สถาบัน APi นำสินค้าเกษตรนวัตกรรมด้านสุขภาพและความงามโชว์ที่อินเดีย

สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม (APi) นำสินค้านวัตกรรมด้านสุขภาพและความงาม ที่ผลิตจากสินค้าเกษตรนของไทย ไปจัดแสดงในงาน Health & Beauty Expo 2019 หวังเปิดตัวเจาะตลาดอินเดีย APi จะนำสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเข้าร่วมโชว์ศักยภาพในงานแสดงสินค้า Health & Beauty Expo 2019 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 ส.ค.2562 ณ เมืองเจนไน อินเดีย ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยที่มีคุณภาพและมาตรฐาน สร้างโอกาสในการขยายตลาดส่งออกมายังตลาดอินเดีย โดยมั่นใจว่าสินค้าเกษตรนวัตกรรมของไทยจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และผู้เข้าชมงาน สำหรับสินค้าที่จะนำไปจัดแสดง ประกอบด้วยสินค้านวัตกรรมเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์ความงามจากผลผลิตทางการเกษตรของไทยทั้งที่เป็นอาหาร (Food) และที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) เช่น น้ำมันรำข้าว เครื่องดื่มจากสมุนไพร น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ Energy bar แผ่นแปะสิวจากมังคุด ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมจากข้าว ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากมะพร้าว และลิปสติกจากสมุนไพรและเครื่องเทศของไทย เป็นต้น ในการเข้าร่วมงานที่อินเดียครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรราว 1,300 ล้านคน ยังเป็นโอกาสในการศึกษาแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคอินเดีย ซึ่งจะช่วยยกระดับสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากลมากขึ้นด้วย

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9620000074493

จับตาสินค้าจีนทะลักเข้าไทยพิษทรัมป์

ผอ.การสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกรณีสหรัฐฯ เตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนลอตใหม่ 10% ตั้งแต่ 1 ก.ย.62 ว่า การปรับขึ้นภาษีครั้งนี้ มีสินค้าจำนวน 3,812 รายการ โดยมี 7 รายการที่ซ้ำกับที่สหรัฐฯขึ้นภาษีไปครั้งก่อน 25% มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่บังคับใช้ไปแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯนำเข้าจากจีนและยังไม่ได้ขึ้นภาษี ครอบคลุมสินค้า เช่น อาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องประดับ และของเล่น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคสหรัฐฯ แต่ยกเว้นสินค้าบางรายการ เช่น ยา และแร่ Rare Earth ซึ่งหากเดินหน้าขึ้นภาษีจริง ผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกไทยและผลกระทบทางอ้อมกรณีที่สินค้าไทยเป็นวัตถุดิบของจีน แล้วจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ประเมินว่ามีไม่มากนักเมื่อเทียบกับการขึ้นภาษีครั้งที่ผ่านมา และบางส่วนเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าสุทธิในปี 61 และปี 62 โดยกระทรวงพาณิชย์จะติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม พบว่ามีสินค้าที่ไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมีโอกาสส่งออกเพิ่มในตลาดสหรัฐฯกว่า 725 รายการ โดยเป็นสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดและสามารถแข่งขันได้ กระทรวงพาณิชย์จะประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อหารือในประเด็นนี้ และประเมินผลกระทบและทำแผนรับมือ เบื้องต้นมีแผนรุกตลาดในสินค้าที่มีศักยภาพ และพัฒนาส่งออกผ่านออนไลน์ นอกจากนี้ จะติดตามสถานการณ์การนำเข้าอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันสินค้าไหลเข้ามาไทยเป็นจำนวนมากจากมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯและจีนที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศและผู้บริโภค แต่ก็ยังไม่พบการนำเข้าที่ผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/1629121

จีน แห่ซื้อโรงงานยางพารา

กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังจับตามองการเคลื่อนไหวแวดวงอุตสาหกรรมยางพารา เพราะล่าสุด มีผู้ประกอบการรายใหญ่จากจีนหลายรายเข้ามาซื้อธุรกิจผลิตยางพารารายใหญ่ของไทยหลายโรงงาน เช่น โรงงาน ไทยฮั้วยางพารา จำกัด และบริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะส่งผลเรื่องราคาหรือไม่ โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่อยู่กลางน้ำ คือ อุตสาหกรรมแปรรูปขั้นต้นของยางพารา เช่น การผลิตยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น กลุ่มนี้มีโรงงานผู้กุมตลาดยางพาราทั้งหมด 5 ราย จากข่าวที่จีนซื้อไปแล้ว 2 ราย อีกหลายรายอยู่ระหว่างเจรจา อาจส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยด้านลบทำให้จีนเข้ามามีอิทธิพลในกลางน้ำ คือมีโอกาสรวมตัวกันกดดัน (ฮั้ว) กำหนดราคา และปริมาณการซื้อยางพาราจากเกษตรกรไทย และสหกรณ์การเกษตรที่อยู่ต้นน้ำได้ ด้านบวกคือทำให้ส่งออกไปยังตลาดจีนได้มากขึ้น ทั้งนี้ แนวทางการรับมือ คือ รัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตรยางพารา ให้เกิดการรวมตัวกันผลิตและแปรรูปยางพาราขั้นต้นที่มีคุณภาพ และฝึกอบรมด้านการทำธุรกิจให้มีความเป็นสากล เป็นต้น.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/1625561

ทอท.จับธุรกิจCargoตั้งศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรดันรายได้1,000ล้าน

ทอท.รุกตลาด Cargo ขยายฐานลูกค้า CLMV ดันรายได้เพิ่มแตะ 1,000 ล้าน คาดเปิดเฟสแรกต้นปีหน้า รอชงคมนาคมเคาะขนส่ง G2G เชื่อมไทย-ยุโรป กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท.อยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อมาดูแลโครงการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก ภายในท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ หลังมีการหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยถึงแนวทางการส่งออกสินค้าไปยังยุโรป โดยคาดว่าการจัดตั้งบริษัทลูกจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ จากนั้นจะเดินหน้าทำห้องเย็น และเปิดให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ ปัจจุบันมีหลายประเทศให้ความสนใจที่จะมาใช้บริการโดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศ CLMV จากเดิมจะต้องไปใช้บริการที่ประเทศสิงคโปร์ โดยศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออกในเฟสแรก จะให้บริการในรูปแบบของ Premium Len ก่อน ซึ่งจะคล้ายช่องทางพิเศษ VIP ขณะที่เฟสต่อไปในอนาคตนั้น ส่วนศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออกนั้น จะผ่านดูไบ และต่อไปยังเบลเยี่ยม ก่อนที่จะกระจายส่งไปประเทศอื่นๆในยุโรป และล่าสุดในช่วงเดือนส.ค.นี้ ทอท.เตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือ ว่าด้วยเรื่องอี-คอมเมิร์ชกับประเทศดูไบ ทั้งนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการขนส่งสินค้าจำนวน 1.5 ล้านตันต่อปี หรืออยู่ที่อันดับ 15 ของโลก ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีสินค้าเน่าเสียกว่า 1.5 แสนตันต่อปี

ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/595674

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกปีนี้ไม่โต ติดตามผลกระทบ H2/62 บาทแข็ง-ภัยแล้ง-สงครามการค้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การส่งออกในเดือน มิ.ย.62 มีมูลค่าอยู่ที่ 21,409.3 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 2.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็ตาม การส่งออกในเดือนมิ.ย. หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึง 317.4% ในเดือน มิ.ย.ซึ่งเมื่อหักมูลค่าส่งออกทองคำแล้ว ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยหดตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ -8.7% โดยเป็นการหดตัวในการส่งออกสินค้าหลักไปยังตลาดคู่ค้าหลักทุกตลาด ส่งผลให้การส่งออก 6 เดือนแรก มีมูลค่ารวม 122,970.7 ล้านดอลลาร์ หดตัว 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 61 สาเหตุจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่เมื่อมองไปในช่วงครึ่งหลังของปี 62 บรรยากาศการค้าโลกแม้ว่าจะไม่ได้ดีขึ้น หลังสหรัฐฯ และจีนกลับเข้าสู่เส้นทางการเจรจาอีกครั้ง แต่สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศจะไม่แย่ลงไปกว่าช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้จีนและสหรัฐฯ คาดว่าจะมีมาตรการทางการเงินออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งก็น่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกได้ด้วยในระดับหนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงประมาณการส่งออกสินค้าไทยตลอดทั้งปี 62 ที่ 0.0% และระบุว่ายังมีประเด็นที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปี 62 ได้ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท สภาพภูมิอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งที่อาจจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร รวมไปถึงความไม่แน่นอนในเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในระยะข้างหน้า

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3017948

พ่อแม่ชาวจีนยอมทุ่ม! ‘ของเล่นพัฒนาสมองเด็ก’ พาณิชย์ชี้ช่องโอกาสธุรกิจไทย

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยตลาดของเล่นในจีนบูม หลังผู้ปกครองนิยมซื้อให้เด็กเล่น โดยเฉพาะของเล่นที่ช่วยพัฒนาสมองและทักษะต่างๆ แนะผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยเร่งศึกษาตลาดและวางแผนส่งออกป้อนความต้องการ ชี้ควรเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และใช้ช่องทางออนไลน์เจาะตลาด จากผลสำรวจการเลือกซื้อของเล่นของผู้ปกครองชาวจีน โดยพบว่าปัจจัยสำคัญในการซื้อของเล่นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมองและทักษะในด้านต่างๆ ของเด็ก จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะหาทางขยายตลาด โดยต้องศึกษาความต้องการของผู้ปกครองยุคใหม่ที่มีกำลังซื้อและเน้นสินค้าที่มีคุณภาพมีความปลอดภัย และควรทำตลาดออนไลน์เพราะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้กว้าง จากสถิติของสมาคม China Toy & Juvenile Product Association ในปี 2561 ตลาดมีมูลค่าถึง 70,480 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://mgronline.com/smes/detail/9620000068665

พาณิชย์ จับมือกรมศุลฯ ร่วมมือพัฒนาระบบ-การให้บริการในอาเซียน

กระทรวงพาณิชย์ ร่วมมือกับกรมศุลฯ ในการพัฒนาสมรรถนะ โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CLMV) ในหลักสูตร “National Single Window & Thai Customs Electronic System for CLMVT Contries” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการดำเนินการนำ National Single Window มาใช้ในการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงเรียนรู้ขั้นตอน กฎระเบียบ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน โดยผู้แทนศุลกากรได้ร่วมศึกษาระบบงานการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนินสินค้าและการเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรองในรูปแบบ e-From D ซึ่งในกรณีที่ ผู้ประกอบการได้ส่งคำขอและเอกสารพร้อมกับข้อมูลที่ส่งผ่านระบบ Digital Signature จะใช้เวลาพิจารณาคำขอฯ ภายใน 15 นาที/ฉบับ โดยผู้ประกอบการสามารถขอหนังสือรับรองได้ที่สำนักบริการการค้าต่างประเทศทั้ง 3 จุด โดยไทยจัดเป็น 1 ใน 7 ประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียนที่ได้เชื่อมโยง e-Form D ไปแล้ว ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, บรูไน และกัมพูชา ในขณะที่เมียนมา, ลาว และฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเชื่อมโยงให้แล้วเสร็จในปี 2562

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3013841