ตั้งวอร์รูมกู้วิกฤตส่งออก เจาะ 5 ตลาดเป้าหมาย-เร่งค้าชายแดน

ภายหลังจากช่วงครึ่งปีแรกส่งออกไทยติดลบ 2.91% จากพิษสงครามการค้า และอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าอย่างหนักในรอบ 6 ปี กลไกการทำงานรัฐ-เอกชน ที่เรียกว่า “คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์” ตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้เริ่มประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในการตั้งคณะกรรมการวอร์รูม (War Room) เพื่อทำหน้าที่ติดตามประเมินสถานการณ์และวางแนวทางเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงสินค้าเป้าหมายในแต่ละตลาดอย่างเร่งด่วนให้เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมภายใน 3-6 เดือน สำหรับตลาดมี 5 ตลาดหลัก คือ ตลาดกลุ่มอาเซียน และกลุ่ม CLMV จีน อินเดีย และตลาดตะวันออกกลาง เช่น ตลาดอิรัก ซึ่งที่เป็นตลาดสำคัญในการส่งออกข้าว รวมไปถึงกาตาร์ จอร์แดน คูเวต เป็นต้น ผลักดันและเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน ลดอุปสรรค ด้านสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เสนอให้ผลักดันการส่งออกควบคู่กับการตั้งวอร์รูม ผลักดันการเปิดตลาดและเจรจาการค้า เน้นเปิดตลาดใหม่ และฟื้นตลาดเดิมที่ซบเซา ขณะที่ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ยื่น 6 ข้อเสนอสมุดปกขาว ประกอบด้วย 1.การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน 2.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชน ยกระดับเอสเอ็มอี สินค้า บริการ ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล 3.การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 4.สนับสนุนโครงการที่สำคัญของภาครัฐให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 5.เสริมสร้างธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคม และ 6.ยกระดับทักษะความรู้และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-361651

กระทรวงพลังงานเร่งศึกษาเปิดสัมปทานแหล่งสำรวจปิโตรฯใหม่

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายด้านพลังงาน โดยการเปิดประมูลสัมปทานแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 63 ส่วนปัญหาพื้นที่ทับซ้อนแหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ ไทย กัมพูชา จะเร่งทำให้แล้วเสร็จก่อนปี 65 โดยจะดำเนินภารกิจในการใช้พลังงานสร้างเศรษฐกิจฐานราก และเดินหน้าเรื่อง “พลังงานชุมชน” ที่อยู่ระหว่างการศึกษา โดยมีเป้าหมายลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และมีนโยบายเปิดกว้างให้กับนักลงทุน หรือผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ในการร่วมลงทุนร่วมกับชุมชน รวมถึงนโยบายผลักดันสินค้าเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ไบโอแก๊ส ไบโอแมส ที่อยู่ระหว่างการจัดทำแผนให้สอดรับกับนโยบายการผลิต ทั้งนี้ในมิติที่ 2 กระทรวงฯ จะเน้นสร้างการเป็นผู้นำด้านพลังงานอาเซียนโดยจะทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมต่อกับผู้เชี่ยวชาญบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ให้ได้โนวฮาวที่ดี และเข้มแข็ง เพื่อยกระดับด้านพลังงานในระดับสากล ไม่เฉพาะแค่ใน CLMV เพื่อให้เติบโตเร็วขึ้น

ที่มา : https://www.mitihoon.com/2019/08/15/129235/

สงครามการค้าพ่นพิษพ่อค้าจีนเริ่มเบี้ยวหนี้

หอการค้าไทยเผยได้รับการร้องเรียนจากผู้ส่งออกผลไม้ไทยถูกพ่อค้าจีนเบี้ยวหนี้หลังจากจีนประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้า นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับร้องเรียนจากสมาชิกหอการค้าไทยและผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยว่าถูกนักธุรกิจในประเทศจีนเบี้ยวเงินค่าผลไม้ ต้องการให้รัฐบาลเร่งช่วยเข้าไปช่วยเหลือเนื่องจากผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี นอกจากนี้ต้องการให้ ช่วยเจรจากับสถาบันการเงิน เนื่องจากในระยะหลังการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจค้าขายกับจีนค่อนข้างที่เข้มงวดมาก อยากให้มีการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน ภาพรวมยอมรับว่าการส่งออกที่ชะลอตัวของไทยมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องลดกำลังการผลิต ลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) ของพนักงานซึ่งจะกดดันรายได้แรงงานให้ลดลงตาม กลุ่มธุรกิจเอสเอมอีหลายรายที่ทำธุรกิจกับจีนก็เริ่มได้รับผลกระทบส่งสินค้าไปแล้วมีทั้งเก็บเงินไม่ได้ และบางรายยังถูกเบี้ยวหนี้

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/725488

หอการค้าเสนอแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยดูแลบาทเพิ่มอีก ห่วงเกษตรอ่วมสุด

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังจากหารือกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ ธปท. ว่าทางเอกชนขอบคุณ ธปท. ที่ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% อยู่ที่ 1.50% ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ในระดับหนึ่งแต่อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาต่อเนื่องในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมาคาดหวังว่าจะมีมาตรการอื่นๆออกมาอีก ซึ่งในส่วนข้อเสนอของทางหอการค้าที่ได้เสนอ ธปท.ให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเพื่อดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุน ซึ่งปัญหาของไทยคือเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงโดยระยะต่อไปทั้ง ธปท.และภาคเอกชนอาจจะต้องหารือร่วมกันเพื่อให้โครงสร้างเศรษฐกิจเหมาะสมในการดูแลค่าเงินบาท 

ที่มา : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1617558

เวียดนามสืบสวนการทุ่มตลาดสำหรับพลาสติกจากประเทศจีน มาเลเซีย และไทย

เวียดนามดำเนินการตรวจสอบการทุ่มตลาดสำหรับวัตถุดิบพลาสติกจากบริษัทจีน ไทย และมาเลเซีย ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม โดยการสอบสวนได้เริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ผ่านมา ตามข้อร้องเรียนจากผู้ผลิตพลาสติก 2 กลุ่ม ได้แก่ บริษัท Hung Nghiep Formossa จากประเทศไต้หวันและบริษัท  Youl Chon Vina จากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งการ นำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกจากทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว ล้วนสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลมาจากบริษัทดังกล่าวมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 77 ของผลผลิตพลาสติกเวียดนาม โดยหลายๆบริษัทได้เสนออัตราภาษีสำหรับสินค้าพลาสติก จากประเทศจีน มาเลเซีย และไทย ทั้งนี้ ได้มีการประกาศเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวสำหรับสินค้าอลูมิเนียมที่มาจากประเทศจีน และวัสดุไม้ มาจากประเทศไทยและมาเลเซีย

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-investigates-plastic-dumping-by-china-malaysia-thailand-3964222.html

การร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ฯของไทยและกัมพูชา

หน่วยงานกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศกัมพูชาและประเทศไทยได้ประกาศแผนการที่จะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมตลาดทุนภายในประเทศ โดยตกลงว่าจะทำการส่งเสริมและพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ของกัมพูชาทั้งยังเคยลงนามทำ MoU ระหว่าง SECC และ SEC Thailand ขึ้นในปี 2557 และทางกัมพูชาได้เสนอให้มีการลงนามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ข้ามพรมแดนและการออก DR การเสนอขายหลักทรัพย์ข้ามพรมแดนจะช่วยขยายธุรกิจของผู้ออกตราสาร เพิ่มสภาพคล่อง และเป็นการเข้าถึงนักลงทุนที่มีศักยภาพมากขึ้น โดย CSX ได้เปิดตัวในปี 2555 แต่จนถึงปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนเพียงแค่ 5 บริษัท ซึ่งในไม่ช้า CSX จะทำการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินออกมาเพิ่ม ถือเป็นการสร้างทางเลือกให้กับนักลงทุน และมากไปกว่านั้นจะมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนแล้วทำ IPO มากยิ่งขึ้น โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาตลาด CSX มีการระดมทุนไปแล้วที่ 120 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50630865/cambodian-thai-bourse-regulators-to-work-together/

สถาบัน APi นำสินค้าเกษตรนวัตกรรมด้านสุขภาพและความงามโชว์ที่อินเดีย

สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (APi) นำสินค้านวัตกรรมด้านสุขภาพและความงาม ที่ผลิตจากสินค้าเกษตรนของไทย ไปจัดแสดงในงาน Health & Beauty Expo 2019 หวังเปิดตัวเจาะตลาดอินเดีย APi จะนำสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเข้าร่วมโชว์ศักยภาพในงานแสดงสินค้า Health & Beauty Expo 2019 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 ส.ค.2562 ณ เมืองเจนไน อินเดีย ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐาน สร้างโอกาสในการขยายตลาดส่งออกมายังตลาดอินเดีย โดยมั่นใจว่าสินค้าเกษตรนวัตกรรมของไทยจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และผู้เข้าชมงาน สำหรับสินค้าที่จะนำไปจัดแสดง ประกอบด้วยสินค้านวัตกรรมเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์ความงามจากผลผลิตทางการเกษตรของไทยทั้งที่เป็นอาหาร (Food) และที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) เช่น น้ำมันรำข้าว เครื่องดื่มจากสมุนไพร น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ Energy bar แผ่นแปะสิวจากมังคุด ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมจากข้าว ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากมะพร้าว และลิปสติกจากสมุนไพรและเครื่องเทศของไทย เป็นต้น ในการเข้าร่วมงานที่อินเดียครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรราว 1,300 ล้านคน ยังเป็นโอกาสในการศึกษาแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคอินเดีย ซึ่งจะช่วยยกระดับสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากลมากขึ้นด้วย

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9620000074493

จับตาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยพิษทรัมป์

ผอ.การสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกรณีสหรัฐฯ เตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนลอตใหม่ 10% ตั้งแต่ 1 ก.ย.62 ว่า การปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ มีสินค้าจำนวน 3,812 รายการ โดยมี 7 รายการที่ซ้ำกับที่สหรัฐฯขึ้นภาษีไปครั้งก่อน 25% มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่บังคับใช้ไปแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯนำเข้าจากจีนและยังไม่ได้ขึ้นภาษี ครอบคลุมสินค้า เช่น อาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องประดับ และของเล่น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคสหรัฐฯ แต่ยกเว้นสินค้าบางรายการ เช่น ยา และแร่ Rare Earth ซึ่งหากเดินหน้าขึ้นภาษีจริง ผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกไทยและผลกระทบทางอ้อมกรณีที่สินค้าไทยเป็นวัตถุดิบของจีน แล้วจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ประเมินว่ามีไม่มากนักเมื่อเทียบกับการขึ้นภาษีครั้งที่ผ่านมา และบางส่วนเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าสุทธิในปี 61 และปี 62 โดยกระทรวงพาณิชย์จะติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม พบว่ามีสินค้าที่ไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมีโอกาสส่งออกเพิ่มในตลาดสหรัฐฯกว่า 725 รายการ โดยเป็นสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดและสามารถแข่งขันได้ กระทรวงพาณิชย์จะประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อหารือในประเด็นนี้ และประเมินผลกระทบและทำแผนรับมือ เบื้องต้นมีแผนรุกตลาดในสินค้าที่มีศักยภาพ และพัฒนาส่งออกผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ จะติดตามสถานการณ์การนำเข้าอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันสินค้าไหลเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากจากมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและผู้บริโภค แต่ก็ยังไม่พบการนำเข้าที่ผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/1629121

จีน แห่ซื้อโรงงานยางพารา

กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังจับตามองการเคลื่อนไหวแวดวงอุตสาหกรรมยางพารา เพราะล่าสุด มีผู้ประกอบการรายใหญ่จากจีนหลายรายเข้ามาซื้อธุรกิจผลิตยางพารารายใหญ่ของไทยหลายโรงงาน เช่น โรงงาน ไทยฮั้วยางพารา จำกัด และบริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะส่งผลเรื่องราคาหรือไม่ โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่อยู่กลางน้ำ คือ อุตสาหกรรมแปรรูปขั้นต้นของยางพารา เช่น การผลิตยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น กลุ่มนี้มีโรงงานผู้กุมตลาดยางพาราทั้งหมด 5 ราย จากข่าวที่จีนซื้อไปแล้ว 2 ราย อีกหลายรายอยู่ระหว่างเจรจา อาจส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยด้านลบทำให้จีนเข้ามามีอิทธิพลในกลางน้ำ คือมีโอกาสรวมตัวกันกดดัน (ฮั้ว) กำหนดราคา และปริมาณการซื้อยางพาราจากเกษตรกรไทย และสหกรณ์การเกษตรที่อยู่ต้นน้ำได้ ด้านบวกคือทำให้ส่งออกไปยังตลาดจีนได้มากขึ้น ทั้งนี้ แนวทางการรับมือ คือ รัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตรยางพารา ให้เกิดการรวมตัวกันผลิตและแปรรูปยางพาราขั้นต้นที่มีคุณภาพ และฝึกอบรมด้านการทำธุรกิจให้มีความเป็นสากล เป็นต้น.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/1625561

ทอท.จับธุรกิจCargoตั้งศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรดันรายได้1,000ล้าน

ทอท.รุกตลาด Cargo ขยายฐานลูกค้า CLMV ดันรายได้เพิ่มแตะ 1,000 ล้าน คาดเปิดเฟสแรกต้นปีหน้า รอชงคมนาคมเคาะขนส่ง G2G เชื่อมไทย-ยุโรป กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท.อยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อมาดูแลโครงการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก ภายในท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ หลังมีการหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยถึงแนวทางการส่งออกสินค้าไปยังยุโรป โดยคาดว่าการจัดตั้งบริษัทลูกจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ จากนั้นจะเดินหน้าทำห้องเย็น และเปิดให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ ปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจที่จะมาใช้บริการโดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศ CLMV จากเดิมจะต้องไปใช้บริการที่ประเทศสิงคโปร์ โดยศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออกในเฟสแรก จะให้บริการในรูปแบบของ Premium Len ก่อน ซึ่งจะคล้ายช่องทางพิเศษ VIP ขณะที่เฟสต่อไปในอนาคตนั้น ส่วนศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออกนั้น จะผ่านดูไบ และต่อไปยังเบลเยี่ยม ก่อนที่จะกระจายส่งไปประเทศอื่นๆในยุโรป และล่าสุดในช่วงเดือนส.ค.นี้ ทอท.เตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือ ว่าด้วยเรื่องอี-คอมเมิร์ชกับประเทศดูไบ ทั้งนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการขนส่งสินค้าจำนวน 1.5 ล้านตันต่อปี หรืออยู่ที่อันดับ 15 ของโลก ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีสินค้าเน่าเสียกว่า 1.5 แสนตันต่อปี

ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/595674