ปี 2022 กัมพูชาส่งออกเครื่องแต่งกายลดลง 21%

จากสถานการณ์ความต้องการเครื่องแต่งกายทั่วโลกที่ซบเซาลง ทำให้ปริมาณการส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาปรับตัวลดลง ณ เดือนธันวาคม 2022 กว่าร้อยละ 21 โดยการส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาที่ลดลงคิดเป็นมูลค่า 432.26 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 591.85 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2022 กลับขยายตัวที่ร้อยละ 12.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ได้รายงานว่ากัมพูชาส่งออกเครื่องแต่งกายมูลค่ารวมกว่า 9.04 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยประเทศผู้นำเข้าสำคัญได้แก่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแคนาดา เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501219856/21-fall-in-dec-22-pulled-annual-apparel-exports-down/

“ตลาดหุ้นเวียดนาม” ยังคงมีความน่าสนใจของนักลงทุน

ธนาคารเวียดนาม VIETCOMBANK SECURITIES (VCBS) รายงานว่าจากการที่ค่าเงินดองอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และยังอยู่ในระดับอ่อนค่าหากเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นเวียดนามยังคงเป็นจุดหลายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน ทั้งนี้ การที่ดัชนีดอลลาร์สหัรฐยังคงปรับตัวลดลงเล็กน้อยและการเพิ่มเงินทุนสำรองเงินต่างประเทศของเวียดนามในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาเป็นบวกแก่ตลาดในประเทศ ซึ่งในระยะสั้นนั้น สภาพคล่องของเงินดองเวียดนามจะยังปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดลงในตลาดระหว่างธนาคาร

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-stock-market-still-attractive-to-investors-report/247078.vnp

“ตลาดค้าปลีกเวียดนาม” กลับมาสู่ระดับปกติก่อนวิกฤตเชื้อโรคระบาด

ตามรายงานของ Vietnam Report เปิดเผยผลการสำรวจ ระบุว่าผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ 53.8% มองว่าตลาดค้าปลีกกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และหลังจากควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว ตลาดค้าปลีกของเวียดนามเร่งดำเนินการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารธุรกิจ การดำเนินกิจการ โลจิสติกส์และการกระจายสินค้า ในขณะเดียวกัน ตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าตลาดค้าปลีกของเวียดนามในปัจจุบัน มีมูลค่า 142 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงถึง 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 คิดเป็น 59% ของ GDP ปี 2565

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/retail-market-returns-to-prepandemic-level/247072.vnp

เวียดนามลงทุนใน สปป.ลาวพุ่ง 52.5%

จากรายงานของ VietnamPlus เผย หลังจากการประชุมความร่วมมือด้านการลงทุนของสปป.ลาว และ เวียดนาม ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียงจันทน์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2565 บริษัทจากเวียดนามลงทุนในสปป.ลาว มีมูลค่าการพุ่งสูงถึง 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 52.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน (2564) ในขณะเดียวกัน บริษัทจากสปป.ลาว ก็เข้าไปลงทุนในเวียดนามจำนวน 10 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในระหว่างการประชุม รัฐบาลสปป.ลาวให้คำมั่นว่าจะสร้างบรรยากาศการค้า การลงทุน และเตรียมเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในประเทศ ซึ่งเวียดนามเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 3 รองจากจีนและไทย ทั้งนี้ ในปี 2564 มีบริษัทจากเวียดนามเข้ามาลงจำนวน 238 โครงการ โดยมีทุนจดทะเบียนรวม 5.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Vietnamese10.php

‘สุริยะ’เยือนญี่ปุ่นหารือเมติ ตอกย้ำการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับนายนิชิมุระ ยาสึโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) หรือ เมติ ระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่นวันที่ 11-15 มกราคม 2565 ว่าการหารือครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่าง 2 ประเทศ รวมทั้งยังเป็นการครบรอบ 1 ปี ที่ทั้ง 2 กระทรวงได้ร่วมกันปรับแนวคิดจาก “Connected Industries” มาสู่ความร่วมมือ Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth ที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เมื่อปลายปี 2565

โดยเฉพาะประเด็นการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะบุคลากรซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือ Cooperation Framework on Human Resource Development for Realizing Industry 4.0 ขับเคลื่อน 3 ประเด็นหลักประกอบด้วย 1.แนวทางการร่วมกันพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 2.การขับเคลื่อนนโยบาย BCG ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3.การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานผ่านแนวคิดการร่วมสร้าง (Co-Creation)

นอกจากนี้ ยังหารือในประเด็นการลงทุนภายใต้กรอบ AJIF (Asia-Japan Investing for the Future) มุ่งเน้นความเชื่อมโยงระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศต่างๆ จึงเน้นย้ำถึงความพร้อมของประเทศไทยในการต้อนรับนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ที่กำกับดูแลโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในพื้นที่จังหวัดระยองมีพื้นที่ประมาณ 1,400 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม New S-Curve ในพื้นที่ EEC ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรกลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น ปัจจุบันก่อสร้างแล้วประมาณ 40% และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567

ที่มา: https://www.naewna.com/business/704687

ค้าชายแดนเมียนมา-จีนอนุญาตให้ใช้เงินหยวนในการซื้อขาย

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ประกาศให้การซื้อ-ขาย แถบชายแดนเมียนมา-จีน ใช้สกุลเงินหงวนได้นอกจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น สินค้าเกษตรอย่าง วพัลส์ ข้าวโพด และงา ส่วนผลิตภัณฑ์ประมง เช่น ปู และปลาไหล ทั้งนี้ จากรายงานพบว่า ระหว่างวันที่ 1 ถึง 3 มกราคม 2566 การซื้อขายแถบชายแดนเมียนมา-จีน มีรถบรรทุกสินค้าส่งออกจำนวน 541 คันและรถบรรทุกนำเข้าจำนวน 114 คัน โดยมีสินค้าส่งออก ได้แก่ ปู งา แตงโม ข้าว ปลายข้าว ปลาไหล และ อ้อย ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ ได้แก่ ยานพาหนะและเครื่องจักรกลหนัก โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสาร แอปเปิล ส้ม เครื่องครัว อะไหล่รถจักรยานยนต์ วัตถุดิบพลาสติก หลอดไฟฟ้า หลอดไฟ และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-china-border-trade-allows-yuan-dollar-payments/#article-title

‘เวียดนาม’ ชี้สัญญาบวกส่งออกข้าว

นายเล มิน ฮวาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท กล่าวว่ายอดการส่งออกข้าวคุณภาพสูงของเวียดนามมีทิศทางที่เป็นบวก ตั้งแต่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวเพื่อการเพาะปลูกและการกำหนดมาตรฐานข้าวให้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละตลาด เนื่องจากเวียดนามตระหนักถึงความจำเป็นที่จะสร้างกลยุทธ์ในระยะยาว ทั้งนี้ นาย โด ห่า นาม รองประธานสมาคมอาหารแห่งเวียดนาม (VFA) ได้แสดงความยินดีจากการที่เวียดนามสามารถแข่งขันตลาดต่างประเทศได้หลายแห่งและยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากข้าวหอมมะลิและข้าวคุณภาพสูง ทำให้ภาคธุรกิจได้รับคำสั่งซื้อจนถึงเดือนเมษายน หรือจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าผู้ส่งออกข้าวมีข้อได้เปรียบอย่างชัดเจนในปีนี้ เนื่องจากราคาข้าวอยู่ในระดับสูง และความต้องการข้าวจำนวนมากจากจีน ฟิลิปปินส์และแอฟริกา

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/positive-signals-for-rice-exports-in-2023/246674.vnp

บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ย้ายการผลิตไปเวียดนาม

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทแอปเปิล (Apple) เปิดเผยว่าทางบริษัทจะย้ายฐานการผลิตของ MacBook ไปยังเวียดนามในปี 2566 และดำเนินการให้บริษัท ‘Foxconn’ ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของแอปเปิล ทำการเปิดการผลิต MacBook ในเวียดนามตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยในปี 2568 ประมาณ 20% ของจำนวน iPads และ Apple Watch ทั้งหมดจะผลิตในเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ประมาณ 5% ของจำนวน MacBook และ 65% ของจำนวน Airpods นอกจากนี้ ซัมซุง (Samsung) บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของเกาหลีใต้ หลังจากทุ่มเงินกว่า 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในเวียดนามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงวางแผนที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเร็วๆนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่ากิจกรรมทางธุรกิจดังกล่าวมาจากข้อได้เปรียบของเวียดนาม ได้แก่ ต้นทุนแรงงานต่ำและข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามเข้าร่วม 15 ฉบับ ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองของเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/electronic-firms-continue-to-shift-investment-to-vietnam/247004.vnp

เกาหลีใต้ บริจาคข้าว 1,314 ตัน ให้ชุมชนยากจน ในสปป.ลาว

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ นำโดย นายยุง ซูจอง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีเป็นตัวแทนในการส่งมอบข้าวให้แก่นางเบย์คัม ขัตติยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของสปป.ลาว จำนวน 1,314 ตัน  ณ คลังสินค้าของโครงการอาหารโลก (WFP) ในนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนในย่านชุมชนยากจนกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ โดยการบริจาคในครั้งนี้ จะช่วยเหลือผู้คนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เนื่องจากวิกฤตทางการเงินที่ตึงเครียดและภาวะการขาดแคลนอาหารที่รุนแรงขึ้น ซึ่งนางเบย์คัม ขัตติยา กล่าวในพิธีส่งมอบว่า การบริจาคในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งมักเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ด้านนายยุง ซูจอง กล่าวเสริมด้วยว่า สปป.ลาวได้ประโยชน์จากการสนับสนุนนี้มาตั้งแต่ปี 2564 และเกาหลีใต้ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างเกาหลีใต้และประเทศในอาเซียน

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Skorea10.php

LMC เปิดตัวกองทุนพิเศษ 7 โครงการในเมียนมา

เมื่อวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566  นาย อองจี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และการชลประทานของเมียนมา เป็นประธานในพิธีการเปิดตัว 7 โครงการของกองทุนพิเศษ ภายใต้ความร่วมมือด้านแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (LMC) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและสถานะความเป็นอยู่ของชาวชนบทในเมียนมาและจะครอบคลุมการทำสวนยาง การผลิตอ้อยที่ได้คุณภาพ การผลิตงา และการเลี้ยงปลาน้ำจืด ทั้งนี้ จีนริเริ่มกองทุนพิเศษของ LMC ในปี 2559 เพื่อสนับสนุนโครงการความร่วมมือของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้กับ 6 ประเทศกลุ่มล้านช้าง-แม่โขง ประกอบด้วย จีน กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20230114/1c970beba0fe46949a2f8f02f3c745d5/c.html