‘เวียดนาม’ เผยเที่ยวบินในประเทศ เตรียมกลับมาเปิดบริการ

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งเวียดนาม (CAAV) เสนอเปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ สำหรับผู้โดยสารที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วและผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 สามารถเดินทางได้ สำนักงานฯ (วันที่ 13 ก.ย.) รายงานถึงกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูการขนส่งทางอากาศภายในประเทศ ซึ่งเที่ยวบินภายในประเทศจะดำเนินการ 3 เฟส โดยในเฟสแรก แต่ละสายการบินจะดำเนินการแต่ละรอบการบินไม่ต่ำกว่า 50% เมื่อเทียบกับสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน (ก่อนการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4) และในเฟสสอง จะเพิ่มรอบการบินไม่เกิน 70% และเฟสสาม จะกลับมาดำเนินการอยู่ในระดับสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ทั้งนี้ สำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางต้องผ่านหลักเกณฑ์หลายประการ รวมถึงได้รับฉีดวัคซีนครบถ้วนและมีผลการทดสอบเป็นลบสำหรับโควิด-19 (ภายใน 72 ชั่วโมง) ก่อนการเดินทาง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-automobile-sales-slip-to-record-low-due-to-covid19/207891.vnp

เมืองดาหลา เร่งปูพรมฉีดวัคซีนให้แรงงานในโรงงาน

เทศบาลเมืองดาหลา เขตย่างกุ้ง เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกให้กับคนงานในโรงงานเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 ณ โรงพยาบาลประจำเทศบาล โดยเริ่มฉีดครั้งแรกแก่คนงานจำนวน 352 คนจากร้านอาหาร ร้านขายของชำ ท่าเรือ ธุรกิจออมทรัพย์และสินเชื่อ สถานีน้ำมันเชื้อเพลิง คลังประมง โรงสีข้าว คนงานค่าแรงจากสำนักงานไฟฟ้า สามล้อถีบ และอู่ต่อเรือ ซึ่งการวัคซีนที่ฉีดต้องสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยมืองดาหลาได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครั้งแรกแก่ประชาชนจำนวน 5,319 คน ทั้งนี้คณะกรรมการเขตว่าด้วยการควบคุมและรับมือเหตุฉุกเฉินจากโควิด-19 กำลังเร่งจัดหาวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/dala-begins-covid-19-jabs-for-factory-workers/

ฮุน เซน วางแผนเร่งเพิ่มปริมาณการค้า กัมพูชาและต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน วางแผนเร่งเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในสินค้าภาคเกษตร ซึ่งถือเป็นความหวังใหม่ของกัมพูชาในการสร้างความมั่นคงด้านการส่งออกและเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตของกัมพูชา รวมถึงทางด้าน Wang Yi รัฐมนตรีจีน ยืนยันการสนับสนุนของจีน ต่อภาคการเกษตรโดยกล่าวว่าจีนจะนำเข้าผลิตผลทางการเกษตรจากกัมพูชาเพิ่มมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรชาวกัมพูชา โดยจีนถือเป็นประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อกัมพูชาที่มีจีนเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ รวมถึงยังมีข้อตกลงการค้าเสรีกับสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่กำหนดให้การส่งออกของกัมพูชาปลอดภาษีถึงร้อยละ 90 ระหว่างผู้ลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างกัมพูชาและนานาประเทศในการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50934578/hunt-down-more-overseas-trade-demands-prime-minister-hun-sen/

กรมศุลกากรกัมพูชารายงานรายรับ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี

กรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) รายงานถึงรายรับที่ได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่ารวม 1.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นร้อยละ 64.2 ของแผนการจัดเก็บรายปี โดยการนำเข้ารถยนต์ เครื่องจักร รถจักรยานยนต์ และยานพาหนะอื่น ๆ ถือเป็นแหล่งที่มาของรายรับด้านการจัดเก็บภาษีศุลกากร ซึ่งกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้าน อาทิเช่น โครงสร้างพื้น การศึกษา สาธารณสุข และอื่นๆ จากเงินได้ที่ได้จากการจัดเก็บภาษีนำมาบริหารจัดการให้ครอบคลุม โดยในปี 2020 GDCE รวบรวมรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่ารวม 2.420 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 24.8 เมื่อเทียบกับปี 2019

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50934455/cambodian-customs-department-nets-1-52-billion-in-eight-months/

พาณิชย์เมียนมา เผย นำเข้าลดฮวบเหลือ 13.4 พันล้านดอลลาร์ในปีงบฯ ปัจจุบัน

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการนำเข้าของเมียนมาในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 63-64 ลดลงเหลือ 13.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 17.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของปีงบประมาณก่อน โดยการนำเข้าแบ่งเป็นสินค้าทุน เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ยานพาหนะ เครื่องจักร เหล็กกล้า ฯลฯ มีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 4.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าปีงบประมาณก่อน 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน สินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงยา เครื่องสำอาง และน้ำมันปาล์ม ลดลงเล็กน้อย 82.7 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน ส่วนสินค้าขั้นกลางเป็นสินค้านำเข้าเป็นอันดับสองของเมียนมา ปีนี้มีการนำเข้าวัตถุดิบลดลง เป็น 4.65 พันล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 5.79 พันล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งวัตถุดิบมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า Cut-Make-Pack (CMP) ลดลงจากปีงบประมาณก่อน 584 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 10 อันดับประเทศที่เมียนมานำเข้ามากที่สุด ได้แก่ จีน สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/14-september-2021/#article-title

รัฐบาลร่วมมือเอกชนในการพัฒนาไอซีที

กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร และ บริษัท ลาว เกตเวย์ จำกัด ร่วมมือทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล พวกเขาจะพัฒนาระบบบัญชีบนคลาวด์ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถรักษาบัญชีที่ถูกต้องได้ และยังจะพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อรับรองความปลอดภัยของเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยมุ่งเน้นที่การขยายกลยุทธ์ของเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล นอกจากนี้ บนเส้นทางสู่การพัฒนาระบบดิจิทัลของรัฐบาล กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารและพันธมิตรด้านการพัฒนายังได้เปิดตัวโครงการ Digital Government Transformation ในปีนี้ เพื่อช่วยสร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลและเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการบริการสาธารณะที่ดีขึ้น ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Ministry_179.php

‘HSBC’ ชี้ภาคการผลิตของเวียดนามตกต่ำ ป่วนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ได้เปิดเผยว่าภาคการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอปรับตัวลดลง เนื่องจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนาม ชี้ว่าโรงงานสิ่งทอราว 35% ต้องปิดตัวลง อย่างไรก็ดี ตัวเลขของส่วนแบ่งการตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าอยู่ที่ 15% เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริษัทกีฬาระดับโลกอย่าง “Nike” เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของเวียดนามที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ด้วยจำนวนโรงงาน 112 แห่งที่กระจายไปทั่วโลก และจำนวนโรงงานข้างต้นนั้น โรงงาน 88 แห่งได้ตั้งอยู่ในเวียดนาม ซึ่งผลิตรองเท้าเกือบครึ่งหนึ่งของบริษัท นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เผยว่าเวียดนามมีรายได้จากการส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอ อยู่ที่ 21.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 9.7% และ 16.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-production-slump-disrupting-global-supply-chain-hsbc-4355645.html

‘เวียดนาม’ เผยยอดขายยานยนต์ชะลอลง เหตุโควิด-19

ยอดขายยานยนต์ของเวียดนามในเดือนสิงหาคมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และอยู่ในระดับแตะจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2558 สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งเวียดนาม (VAMA) เปิดเผยว่าในเดือนดังกล่าว ตัวเลขของยอดขายลดลง 45% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สมาชิกของสมาคมฯ มียอดขายยานยนต์รวมทั้งสิ้น 175,400 คัน ลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากแบ่งประเภทยานยนต์ พบว่ายอดขายของยานยนต์ส่วนบุคคล 121,549 คัน และยานยนต์เชิงพาณิชย์ 50,034 คัน และยานยนต์วัตถุประสงค์พิเศษ 3,817 คัน นอกจากนี้ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 เมื่อปลายเดือนเมษายน กลุ่มตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ โรงงานและศูนย์ซ่อมยานยนต์หลายแห่งของสมาคมฯ ต้องหยุดดำเนินกิจการ เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-automobile-sales-slip-to-record-low-due-to-covid19/207891.vnp

ร้านค้าปลีกจากไทยเร่งขยายสาขาภายในกัมพูชา

กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่จากไทย 2 แห่ง ได้แก่ CP Group และ Berli Jucker Plc (BJC) เตรียมเดินหน้าขยายธุรกิจค้าปลีกในกัมพูชา ซึ่ง ซีพี กรุ๊ป สนใจเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตเทสโก้ โลตัส แห่งแรกในกัมพูชาตามรายงานสื่อ โดยก่อนหน้านี้ ซีพี กรุ๊ป ได้เปิดร้านค้าปลีกภายในกัมพูชาไปแล้วเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผ่านบริษัท CP ALL (Cambodia) ที่เป็นบริษัทลูกของ CP ALL (Thailand) ซึ่งได้เปิดร้านสะดวกซื้อที่รู้จักกันในนาม 7-Eleven แห่งแรกในกรุงพนมเปญ โดย ซีพี กรุ๊ป กำลังเผชิญกับการแข่งขันจากกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง BJC ซึ่งได้เปิดบิ๊กซีสาขาแรกในเมืองหลวงของกัมพูชาไปเมื่อต้นเดือนนี้เช่นเดียวกัน โดยบริษัทวางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจค้าปลีกในประเทศกัมพูชาในอีก 5 ปีข้างหน้า ตามรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50934037/thai-retailers-pursuing-the-kingdoms-keen-shoppers/

8 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกรวมแตะหมื่นล้านดอลลาร์

ตัวเลขการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ลดลง รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งระบุว่ามูลค่าการส่งออกรวมของกัมพูชาอยู่ที่ 1.109 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยตลาดส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาด การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มปรับตัวลดลง ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวเสริมว่า การค้ากับคู่ค้าต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มรวมถึงจักรยานที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ด้วยข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งกัมพูชาคาดว่าจะได้รับการลงทุนเพิ่มขึ้น ที่ถือเป็นการกระตุ้นการส่งออกและการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อป้อนห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศในระยะถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50934036/eight-month-exports-valued-at-11-08-bn/