รัฐเล็งช่วยค่าจ้างแรงงานท่องเที่ยวคนละครึ่งพยุงกิจการ

“พิพัฒน์” เตรียมคุย “สุชาติ” ทำโค-เพย์ จ่ายค่าจ้างเดือนละครึ่ง 7,500 บาท หวังช่วยเอกชนท่องเที่ยวทั้งระบบจ้างงานเอาไว้ ไม่ต้องปิดกิจการจากผลกระทบของไวรัสโควิด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะหารือกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือแรงงานภาคการท่องเที่ยวทั้งระบบที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เบื้องต้นรัฐบาลอาจนำแนวทางการร่วมจ่ายเงินค่าจ้าง (โค-เพย์) มาใช้ โดยรัฐบาลและผู้ประกอบธุรกิจจะร่วมกันจ่ายค่าจ้างให้พนักงานคนละครึ่ง ฝ่ายละ 7,500 บาทต่อเดือน เพื่อพยุงการจ้างงานเอาไว้ในระบบต่อไป หลังจากตอนนี้มีผู้ประกอบธุรกิจหลายรายได้รับความเดือดร้อนและอาจจำเป็นต้องปิดกิจการลงหากไม่มีแนวทางมาช่วยเหลือ ทั้งนี้ในการช่วยเหลือรูปแบบของการร่วมจ่ายเงินค่าจ้างรายเดือนนั้น จะกำหนดให้ช่วยเหลือครอบคลุมการจ่ายค่าจ้างสูงสุดรายละไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งรัฐและผู้ประกอบธุรกิจจะช่วยกันจ่ายคนละครึ่ง แต่ระยะเวลาที่เหมาะสมนั้น เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะช่วยเหลือ 1 ปี หรือเป็นเวลากี่เดือน เพราะต้องพิจารณาวงเงินที่จะใช้ด้วย เช่น วงเงินของกองทุนประกันสังคม หรือขอใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากใช้เงินในก้อนหลังก็ต้องหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/819774

อคส.ลุยรีแบรนด์ข้าวถุง เป้ายอดปีนี้1,300 ล้าน

อคส.เดินหน้ารีแบรนด์ข้าวถุงครั้งใหญ่ ชูคุณภาพดีราคาถูก เน้นขายเข้าร้านธงฟ้า หลังรายได้ขายเข้าเรือนจำวูบกว่า 40% จากเสียภาพลักษณ์ทุจริตถุงมือยาง ทำส้มหล่นใส่ อ.ต.ก. เร่งกู้ตลาดคืน ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 1,300 ล้านบาท ลุ้นตลาดจีนช่วยดันยอด 4,000 ล้าน นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เผยเดินหน้าต่อยอดในส่วนของงานปี 2563 แม้ว่ารายได้จะลดลงจากการจำหน่ายข้าว เข้าเรือนจำจะลดลงไปกว่า 40-50% จากเกิดกรณีทุจริตถุงมือยางช่วงปลายปีและอยู่ระหว่างการเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เรือนจำหันไปซื้อข้าวจากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.)เพิ่มขึ้น เบื้องต้นมีแผนจะทำข้าวถุงที่มีคุณภาพแต่ราคาถูกลงจากเดิม และปรับคุณภาพข้าวใหม่ มีการหาข้าวสายพันธุ์อื่นๆ มาทำตลาด เช่นจากกลุ่มเกษตรกรลพบุรี กลุ่มเกษตรกรบุรีรัมย์ เป็นต้น สำหรับช่องทางการจำหน่ายข้าวถุงแบรนด์ใหม่ของอคส. จะยังคงเน้นไปที่ร้านธงฟ้า ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และในอนาคตจะมีไปวางจำหน่ายตามหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก ส่วนข้าวหอมมะลิจะเน้นขายเข้าโมเดิร์นเทรด วิลล่ามาร์เก็ต  และมีแผนส่งทำตลาดออนไลน์ในจีนผ่าน T-Mall  ที่กระทรวงพาณิชย์มีเครือข่ายอยู่ ทั้งนี้ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ไว้ที่ 1,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีรายได้ 1,260 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการขายข้าวเข้าเรือนจำ หาก สามารถจำหน่ายข้าวเข้าเรือนจำทั่วประเทศได้จะทำให้มียอดขายแบบก้าวกระโดด ตั้งเป้ารายได้ปี 2565 ไว้ที่ 1,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ 10% แต่หากการจำหน่ายข้าวถุงประสบความสำเร็จในตลาดจีน อคส.น่าจะมีรายได้แตะ 4,000 ล้านบาท ได้ในปี 2565 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/464255

บรูไนเจ้าภาพประชุมอาเซียนนัดแรก ผลักดัน 3 ยุทธศาสตร์ ฟื้นฟู-ดิจิทัล-ยั่งยืน

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (SEOM Retreat) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยประเทศบรูไนดารุสซาลาม ทำหน้าที่ประธานอาเซียน บรูไน ได้เสนอประเด็นสำคัญที่ต้องการผลักดันให้สำเร็จ ภายในปี 2564 จำนวน 10 ประเด็น ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการฟื้นฟู 2.ด้านการเป็นดิจิทัล และ 3.ด้านความยั่งยืน  สำหรับยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ที่ประธานอาเซียนต้องการผลักดันมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ด้านการฟื้นฟู ส่งเสริมมาตราการค้าเสรี การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวและการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา 2. ด้านการเป็นดิจิทัล จัดทำแผนงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน 3. ด้านความยั่งยืน เช่น การจัดทำกรอบการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย สหกรณ์ และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม  ในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความยั่งยืนของภูมิภาคภายหลังการระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3191228

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชากับไทยลดลงในช่วง ม.ค. – พ.ย. 2020

การค้าข้ามพรมแดนระหว่างกัมพูชาและไทยลดลงร้อยละ 22 ในเดือน ม.ค. – พ.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันตั้งแต่ต้นปี (YTD) ของปี 2019 โดยการค้าทวิภาคีในช่วงเวลาดังกล่าวมีมูลค่าอยู่ที่ 6.6 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 8.6 พันล้านดอลลาร์ ตามสถิติของสถานทูตกัมพูชาประจำปี 2019 ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 1.1 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าวลดลงร้อยละ 52 YTD จาก 2.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 ส่วนการนำเข้าจากไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 6.3 พันล้านดอลลาร์ลดลงร้อยละ 12 YTD จาก 5.6 พันล้านดอลลาร์ ที่บันทึกไว้ในเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนในปี 2019 ทำให้กัมพูชาขาดดุลการค้ากับไทย 4.5 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนพฤศจิกายน โดยการค้าข้ามพรมแดนแต่เพียงช่องทางเดียวของไทยกับกัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 572 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปไทยในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 59 ล้านดอลลาร์ลดลงร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ได้ที่ 135 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าจากไทยในเดือนพฤศจิกายนสูงถึง 513 ล้านดอลลาร์แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 28

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50803109/cambodia-thailand-2020-trade-down-jan-nov/

อาคมถกนายกฯเตรียมเยียวยาประชาชน ลั่นเงินมีพอไม่ต้องกู้เพิ่ม

อาคม ถกนายกฯ มาตรการเยียวยาโควิด ยันมีแจกแน่ แต่ขอเลือกก่อนว่าแบบ เราไม่ทิ้งกัน หรือ คนละครึ่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้เข้าหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถึงรายละเอียดบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่โดยกระทรวงการคลังจะกลับมาทำการบ้านเพิ่มเติม ขณะนี้รัฐบาลได้มีการเตรียมการเรื่องบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว ซึ่งกำลังพิจารณารูปแบบ เช่น การเยียวยาเหมือนเดิม 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน หรือจะใส่เม็ดเงินเหมือนโครงการคนละครึ่งหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่คลังต้องพิจารณา “ข้อเรียกร้องให้แจกเงิน 4,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือนเยียวยาประชาชนนั้น เป็นข้อเสนอของเอกชน ไม่ทราบว่าเสนอบนพื้นฐานของอะไร แต่ส่วนของรัฐบาลได้มีการเตรียมการเรื่องบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งในรายละเอียดจะต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่ยังไม่ได้เสนอ ครม.ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ ต้องทำการบ้านให้จบก่อน” ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะใช้วงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยล่าสุด กระทรวงการคลังกู้เงินจากวงเงินดังกล่าวแล้ว 3.7 แสนล้านบาท และเบิกจ่ายเงินแล้ว 3.6 แสนล้านบาท จึงยังมีเพียงพอ ยังไม่จำเป็นต้องขอกู้เงินเพิ่มเติม

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/818373

รัฐบาลกัมพูชาจัดหาเงินเพิ่มสำหรับการกักกันแรงงานที่เดินทางกลับจากไทย

รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจเพิ่มงบประมาณจัดสรรให้กับ 4 จังหวัดชายแดนสำหรับการกักกันแรงงานกัมพูชาที่เดินทางกลับจากประเทศไทยจำนวน 700 ล้านเรียล (170,000 ดอลลาร์) รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่าจังหวัดพระตะบองและบันเตียเมียนเจยได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมอีก 200 ล้านเรียล (49,000 ดอลลาร์) จังหวัดอุดรมีชัยได้รับเงินเพิ่มอีก 100 ล้านเรียล (24,000 ดอลลาร์) สำหรับการต่อสู้กับ โควิด-19 ในภูมิภาค โดยรายงานอ้างว่าแม้ว่าจุดผ่านแดนของไทยจะยังคงถูกปิด แต่ก็ยังคงเปิดรับแรงงานกัมพูชาที่มีความประสงค์เดินทางกลับมายังกัมพูชา ซึ่งจำเป็นต้องมีการกักกัน 14 วัน ถึงจะอนุญาตให้เดินทางกลับไปยังบ้านพักได้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50802078/government-provides-additional-700-million-riels-for-quarantining-of-workers-returning-from-thailand/

คุมเข้มทุเรียนเพื่อนบ้านสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งออกจีน

กรมการค้าต่างประเทศ สั่งคุมเข้มทุเรียนเพื่อนบ้านสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งออกไปจีน ห่วงกระทบภาพลักษณ์ทุเรียน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า  กรมฯ ได้รับแจ้งให้สำนักงานพาณิชย์ และผู้ส่งออกจังหวัดจันทบุรีเร่งตรวจสอบ หลังพบว่ามีการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน มาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทย พร้อมกับใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งถือเป็นการปลอมแปลงถิ่นกำเนิด และส่งผลต่อภาพลักษณ์รวมถึงชื่อเสียงของทุเรียนไทย “เพื่อป้องกันการสวมสิทธิทุเรียนไทย และป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิด กรมฯ จึงได้ดำเนินการเพิ่มสินค้าทุเรียนในบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนในการพิจารณาออกหนังสือรับรองฯ เข้มงวดและรัดกุมยิ่งขึ้น” หรับสินค้าทุเรียนที่ถูกสวมสิทธินั้น ประกอบด้วย ทุเรียนสด  พิกัดศุลกากร 0810.60 และทุเรียนแช่แข็ง  พิกัดศุลกากร 0811.90 ซึ่งกรมฯ ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองฯ ทุกประเภท สำหรับสินค้าทุเรียนดังกล่าว โดยให้ผู้ยื่นขอหนังสือรับรองฯ ต้องระบุข้อความยืนยันแหล่งที่มาของทุเรียนในประเทศที่ขอรับหนังสือรับรองฯ เพิ่มเติมลงในแบบขอรับการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร  ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.63 เป็นต้นไป นายกีรติกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว จะเป็นการดำเนินงานเชิงรุกในการป้องกันการสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าทุเรียน เพื่อให้ไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่า ทุเรียนที่ส่งออกจากไทยเป็นทุเรียนที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง โดยจากสถิติการส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งของไทย ปี 63 (ม.ค.-ต.ค.) ปริมาณรวม 631,394 ตัน มูลค่า 69,153 ล้านบาท ปริมาณลดลง 4.2% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 42.9%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 โดยส่งออกไปยังประเทศ 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม ตามลำดับ

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/818113

ผู้เชี่ยวชาญแนะรัฐบาลกัมพูชาลดภาษีนำเข้าสินค้าบางส่วนลง

กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแนะให้ลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรกลไฟฟ้าและชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อลดต้นทุนการผลิตในภาคการผลิตลง โดยจากการสำรวจของกระทรวงฯ พบว่าอัตราภาษีนำเข้าสินค้าและชิ้นส่วนของกัมพูชาในปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 15 ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและเวียดนามตรึงไว้ที่ร้อยละ 5 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าหากกัมพูชาต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางด้านการผลิตที่ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการส่งออกและยังส่งเสริมการกระจายความเสี่ยงจากตลาดส่งออกที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยจะต้องดำเนินการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าประเภทเครื่องจักรกลร่วมด้วยเพื่อลดต้นทุนการผลิตสำหรับบริษัทข้ามชาติที่จะทำการลงทุนหรือทำการพัฒนาในกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลได้เคลื่อนไหวในการลดอัตราภาษีในสินค้าบางรายการ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมาได้ประกาศลดภาษีนำเข้าและภาษีพิเศษสำหรับสินค้า 35 ประเภท จุดประสงค์คือเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในท้องถิ่นเนื่องจากการเติบโตของภาคส่วนเหล่านั้นทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างโอกาสในการจ้างงานมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50800405/experts-cite-need-for-import-tariff-reductions/

เอกชนเชียร์บิ๊กตู่ล็อกดาวน์แค่พื้นที่เสี่ยง

เอกชนเชียร์บิ๊กตู่ล็อกแค่พื้นที่เสี่ยง หวั่นล็อกทั้งประเทศ ศก.เจ็บหนักแน่ จี้รัฐเพิ่มสิทธิคนละครึ่งอีก 20-30 ล้านราย หวังหล่อเลี้ยงร้านค้า–ลดภาระประชาชน  พับเราเที่ยวด้วยกันไปก่อน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับมาตรการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ประกาศไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ หรือประกาศเคอร์ฟิว โดยใช้วิธีแก้ปัญหาเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงไป เนื่องจากหากประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรงแน่นอน  เพราะตอนนี้ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะเสี่ยงสูงทั้งหมด พื้นที่ไหนมีปัญหา ก็เลือกแก้เฉพาะจุด มีความเหมาะสมมากกว่า พื้นที่ไหนพอไปได้ ความเสี่ยงน้อย ก็ให้เฝ้าระวัง และป้องกันอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อให้เศรษฐกิจยังพอขับเคลื่อนได้  นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เบื้องต้นได้ประเมินความเสียทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดรอบ 2 เสียหายประมาณวันละ 3,000 – 5,000 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 1–1.5 แสนล้านบาท เป็นผลจากประชาชนชะลอการใช้จ่าย เทียบจากการประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศครั้งแรกช่วงเดือน มี.ค.–เม.ย. 63 มีมูลค่าความเสียหายวันละ 10,000 ล้านบาท แม้การระบาดรอบ 2 จะยังไม่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่มีมูลค่าความเสียหายสูง เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้กึ่งๆ ล็อกดาวน์ทั้งประเทศแล้ว และจังหวัดที่ล็อกดาวน์ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ทั้งนี้ภาครัฐ ควรกระตุ้นมาตรการทางเศรษฐกิจลงมาเพิ่มเติมในไตรมาสแรก เพื่อชดเชยมูลค่าเศรษฐกิจหายไปเป็นแสนล้านบาท โดยพาะมาตรการคนละครึ่ง ที่เห็นผลอย่างชัดเจนในการช่วยกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และช่วยลดภาระค่าครองชีพ ควรเปิดกว้างเพิ่มเติมอีก 20 -30 ล้านราย เพื่อกระจายอย่างทั่วถึง ซึ่งไม่รวมกับผู้ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้ว ขณะที่โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ควรชะลอไปก่อน รอให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วกลับมาให้คนเดินทางท่องเที่ยวใหม่ เชื่อว่า หากเติมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปี 64 ขยายตัวได้บวก 2-3% แต่ถ้าไม่มีมาตรการกระตุ้นออกมา จีดีพีจะขยายตัวในกรอบ 0-2% เท่านั้น      

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/816820

เอกชนวอนรัฐแจงพร้อมสนองนโยบายล็อกดาวน์

หอการค้าตะวันออกวอนรัฐชี้แจงมาตรการล็อกดาวน์-ภาคท่องเที่ยวจี้ใช้วัคซีนด่วนหวั่นเสียหายหนัก นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย หรือประธานหอการค้าภาคตะวันออก กล่าวว่า หากรัฐจะประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ภาคตะวันออก ต้องการให้รัฐเรียกผู้ประกอบการมาหารือร่วมกันก่อน เพื่อทำความเข้าใจในมาตรการต่างๆ เนื่องจากในพื้นที่มีโรงงานจำนวนมาก ที่ต้องทำงานต่อเนื่องไม่สามารถปิดได้ทันที เช่น โรงงานปิโตรเคมี เพราะต้องเร่งผลิตตามคำสั่งซื้อ ขณะเดียวกันขอให้รัฐชี้แจงให้ชัดเจนถึงความหมายของ ล็อกดาวน์ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน เนื่องจากขณะนี้มีความเข้าใจความหมายที่แตกต่างกัน “ถ้าล็อกดาวน์แล้วไม่ยืดเยื้อผู้ประกอบการก็สามารถเข้าใจได้ เพราะตอนนี้ โรงแรม ท่องเที่ยว กระทบอย่างหนัก และไม่รู้ว่าจะทนได้นานแค่ไหน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ครั้งแล้ว ซึ่งครั้งแรก โควิดที่เกิดต้นปี ครั้งที่ 2 กรณีเกิดการระบาดจากทหารอียิปต์ และครั้งนี้ที่เกิดระบาดระลอกใหม่ ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ว่าจำนวนเท่าใด แต่คาดว่าหลายพันล้านบาท” นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวว่า ทางภาคเอกชนท่องเที่ยว โดยสมาคมขอให้รัฐบาลรีบพิจารณานำวัคซีนมาใช้โดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นของประเทศใดก็ได้ นอกเหนือจากที่รัฐได้ทำสัญญาไว้ก่อนหน้านี้เพื่อสร้างความมั่นใจ ให้กับประชาชน และจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะกิจการไม่จำเป็นต้องปิดอะไรมาก ส่วนเรื่องของการท่องเที่ยวในประเทศได้รับผลกระทบแน่นอนจากการปิดกิจการต่างๆ โดยเอกชนยอมรับสถานการณ์พร้อมทำตามนโยบาย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/816626