การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชากับไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5,569 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีลดลงร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนกัมพูชาส่งออกไปไทยรวม 958 ล้านดอลลาร์ ลดลงถึงร้อยละ 48 ในขณะเดียวกันการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชาจากไทยลดลงร้อยละ 9 มาอยู่ที่ 4,611 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการลดลงของการค้าทวิภาคีส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทำให้เกิดปัญหาในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนจากความเข้มงวด ทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างสองประเทศเป็นไปได้ยาก ในแง่ของการลงทุนแม้ว่าโลกจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่บริษัทไทยในกัมพูชาก็ยังคงดำเนินการผลิตตามปกติต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50776444/cambodia-thailand-bilateral-trade-5-5-billion-in-first-nine-months/

ดันอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนสร้างลงทุนเพิ่ม 500 ล.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) และสนับสนุนในเกิดการลงทุนจากภาคธุรกิจเอกชนไปพร้อมกัน โดยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการ เหมืองแร่เตรียมจัดงานประชาสัมพันธ์โครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน หรือ Green Scrap Metal Thailand 2020 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะลดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ลดการสร้างของเสียในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการนำกลับมาผลิตในรูปแบบใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูนิโด) กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษโลหะ สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าวคาดว่าจะส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานให้เข้าร่วมโครงการ 1,889 ราย และสนับสนุนผู้ประกอบการให้เป็นโรงงานนำร่อง 5-10 ราย ซึ่งคาดว่าจะสร้างให้เกิดมูลค่าการลงทุนของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการในการปรับปรุงเครื่องจักรและปรับปรุงกระบวนการผลิตมากกว่า 560 ล้านบาท การดำเนินงานโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2566 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินจากหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการอีกรวมเป็นเงิน 33.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  โดยกิจกรรมหลักของโครงการจะมีการทบทวนกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  การประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับยูป๊อป รวมทั้งส่งเสริมการใช้แนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Technique) และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practice) เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการติดตามประเมินผลโรงงานนำร่องที่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป การจัดการเศษโลหะอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมหาศาล  เพราะนำกลับมารีไซเคิลได้ ลดของเสียในระบบอุตสาหกรรม การใช้พลังงานในกระบวนการผลิตก็ลดลง  ซึ่งงาน Green Scrap Metal Thailand 2020 จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนเพื่อสร้างประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมต่อไป”

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/454238?utm_source=sub_category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=industry

หัวเว่ยดันไทยดิจิทัลฮับอาเซียนแนะรัฐลงทุน-ลุย 5G เพิ่มจีดีพีประเทศ

รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด บรรยายพิเศษ “ดิจิทัลอีโคซิสเต็มยกระดับศักยภาพไทยสู่ศูนย์กลางภูมิภาค” ในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ว่าการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งบริษัทมองเป้าหมายให้ไทยเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียนทั้งนี้ จากการศึกษาของนักวิเคราะห์มองว่าการลงทุนด้านไอทีซี 16-20% จะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ประมาณ 1% หลายประเทศนำดิจิทัลอีโคโนมีมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งไทยยังพึ่งพาค่อนข้างน้อย ไม่ถึง 20% อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยเริ่มเข้าสู่โครงข่ายเทคโนโลยี 5G มากขึ้น ทำให้ไทยสามารถผลักดันจีดีพีประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสำหรับดิจิทัลอีโคโนมีไม่ใช่เรื่องใหม่ และหลังจากนี้จะมีความสำคัญมาก ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาโครงข่าย 4G และ 5G รวมถึงไทยซึ่งเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่เริ่มขับเคลื่อน 5G เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ถือว่าไทยเลยขั้นแรกมาแล้ว อยู่ในช่วงของการเตรียมความพร้อมเรื่อระบบคลาวด์ รวมถึงนำดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามาใช้งาน และสุดท้ายจะนำเอไอเข้ามาใช้

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_2405565

แชมป์ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ทูน่ากระป๋อง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปของไทยเติบโตได้ดี แม้อยู่ในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน เพราะผู้ประกอบการมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ประกอบกับ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มมากขึ้น และไทยยังมีแต้มต่อจากการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ช่วยปลดล็อกกำแพงภาษีศุลกากรที่ประเทศคู่เอฟทีเอเก็บจากสินค้าของไทย ส่งผลให้ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเล กระป๋องและแปรรูปอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และส่งออกทูน่ากระป๋องอันดับ 1 ของโลก

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1957054

เอกชนลุ้นกำลังซื้อฟื้น-ขายรถพุ่ง นักลงทุนจีนชี้อีอีซียังมีความหวัง

นายายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์เดือน ก.ย.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 150,345 คัน สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนมากกว่า 100,000 คันเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) ลดลง 40.13% อยู่ที่ 453,643 คัน ส่วนยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง 25.41% อยู่ที่ 67,964 คัน 9 เดือนลดลง 37.49% อยู่ที่ 509,423 คัน รวมยอดผลิตรถยนต์ 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 963,066 คัน ซึ่งแม้จะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 38.76% ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า หากพิจารณายอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนต่อเดือน จะเห็นว่าตลาดรถยนต์มีแนวโน้มที่ดี เห็นได้จากยอดขายในประเทศเดือน ก.ย.อยู่ที่ 77,433 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 12.41% เนื่องจากรัฐบาลผ่อนคลายล็อกดาวน์มากขึ้น การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ และการจัดงานมอเตอร์โชว์ ยังมีโอกาสที่ยอดผลิตรถยนต์ปีนี้จะทะลุเป้าหมาย 1.4 ล้านคันได้ แม้จะลดลง 4.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยอดขาย 9 เดือนอยู่ที่ 534,219 คัน ลดลง 22.1% แต่มีสัญญาณดีขึ้น จึงเป็นไปได้ที่ยอดขายในประเทศจะทะลุ 700,000 คันในเงื่อนไขต้องไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบสองขณะที่ การส่งออกคงเป้าเดิมที่ 700,000 คัน” ด้านนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีนกล่าวว่า นักธุรกิจจีนยังมีความพร้อมมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีทุนใหญ่ 2 รายซื้อที่ดินไว้เตรียมลงทุนสมาร์ทซิตี้ ที่ จ.ฉะเชิงเทรา 2,000-3,000 ไร่ และที่เมืองพัทยา 700 ไร่ แต่ยังรอการเปิดประเทศของไทย โดยการเข้ามาจำเป็นต้องเข้ามาผ่านระบบกักตัว 14 วัน ซึ่งได้เดินทางเข้ามาแล้วนับร้อยคน และยังมีรอเตรียมเข้ามาอีกนับพันคน.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1957021

เวียดนามเผยธุรกิจในประเทศแสวงหาช่องทางการส่งออกสินค้าไปยังไทย

ตามการประชุมที่นครโฮจิมินห์ จัดขึ้นโดยศูนย์กลางลงทุนและส่งเสริมการค้า (ITPC) ระบุว่าไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในภูมิภาคอาเซียน มูลค่าการส่งออกและนำเข้าทั้งสองประเทศ คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของยอดการค้าระหว่างประเทศรวมของเวียดนามในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งออกของเวียดนามมายังไทย ติดอันดับ 1 ใน 5 ของยอดส่งออกรวมไปยังอาเซียนและไทยยังเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ทั้งนี้ รองผู้อำนวยการของศูนย์ฯ กล่าวว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนาม-ไทย มีการพัฒนาในหลายๆด้านด้วยกัน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการค้า อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้การค้าทวีภาคีลดลงร้อยละ 12.2 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดหดตัวร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ จุดประสงค์ของงานดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสและให้ธุรกิจในประเทศได้รับโอกาสจากการนำสินค้าไปสู่ ‘Big C, Go !’ และจับมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ เพื่อจัดส่งสินค้าไปยังประเทศไทย

  ที่มา : https://vnexplorer.net/domestic-businesses-seek-ways-to-export-products-to-thailand-a2020111121.html

รมว.คลัง เตรียมใช้มาตรการภาษี ดึงทุนต่างชาติ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมมาตรการทางภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น หลังจากเปิดประเทศเต็มรูปแบบแล้ว ด้วยการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน ให้มีขีดความสามารถในแข่งขันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการดูแลเป็นรายธุรกิจ เพิ่มเติมจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) “ระยะสั้นหลังเปิดประเทศ เราจะเน้นไปที่การช่วยเหลือประชาชนและภาคเอกชน ส่วนระยะยาว เราจะใช้มาตรการภาษีเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการลงทุนมากขึ้น เพิ่มเติมจากของ BOI ที่เป็นมาตรการทั่วไป ตัวที่เพิ่มให้ต้องเจาะจงเป็นรายพื้นที่ ซึ่งในหลายประเทศก็ทำกัน”นายอาคม กล่าว

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/money_market/453343?utm_source=homepage_hilight&utm_medium=internal_referral

IMF ฟันธง “เศรษฐกิจไทย” รอดตำแหน่งบ๊วยอาเซียน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะติดลบ 7.1% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่าจะติดลบ 7.7% ขณะที่เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะติดลบ 8.3% ในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ส่วนปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.0% ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน-5 ซึ่งประกอบด้วยไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คาดเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะหดตัว 1.5% ในปีนี้ และขยายตัว 6.1% ในปีหน้า, มาเลเซียจะหดตัว 6.0% ในปีนี้ และขยายตัว 7.8% ในปีหน้า, ฟิลิปปินส์จะหดตัว 8.3% ในปีนี้ และขยายตัว 7.4% ในปีหน้า ส่วนเวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีการขยายตัวในปีนี้ โดยอยู่ที่ระดับ 1.6% ขณะที่ปีหน้าขยายตัว 6.7% IMF ยังคาดการณ์ว่าไทยมีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในอาเซียน โดยทรงตัวที่ระดับ 1.0% ในปีนี้ และปีหน้า เช่นเดียวกับในปี 2562

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/money_market/452697

แนวโน้มท่องเที่ยวอาเซียนบูมยุคนิวนอร์มอล

ทราเอ็กซ์เอเชีย(TraXasia) ผู้เชี่ยวชาญด้านการโฆษณาในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เปิดเผยรายงานแนวโน้มนักท่องเที่ยวประจำไตรมาส 4 ปี 2563 ชี้การท่องเที่ยวระยะใกล้จะได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคนิวนอร์มอล ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจีนจะยังคงเป็นตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาค ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ขณะไทยติดโผจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปีนี้ ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการท่องเที่ยวขาเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง เนื่องจากการท่องเที่ยวระยะใกล้จะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าในช่วงของการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดทั่วโลก นอกจากนี้ จากผลสำรวจยังพบด้วยว่า จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำที่คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปีนี้ ได้แก่ เวียดนาม (โฮจิมินห์ ฮานอย ดานัง) มาเลเซีย (กัวลาลัมเปอร์ ปีนัง โคตาคินาบาลู) และ ไทย (กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่)

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/902272

EU-ABC เคาะ เศรษฐกิจอาเซียน ยังมาแรง

สภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป เผยผลสำรวจ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ อาเซียนยังคงเป็นภูมิภาคที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด สภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป EU-ASEAN (EU-ABC) คณะทำงานหลักเพื่อภาคธุรกิจของยุโรปในภูมิภาคอาเซียน เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจครั้งที่ 6 โดยมีประเด็นสำคัญจากการสำรวจ ดังนี้

  • 56% ของธุรกิจในสหภาพยุโรปมีแผนที่จะขยายการดำเนินงานในอาเซียนลดลงเล็กน้อยจาก 61% ในปี 2562
  • 65% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย มีแผนที่จะขยายการดำเนินงาน
  • ธุรกิจในยุโรปยังคงให้ความสำคัญกับการที่สหภาพยุโรปเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของสหภาพยุโรป – อาเซียน ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่สอง ในฐานะทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับ FTA ซึ่งผลสำรวจในปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน
  • 59% ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทย พอใจกับมาตรการจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล
  • 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ดีที่สุดสำหรับโอกาสทางธุรกิจ (ปี 2562 ได้ 63%)
  • 47% ของผู้ตอบแบบสอบถามกำลัง พิจารณาปรับโครงสร้างซัพพลายเชน หลังเกิดเหตุการณ์ โควิด-19 โดยมีอาเซียน ยุโรป และจีนเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ
  • 73% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า จะขยายระดับการค้าและการลงทุนในอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2562 ได้ 84%)
  • มีเพียง 2% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่รู้สึกว่าการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว (ปี 2562 ได้ 6%)
  • มีเพียง 4% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่พบว่ากระบวนการศุลกากรของอาเซียนมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (ปี 2562 ได้ 8%)
  • 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ใช้งานซัพพลายเชนรายงานว่าต้องเผชิญอุปสรรคมากมายในการใช้งานซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพในอาเซียน (ปี 2562 ได้ 78%)
  • 98% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องการให้อียูเร่งการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอาเซียนและสมาชิก (ปี 2562 ได้ 96%)

การสำรวจในปีนี้เป็นสิ่งยืนยันว่าอาเซียนยังคงเป็นภูมิภาคที่ถูกมองว่ามีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด แต่ทว่าก็เป็นไปดังคาดหมายว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้การค้าและการลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่งสัญญาณอ่อนตัวลง หนึ่งในคำถามของแบบสำรวจ ถามว่า ภูมิภาคใดจะเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจต่อการลงทุนในซัพพลายเชนมากขึ้นหลังโควิด-19 ซึ่งภูมิภาคอาเซียนได้รับคะแนนสูงสุด ส่วนยุโรปและจีนก็ได้รับคะแนนโหวตจำนวนมากเช่นกัน ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่ง คาดหวังว่าซัพพลายเชนควรได้รับการจัดโครงสร้างใหม่หลังโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และส่งผลต่อความคืบหน้าของการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า เพื่อสร้างการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอาเซียน ผลการสำรวจค่อนข้างชัดเจนว่าการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนดูเหมือนจะหยุดชะงัก อาเซียนและกลุ่มประเทศต่างๆ จำเป็นต้องก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) ขณะนี้ ธุรกิจในยุโรปต่างกำลังปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจตามสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องที่ โดยไม่รอหรือหวังผลความคืบหน้าในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ธุรกิจในยุโรปมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความไม่คืบหน้าในการเจรจาการค้าเสรี (FTA) เพิ่มเติมกับภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพูดคุยกันมานานเกี่ยวกับการค้าเสรีระดับภูมิภาคต่อภูมิภาค ซึ่ง 8 ใน 10 เห็นว่าอาจให้ประโยชน์มากกว่าการค้าเสรีแบบทวิภาคีหลายชุด ธุรกิจในยุโรปต้องการให้คณะกรรมาธิการยุโรปเร่งการเจรจาและการมีส่วนร่วมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างชัดเจน

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/452392?utm_source=sub_category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=industry