมือง Shweli ของจีน ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.ถึง 10 ส.ค. 64 ที่จุดตรวจเข้า-ออกด่านชายแดนมูเซของรัฐฉาน ซึ่งชาวเมียนมาในมณฑลยูนนานถูกผลักดันให้เดินทางกลับประเทศ ตั้งแต่เดือนเม.ย. 64 เนื่องจากการกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 ของมณฑลยูนนาน ชาวเมียนมาที่ทำงานในเมือง Shweli ชายแดนจีน-เมียนมา มีส่วนผลักดันผลผลิตในประเทศของจีนและสามารถส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในเมียนมา

ที่มา : https://news-eleven.com/article/213811

รัฐบาลสปป.ลาวเผยแผนชำระหนี้

สปป.ลาวมีหนี้ต่างประเทศสะสมอยู่ที่ประมาณ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้ในประเทศตอนนี้อยู่ที่ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกิดจากการกู้เงินเพื่อสร้างสมดุลให้กับงบประมาณในอดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บุญชม อุบลปะสุทธิ์ กล่าวในการประชุมพิเศษของสภานิติบัญญัติที่ 9 ของ NA เมื่อเร็วๆ นี้ว่าทางรับบาลมีการวางแผนที่จะชำระหนี้ในช่วงห้าปีถัดไปจาก 2021-2025 และจาก 2026-2030 โดยระบุแหล่งรายได้หลายแหล่งเพื่อสร้างเงินทุนที่จำเป็นจะมาจากภาคเหมืองแร่และพลังงาน ด้วยแหล่งรายได้นี้รัฐบาลคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มเติมอย่างน้อย 10,000 พันล้านกีบ (ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในอีกห้าปีข้างหน้า

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt_158.php

ญี่ปุ่นเจรจาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรภายในกัมพูชา

กัมพูชาและญี่ปุ่นร่วมหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การพัฒนาและการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวหลังสิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 โดยอธิบดีกรมการพัฒนาการท่องเที่ยวกัมพูชาร่วมกับพันธมิตรญี่ปุ่น ได้จัดการเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่ออำนวยความสะดวกในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศกัมพูชาหลังสิ้นสุดการระบาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าการฟื้นตัวจะได้รับการส่งเสริมโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงอนุรักษ์รูปแบบใหม่ ภายใต้ Green Belt ตลอดจนการส่งเสริมมูลค่าเพิ่มในการท่องเที่ยว ด้วยความร่วมมือนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวจึงได้จัดทำโครงการนำร่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเทคนิคการเพาะปลูกสมัยใหม่ในอำเภอบาราย จังหวัดกำปงธม ซึ่งเป้าหมายของโครงการคือการศึกษาและค่อยๆ พัฒนาภาคการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผ่านการปลูกผักและผลไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50915060/cambodia-and-japan-in-talks-to-promote-agro-tourism-and-recovery-of-tourism-sector-post-pandemic/

กัมพูชาเร่งวางแผนระบบอาหารที่ยั่งยืนภายในประเทศ

กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) กำลังเร่งร่างแผนระดับชาติ สำหรับระบบอาหารที่ยั่งยืน (SFS) ของกัมพูชา ในแผนงานปี 2030 เพื่อส่งเสริมภาคส่วนนี้ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งการประชุมเพื่อตรวจสอบร่างสุดท้ายของ Roadmap เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ภายใต้การนำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MAFF และรองประธานสภาเพื่อการพัฒนาการเกษตรและชนบท (CARD) โดยมีผู้แทนจาก 13 กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม และสถาบันต่างๆ ตลอดจนพันธมิตรด้านการพัฒนา เช่น FAO, ADB, WB, WHO, GIZ และ UNICEF ซึ่งแผนงานมุ่งเน้นไปที่การสร้างความมั่นคงในระบบอาหาร ภายใต้คุณค่าทางโภชนาการที่มีมาตรฐาน มีความหลากหลายทางด้านผลิตภัณฑ์การเกษตร นำไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มขึ้นของเกษตรกรรายย่อย ไปจนถึงเป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มบุคคลเปราะบางภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50915722/drafting-of-national-roadmap-for-cambodias-sustainable-food-systems-accelerated/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าสัดส่วนมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล 20% ของ GDP

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่าเวียดนามเร่งตัวให้ทันตามเศรษฐกิจดิจิทัลโลกและอีคอมเมิร์ซ ขณะที่เว็บไซต์ของรัฐบาล อ้างจากร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัล คิดเป็น 20% GDP ภายในปี 2568 อีกทั้ง สมัชชาแห่งชาติได้กำหนดเป้าหมายภาคดิจิทัลไว้ที่ 30% ของ GDP ปี 2573 นับว่าเป็นการตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในปัจจุบัน มีสัดส่วนเพียง 8.2% ของ GDP นอกจากนี้ Euromonitor International ยังได้ประมาณการว่าอีคอมเมิร์ซ มีสัดส่วนเพียง 3% ของตลาดค้าปลีกเวียดนามในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นมูลค่าที่น้อยที่สุดในบรรดาเศรษฐกิจหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-aims-digital-economy-to-represent-20-pct-of-gdp-4340822.html

‘เวียดนาม’ เป็นผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อันดับ 3 ของโลก

สมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก  (WINA) รายงานว่าในปีที่แล้วผู้บริโภคชาวเวียดนามบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ประมาณ 7.03 พันล้านห่อ รองจากฮ่องกงและอินโดนีเซีย ขณะที่ ตามตัวเลขสถิติของสมาคมฯ ชี้ให้เห็นว่าตลาดเอเชียเป็นผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากที่สุดในโลก ด้วยสัดส่วน 56.45% ของปริมาณการบริโภคทั่วโลกในปีที่แล้ว โดยเฉพาะจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ผลการสำรวจของบริษัท Nielsen Vietnam แสดงให้เห็นว่าอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศ เพิ่มขึ้น 67% ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลก แต่อัตราการบริโภคไม่สูงเมื่อเทียบกับเวียดนาม อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ทำให้ความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปริมาณการบริโภคเพิ่มขึ้น 14.79% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปี 2563

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-remains-a-top-three-instant-noodles-consumers-34865.html

ปีงบฯ 63-64 ค้าชายแดนเมียนมา-บังกลาเทศ ดิ่ง ! 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ของปีงบประมาณ 2563-2564 การค้าชายแดนระหว่างเมียนมา-บังกลาเทศ อยู่ที่ 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นการส่งออก 16.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้า 18.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน การส่งออกลดลง 9.5 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้าลดลงเกือบ 6.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การค้าชายแดนลส่วนใหญ่ผ่านจุดเข้าเมืองซิตต์เวย์และเมืองมองตอ โดยผสินค้าที่ซื้อขายระหว่างสองประเทศ ได้แก่ ไม้ไผ่ ขิง ถั่วลิสง กุ้งและปลาทะเล พลัมแห้ง กระเทียม ข้าว ถั่วเขียว ผ้าห่ม ลูกอม แยมลูกพลัม รองเท้า อาหารแช่แข็ง สารเคมี หนัง ผลิตภัณฑ์จากปอกระเจา ยาสูบ พลาสติก ไม้ เสื้อถัก และเครื่องดื่ม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-bangladesh-border-trade-decreases-16-mln-this-fy/#article-title

ก.แรงงาน เตรียมตำแหน่งงาน 8 แสนอัตรา รองรับคนตกงานช่วงโควิด

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.64 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายอธิบดีกรมการจัดหางาน สำรวจความต้องการแรงงานจากสถานประกอบการทั่วประเทศ และดำเนินการจัดหางานเชิงรุกโดยเตรียมตำแหน่งงานไว้ จำนวน 814,198 อัตรา แบ่งเป็น แรงงานด้านฝีมือ (แรงงานไทย)จำนวน 389,495 อัตรา ธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าว จำนวน 424,703 อัตรา ในส่วนธุรกิจที่พึ่งแรงงานต่างด้าวนั้น แรงงานไทย สามารถสมัครได้เช่นกัน โดยจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ แผงวงจรอิเล็กโทรนิกส์ ฯลฯ  นอกจากนี้ ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับเปลี่ยนการจัดหางานแบบเดิมสู่รูปแบบ “นัดพบแรงงานออนไลน์” เต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/economics/news_6564251