“กาแฟเวียดนาม”โตแกร่ง สกัดแบรนด์”สตาร์บัคส์”รุ่ง

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มท้องถิ่นในเวียดนามที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แถมประเทศนี้ยังมีร้านคาเฟ่มากกว่าที่อื่น ๆ ในโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อสตาร์บัคส์รุกเข้าไปทำตลาดในเวียดนามเมื่อปี 2556 จึงเจอกับการคาดหวังที่หลากหลายจากแบรนด์อเมริกันชื่อดังอื่นๆ ทั้งแมคโดนัลด์และซับเวย์ “เหวียน กิมเงิน” เจ้าของร้านคาเฟ่แห่งหนึ่งในโฮจิมินห์  ซิตี้ เล่าว่าสตาร์บัคส์ไม่ใช่ร้านกาแฟที่ผู้คนทั่วไปอยากเข้าไปนั่งดื่มได้ทุกวัน ผมอยากทำกาแฟที่มีคุณภาพและให้บริการกาแฟที่ผู้คนสามารถหาซื้อได้

ทั้งนี้ เมื่อดูจากมูลค่าทางการตลาดกาแฟและจำนวนร้านกาแฟ พบว่าเวียดนามเป็นตลาดกาแฟใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์โนมา (knoema) ระบุว่า ไตรมาสแรกของ ปี 2566 เวียดนามมีสตาร์บัคส์เพียง 87 สาขา ถือว่ามีสาขาน้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบรนด์ที่มีสาขามากที่สุด คือ ไฮแลนด์สคอฟฟี มีสาขาในเวียดนามมากถึง 573 สาขา รองลงมาเป็นคอฟฟีเฮาส์ 154 สาขา ขณะที่แบรนด์ฟุกลองมี 111 สาขา และแบรนด์ตรุงเหวียนเลเจนด์ใกล้แตะ 100 สาขา

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/1058824

“เวียดนาม” เผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่กับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2565 (e-Conomy SEA 2022) ฉบับที่ 7 โดย Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามในปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะพุ่งทะยานแตะ 49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ซึ่งเป็นการเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยตัวเลขของรายได้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ของเวียดนาม อยู่ที่ 148 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว คิดเป็น 14.26% ของ GDP และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่คิดเป็น 20% ของ GDP ประเทศ ทำให้เวียดนามจำเป็นต้องรักษาการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลต่อปีที่ประมาณ 20% ซึ่งสูงกว่าประมาณการณ์การขยายตัวของ GDP ที่คาดการณ์ไว้มากกว่าสามเท่า

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1498513/central-bank-must-keep-a-close-on-the-financial-market-wb.html

การล่มสลายของแบงก์ SVB ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนาม

Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากกองทุนเพื่อการลงทุน VinaCapital กล่าวว่าการล่มสลายของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์แบงก์ (Silicon Valley Bank: SVB) จะไม่สร้างผลกระทบต่อตลาดหุ้นและเศรษฐกิจเวียดนาม และยังไม่พบความเสี่ยงจากเหตุการณ์ข้างต้นที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรหรือความสามารถในการชำระหนี้ของธนาคารในเวียดนาม ทั้งนี้ ธนาคารเวียดนามส่วนใหญ่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลอยู่งบแสดงฐานะการเงิน และราคาพันธบัตรรัฐบาลเวียดนาม อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง 15% ตั้งแต่กลางปี ​​2564 และอัตราผลตอบแทนพุ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลเวียดนาม อยู่ที่ราว 6% ของสินทรัพย์รวมของธนาคาร

นอกจากนี้ การล่มสลายของธนาคาร SVB ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนาม แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 20% ของ GDP

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1500329/silicon-valley-bank-collapse-not-to-impact-vn-vinacapital.html

บริษัทสหรัฐฯ เล็งสำรวจโอกาสลงทุนในเวียดนาม

ตัวแทนของบริษัทในสหรัฐฯ มากกว่า 50 แห่งจะเดินทางเยือนเวียดนามระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุนและโอกาสทางธุรกิจภายใต้โครงการประจำปีที่จัดขึ้นโดยสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ทั้งนี้ คุณ Vũ Tự Thành ตัวแทนสภาธุรกิจเวียดนาม กล่าวว่าองค์กรได้จัดงานดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี และในครั้งนี้นับว่าเป็นภารกิจที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในประเทศ บริษัทสหรัฐฯ บางรายมีมุมมองที่น่าสนใจกับเวียดนามในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิตและผู้ให้บริการ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงถึง 8% ในปีที่แล้ว โดยหนึ่งในบริษัทสหรัฐฯ คือ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่ต้องการให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในเวียดนามและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และยังรวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้แก่ Pfizer, Johnson & Johnson, Abbott, Visa, Citibank, Meta และ Amazon เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1499610/spacex-apple-pfizer-among-us-businesses-exploring-investment-opportunities-in-vie-t-nam.html

“เศรษฐกิจเวียดนาม” ฟื้นตัวแข็งแกร่ง

การรักษาความสมดุลและเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสถานการณ์โลกในปัจจุบันอยู่ในช่วงความไม่แน่นอนและมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 พบว่าภาคเกษตร ป่าไม้ และประมง และภาคอุตสาหกรรม มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญที่ 3.36%, 7.78% และ 9.99% ตามลำดับ ตามมาด้วยผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนใหม่และธุรกิจที่กลับมาดำเนินกิจการ มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ยอดการค้ารวมของเวียดนาม อยู่ที่ 732.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนามมียอดเกินดุลการค้า 11.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสถิติสูงที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเวียดนามกำลังเผชิญกับความยากลำบาก ตลอดจนความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก สาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และแรงกดดันเงินเฟ้อ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economy-seeing-strong-recovery/250088.vnp

“เวิลด์แบงก์” ชี้ ธ.กลาง จับตาตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด

นางแคโรลีน เติร์ก ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำเวียดนาม กล่าวว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มมุ่งหน้าสู่ความปั่นป่วน ขณะที่เผชิญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อุปสงค์ลดลง เงินเฟ้อสูงขึ้นและการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด โดยเฉพาะด้านสินเชื่อ ของธนาคารกลางทั่วโลก ความคิดเห็นข้างต้นนั้นเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ที่ธนาคารสหรัฐฯ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ (ธนาคารใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ) ตามมาด้วยธนาคารซิกเนเจอร์ และธนาคารซิลเวอร์เกตที่ร่วงลงมา ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก ซึ่งผู้ที่มีอำนาจในการกำกับนโยบายควรให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ในครั้งนี้และเตรียมวางแผนที่จะเข้ามาแทรกแซง หากมีความจำเป็น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1498513/central-bank-must-keep-a-close-on-the-financial-market-wb.html

“เวียดนาม” เผย 500 บริษัทที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในปี 2566

ตามรายงานของ Vietnam Report JSC และสำนักข่าว VietNamNet ระบุว่าบริษัท Tin Viet Finance JSC, บริษัท Dolphin Sea Air Services Corporation และบริษัท VPS Securities JSC เป็น 1 ใน 10 บริษัทแรกในกลุ่ม 500 บริษัทที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในเวียดนาม (FAST500) ทั้งนี้ จากผลการสำรวจบริษัท 500 รายที่เติบโตเร็วที่สุดในเวียดนาม พบว่าอัตราการเติบโตของรายได้ในกลุ่มบริษัท FAST500 ขยายตัวดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงปี 2560-2566 โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ทำให้อัตราการเติบโตของกลุ่มดังกล่าว ขยายตัว 2.3% สะท้อนให้เห็นถึงการการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ และหากสอบถามกลุ่มตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 81.3% ยังคงรักษาระดับการเติบโตของรายได้ในปี 2565 และ 70% ทำกำไรมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/500-fastestgrowing-companies-in-2023-announced/249980.vnp

ตลาดค้าปลีกเวียดนาม ผลักดันโมเมนตัม “อีคอมเมิร์ซ”

ตลาดค้าปลีกของเวียดนามมีสัญญาณการฟื้นตัวในเชิงบวก โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ หลังโควิด-19 และในบริบทใหม่ของตลาด ทำให้ธุรกิจและผู้ค้าปลีกหลายรายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจากข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าในปี 2565 พื้นที่ภาคค้าปลีกให้เช่าในตัวเมืองในภาคใต้ของประเทศ ยังคงอยู่ในระดับเท่าเดิม เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 1.5 ล้านตารางเมตร ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Vietnam Association of Realtors (VARs) ระบุว่าความต้องการพื้นที่ค้าปลีกในศูนย์การค้าในเมืองใหญ่ เช่น โฮจิมินห์ จะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากการขยายตัวของแบรนด์ต่างๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคให้ความสนใจแบรนด์สินค้าในกลุ่มสุขภาพ กีฬา และกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความต้องการอาคารของอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/retail-market-motivates-e-commerce-gain-momentum-post1006824.vov

“เวียดนาม” เผยราคารถยนต์แพง

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่ารถยนต์ของเวียดนามมีราคาที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากอัตราภาษีสูงและผลผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ โดยสาเหตุประการหลังนี้ ถือเป็นข้อบ่งชี้หลักที่มาจากผู้ผลิตในประเทศที่มีกำลังการผลิตที่ต่ำมากและผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีระบบการทำงานที่ไม่ซับซ้อน เน้นไปที่การเคลือบผิว การเชื่อม การประกอบและการทดสอบ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ความด้อยพัฒนาของอุตสาหกรรมยังเป็นข้อกังวลต่อกระทรวงฯ เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีความสัมพันธ์ที่อ่อนแอต่อกัน รวมถึงส่วนประกอบบางส่วนเลิกผลิต ด้วยอัตราความผิดพลาดสูงและคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1495148/cars-in-viet-nam-not-coming-cheap.html

กสิกรไทย บุก เวียดนามเต็มขั้น ตั้งเป้าเป็น 1 ใน 20 ธนาคารใหญ่ที่สุด ภายในปี 2570

กสิกรไทยพร้อมขยายธุรกิจในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จอีกขั้น ด้วยการเติบโตเป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ติดอยู่ใน 20 อันดับแรกในประเทศเวียดนาม หวังเป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบ (Transactional Ecosystem) ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มองค์กร บริษัทขนาดกลาง กลุ่มค้าปลีก และลูกค้ารายย่อย ตั้งเป้าหมายรายได้สุทธิถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.32 หมื่นล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้างที่ 1.8 แสนล้านบาท และมีฐานลูกค้าเวียดนาม 8.4 ล้านรายภายในปี 2570

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/2023/27969/