ท่าเรือบกท่านาแล้งของ สปป.ลาว สร้างรายได้กว่า 200 ล้านดอลลาร์ ในปีก่อน

ท่าเรือบกท่านาแล้ง (TDP) มีแผนที่จะเปิดตัวช่องทางพิเศษเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายและขนส่งผลิตผลทางการเกษตรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชียและจีน ปัจจุบันท่าเรือบกแห่งนี้ ถือเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ครบวงจรแห่งแรกของ สปป.ลาว ซึ่งในปีที่ผ่านมาสร้างรายได้ให้กับประเทศมากถึง 200 ล้านดอลลาร์ จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตู้สินค้า และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากการให้บริการขนส่งทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ที่เพิ่งเปิดให้บริการระหว่างประเทศ โดยท่าเรือวางแผนที่จะร่วมมือกับทางการจีนเพื่อสร้างศูนย์สุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและสัตว์ (SPS) ณ ท่าเรือเวียงจันทน์ เพื่อรับรองสินค้าในการส่งออกไปยังจีนและคู่ค้า ด้วยการติดฉลาก SPS customs seal เพื่อเป็นการยืนยันถึงคุณภาพของสินค้า ซึ่งคาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 เดือน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten86_Thanaleng_y23.php

ทางการกัมพูชาร่วมโปรโมทการท่องเที่ยว ณ กรุงโซล

กระทรวงการท่องเที่ยวพร้อมด้วยสถานทูตกัมพูชาประจำเกาหลี ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวเกาหลีนำคณะผู้แทนบริษัทเอกชนกว่า 10 แห่ง เข้าร่วมงาน International Travel Fair 2023 ครั้งที่ 38 ณ กรุงโซล ระหว่างวันที่ 4-7 พฤษภาคม สำหรับกัมพูชาคาดว่าจะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีมายังกัมพูชาประมาณ 80,000 คน ภายในสิ้นปี 2023 โดยเป้าหมายหลักของกัมพูชาในการมาเยือนเกาหลีในครั้งนี้ คือการส่งเสริมแคมเปญ “Visit Cambodia Year 2023” ภายใต้คอนเซ็ป “Sport for Peace” ซึ่งปีนี้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32, อาเซียนพาราเกมส์ครั้งที่ 12 และเอเชียนยูธเกมส์ ในปี 2029 โดยกระทรวงการท่องเที่ยว และคณะผู้แทนของบริษัทเอกชน พร้อมร่วมมือกันในการส่งเสริมให้กัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทางที่อบอุ่น ปลอดภัย สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับนักท่องเที่ยว ด้วยคำขวัญที่ว่า “Everyday is a miracle”

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501285972/kingdom-pushes-tourism-at-intl-travel-fair-in-seoul/

บริษัทสัญชาติจีน เซ็นสัญญาพัฒนาท่าเรือ กัมปอต ในกัมพูชา

บริษัท China Harbour Engineering (CHEC) ได้รับสัญญาก่อสร้างท่าเรืออเนกประสงค์กัมปอต ในจังหวัดกัมปอต หลังจากจัดเตรียมพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานในการก่อสร้างเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ซึ่ง CHEC ได้ลงนามในสัญญาร่วมกับ Kampot Logistics and Port Company Limited (KLP) ไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมี Sun Chanthol รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง ร่วมกับตัวแทนของบริษัท ตามรายงานของกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง คาดว่าการก่อสร้างท่าเรือดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 3 เฟส ด้วยเม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในเฟสแรกคาดว่าจะมีการลงทุนประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจะช่วยให้ท่าเรือกำปอตสามารถรองรับปริมาณตู้คอนเนอร์ได้ที่ 300,000 TEU ภายในปี 2025 และจะเพิ่มเป็น 600,000 TEU ภายในปี 2030 โดยในโครงการจะประกอบด้วยพื้นที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตการค้าเสรี ศูนย์โลจิสติกส์ คลังสินค้าศุลกากร โรงงานผลิตและกระจายสินค้า เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501285979/chinese-firm-bags-kampot-port-construction-contract/

เวียดนามจัดโครงสร้างแหล่งพลังงานใหม่ หวังดูดเงินลงทุนต่างชาติหลายพันล้านดอลลาร์เข้าประเทศ

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า แหล่งข่าวจากวงการพลังงานเวียดนามระบุว่า รัฐบาลเวียดนามอยู่ระหว่างพิจารณาปรับเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 2 เท่าภายในปี 2030 โดยมีแผนลดเป้าหมายสำหรับพลังงานลมนอกชายฝั่งลง และจะพึ่งพาถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักเพิ่มขึ้นเป็น 30.1 กิกะวัตต์ จากแผนเดิมปี 2020 อยู่ที่ 21.4 กิกะวัตต์ และยืนยันว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นแหล่งไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งคิดเป็น 19% ของโรงไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนไฟฟ้าพลังน้ำจะเป็นแหล่งพลังงานหลักอันดับ 2 รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และพลังงานลม ส่วนแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยมีการคาดการณ์ว่า กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 158 กิกะวัตต์ในอีก 7 ปี เพิ่มขึ้นราว 2 เท่าจากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 69 กิกะวัตต์ ทั้งนี้ ก็เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่าจะเข้ามาหลายพันล้านดอลลาร์  อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวมีความสำคัญต่อการปลดล็อกกองทุนเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมูลค่า 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ให้คำมั่นไว้ในเดือนธันวาคมโดยกลุ่ม 7 ชาติและประเทศที่ร่ำรวย แต่การอนุมัติยังล่าช้าไปหลายปี ท่ามกลางความขัดแย้งภายในและการปฏิรูปที่ซับซ้อน

ที่มา : https://thestandard.co/vietnam-new-energy-resource-structure/

“เวียดนาม” เผย 4 เดือนแรก รัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงถึง 645.4 ล้านล้านดอง

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ สูงถึง 645.4 ล้านล้านดอง (27.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วน 39.8% ของเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลดังกล่าวอยู่ในระดับค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับตัวเลขที่ประมาณการไว้ อย่างไรก็ดีการจัดเก็บรายเดือยมีทิศทางที่ลดลง เนื่องจากยอดสะสมในเดือน ม.ค. สูงถึง 14.7% ของประมาณการ, ก.พ. 7.7%, มี.ค. 8.9% และ เม.ย. 8.6% ทั้งนี้ การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 500.3 ล้านล้านดอง คิดเป็นสัดส่วน 24.1% ของเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ เพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการใช้จ่ายเป็นไปตามแผนงานของรัฐบาล ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การป้องกัน การปกป้องความมั่นคง การจัดการของรัฐ การชำระหนี้และการดำเนินงานประกันสังคม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/state-budget-revenue-reaches-6454-trillion-vnd-in-four-months/252602.vnp

“เอชเอสบีซี” ประเมินศก.เวียดนาม ไตรมาส 2 ปี 66 คงเผชิญความท้าทาย

ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) รายงานว่าเศรษฐกิจของเวียดนามได้รับอิทธิผลอย่างมากต่อปัจจัยภายนอกและสถานการณ์การค้าโลก แสดงให้เห็นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ที่หดตัวลง 12% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตลอดจนยอดการส่งออกที่ลดลงเป็นตัวเลขสองหลัก โดยจุดอ่อนหลักที่สร้างผลกระทบไปยังวงกว้าง คือ สินค้าที่ทำการซื้อขายระหว่างประเทศ อาทิเช่น สิ่งทอ รองเท้า สมาร์ทโฟนและเฟอร์นิเจอร์ไม้ สินค้าดังกล่าวตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ดัชนี PMI ส่งสัญญาณเริ่มต้นอยู่ในระดับทรงตัว แต่ก็ยังต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจนกว่าวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะดีดตัวขึ้น อย่างไรก็ดีถึงแม้การเติบโตเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่อัตราเงินเฟ้อมีทิศทางที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1531980/viet-nam-continues-to-face-challenges-in-q2-2023-hsbc.html

“เมียนมา” เผยการค้าระหว่างประเทศ ทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 21 เม.ย. เปิดเผยว่ายอดการค้าระหว่างประเทศของเมียนมา มีมูลค่าอยู่ที่ 1.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2566-2567 ตัวเลขดังกล่าวแบ่งเป็นรายได้จากการส่งออกกว่า 606.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้จากการนำเข้า 1.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อด่านชายแดนของเมียนมาและจีนกลับมาเปิดพรมแดนอีกครั้ง ส่งผลให้ยอดการค้าชายแดนพุ่งสูงขึ้นแตะ 503.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การค้าทางทะเลของเมียนมาที่ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของเมียนมาส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์สัตว์และป่าไม้ แร่ธาตุและสินค้าสำเร็จรูป ในขณะเดียวกันเมียนมานำเข้าสินค้าประเภททุน วัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-crosses-us1-bln-as-of-21-april/#article-title

สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 8.3 แสนคน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี

นักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 831,000 คน หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวยัง สปป.ลาว ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายัง สปป.ลาว ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2022 ที่จำนวน 211,898 คน เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยกระทรวงข่าวสาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว ระบุว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศไทยกว่า 344,405 คน, มาจากเวียดนามเกือบ 180,000 คน, จากจีน 143,312 คน, จากเกาหลีใต้ 45,756 คน รวมถึง มาจากสหรัฐอเมริกา 16,998 คน, ฝรั่งเศส 11,418 คน และสหราชอาณาจักร 9,880 คน ตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่าปริมาณนักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามายัง สปป.ลาว เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง หลังจากเปิดทำการรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน และการผ่อนปรนนโยบายป้องกันโควิด-19 ของหลายๆ ประเทศทั่วโลก

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten86_Laos_welcomes_y23.php

เวียดนาม-กัมพูชา ตกลงร่วมมือส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและกีฬา

Nguyen Van Hung รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเวียดนาม ได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา Thong Khon ณ กรุงพนมเปญ เพื่อทบทวนความร่วมมือทวิภาคีในแง่ของการแลกเปลี่ยนคณะผู้แทน รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาระหว่างกัน ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวที่ลงนามระหว่างกระทรวงทั้งสองฝ่าย โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว เชื่อมโยงแหล่งมรดกโลกของเวียดนามและกัมพูชา กำหนดนโยบายซึ่งเอื้อต่อภาคการท่อง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501285715/vietnam-cambodia-agree-to-promote-tourism-sports-cooperation/

ความต้องการเครื่องแต่งกายของกัมพูชา ในญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่อง

การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 1.201 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.68 จากปีก่อน ขณะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 มูลค่าการส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นพุ่งแตะ 334.145 ล้านดอลลาร์ ชี้ให้เห็นถึงความต้องการสินค้าประเภทดังกล่าวของญี่ปุ่น แต่ถึงอย่างไรการส่งออก เคหะสิ่งทอ (Home Textile) ไปยังญี่ปุ่นกลับมีแนวโน้มลดลง ซึ่งในปี 2022 ลดลงครึ่งหนึ่งเหลือมูลค่ารวม 17.327 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามข้อมูลเชิงลึกของ Fibre2Fashion ด้วยเครื่องมือ TexPro

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501285723/japans-demand-for-cambodian-apparel-grows-home-textiles-lose-ground/