รมต.ต่างประเทศจีนเข้าพบซูจีหารือความสัมพันธ์ทวิภาคี

เมื่อวานนี้ (11 มกราคม 64) ที่ปรึกษาแห่งรัฐนางอองซาน ซูจี ต้อนรับการาเยือนของ นายหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เมืองเนปยีดอและลงนามในบันทึกความเข้าใจหนึ่งในนั้นคือโครงการรถไฟมัณฑะเลย์ – เจาะพยู และข้อตกลงทวิภาคีเกี่ยวกับความร่วมมือทางธุรกิจและทางเทคนิคแผนห้าปีสำหรับความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ ความเป็นไปได้เกี่ยวกับโครงการพัฒนาถนนและสะพานในชนบท การจัดหาเงินสำหรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้พลัดถิ่นภายในคะฉิ่นและการซื้อรถม้าจากจีนในอัตราดอกเบี้ย 0% การจัดตั้งประชาคมจีน – เมียนมา การดำเนินการตามระเบียงเศรษฐกิจจีน – เมียนมา สำหรับเมียนมาการจัดงานเฉลิมฉลองปีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมียนมาร์ – จีนและความร่วมมือทวิภาคีเพื่อสันติภาพและสันติสุขตามแนวชายแดนพม่า – จีน ทั้งนี้นางซูจีให้คำมั่นว่าจะดำเนินกระบวนการสันติภาพและการปรองดองแห่งชาติในระหว่างที่รัฐบาลใหม่เข้ารับตำแหน่ง จากการหารือเมื่อวานนี้เมียนมาได้รับวัคซีนป้องกัน COVID -19 จำนวน 300,000 เข็มและเวชภัณฑ์มูลค่า 3 ล้านหยวนตามข้อตกลงทวิภาคีของทั้ง 2 ประเทศ

ที่มา : https://elevenmyanmar.com/news/state-counsellor-meets-with-chinese-foreign-minister

รัฐบาลพยายามลดค่าผ่านทางในแขวงจำปาสัก

ภาครัฐและผู้รับเหมาหลายภาคส่วนกำลังหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการปรับลดค่าผ่านทางสำหรับการใช้ถนนสายหลักในแขวงจำปาสัก ผู้ว่าการจังหวัดจำปาศักดิ์กล่าวว่ารัฐบาลกำลังพยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่ถกเถียงกันภายในสิ้นปีนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากค่าผ่านทางที่มีต่อผู้ขับขี่ในพื้นที่ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ร้องเรียนเกี่ยวกับค่าผ่านทางที่กำหนดให้ใช้ถนนเหล่านี้โดยกล่าวว่าการเรียกเก็บเงินนั้นไม่ยุติธรรมและพวกเขาไม่มีเส้นทางอื่นจึงถูกบังคับให้ต้องจ่าย โดยการหารือเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ได้สรุปแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ 3 ประการ ประการแรกคือการลดอัตราค่าผ่านทาง ประการที่สองรัฐบาลสามารถหาเงินทุนจากแหล่งต่างๆเพื่อซื้อโครงการจากผู้รับเหมาแล้วลดอัตราค่าผ่านทาง ประการที่สามรัฐบาลอาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ประสบความยากลำบากโดยต้องจ่ายค่าผ่านทางเป็นประจำ สามารถออกบัตรให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้โดยอนุญาตให้จ่ายน้อยลงและช่วยลดภาระทางการเงิน แม้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ แต่ค่าผ่านทางจะยังคงอยู่แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt_7.php

ผู้บริโภคชาวสปป.ลาวยังคงชื่นชอบผลผลิตทางการเกษตรที่นำเข้าจากพื่อนบ้าน

รัฐบาลสปป.ลาวยอมรับว่าชาวสปป.ลาวยังคงนิยมสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าผลผลิตที่ปลูกเองในประเทศ ตามรายงานของ Lao Post ผู้บริโภคชาวสปป.ลาวยังคงชื่นชอบผลไม้และผักบางชนิดที่นำเข้าจากประเทศไทย เวียดนามและจีนเนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อว่าคุณภาพของสินค้านำเข้าสูงกว่าผลผลิตที่ปลูกในประเทศ จากความเชื่อเช่นนี้จึงมักมีการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรอย่างผิดกฎหมายหรือลักลอบเข้าประเทศ Mr.Oudone Xaymounty รองหัวหน้าสภาประชาชนนครหลวงเวียงจันทน์กล่าวว่า  “ในช่วงหลายปีมานี้ความต้องการสินค้าเกษตรที่ปลูกในสปป.ลาวไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศทำให้ต้องนำเข้าสินค้ปริมาณมากจากประเทศเพื่อนบ้าน” อย่างไรก็ตามรัฐบาลกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรหลังจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของ COVID-19 ทำให้รัฐบาลเร่งพัฒนาและให้ความสำคัญกับภาคเกษตรมากขึ้นเพราะเป็นจะเป็นแหล่งสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่ประเทศ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2021/01/11/lao-consumers-still-favor-imported-agricultural-produce/

สถานการณ์ภาคการเกษตรกัมพูชาในปีที่ผ่านมา

กระทรวงเกษตรตั้งเป้าที่จะเพิ่มผลิตภาพในส่วนของภาคการเกษตรภายในประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงานมนุษย์ ซึ่งเครื่องจักรกลการเกษตรที่เข้ามาคาดว่าจะแทนที่แรงงานคนและสัตว์เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตข้าวและพืชอุตสาหกรรมเกษตร จากรายงานของกรมวิชาการเกษตรกัมพูชาปัจจุบันมีรถแทรกเตอร์ 32,094 คัน รถคูโบต้า 498,119 คัน และรถเกี่ยวข้าว 6,796 คัน ในภาคการเกษตร ซึ่งในปี 2020 กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่ารวมกว่า 4.037 พันล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ซึ่งเป็นการส่งออกข้าวสารมากกว่า 690,000 ตัน ในปี 2020 ไปยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก และข้าวเปลือกอีกมากกว่า 2,800,000 ตัน ถูกส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม รวมไปถึงผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ ร่วมด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50802183/2020-was-a-bumper-year-for-agriculture/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้น

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯมูลค่ารวม 6,059 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2020 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานการส่งออกของกัมพูชา แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตัวเลขจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 6,369 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันลดลงร้อยละ 22 เมื่อเทียบเป็นรายปี นั่นแสดงให้เห็นว่าการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯไปยังกัมพูชาลดลง ซึ่งกัมพูชานำเข้าสินค้าอยู่ราว 312 ล้านดอลลาร์ โดยตัวเลขในเดือนพฤศจิกายน 2020 เพียงเดือนเดียว แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ 526 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 42 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ในทิศทางเดียวกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50802292/cambodian-exports-to-us-rising/

แบงก์ชาติเวียดนามตั้งเป้าสินเชื่อ 12% ในปี 64

ในปี 2564 ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 12% ใกล้เคียงกับระดับเดียวกันของปีที่แล้วที่ 11-12% สิ่งนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในปี 2564 ที่กำหนดไว้ในหนังสือเวียนฉบับ No.01/CT-NHNN โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ แบงก์ชาติเวียดนาม คาดว่าจะยังคงควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำกว่า 4% เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในขณะที่ ภาคธนาคารมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อ รวมถึงช่วยเหลือธุรกิจและผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติเวียดนาม ได้เน้นถึงความสำคัญในเรื่องการปรับโครงสร้างสถาบันสินเชื่อ โดยเฉพาะระบบธนาคารที่อ่อนแอ และแก้ไขปัญหาหนี้เสีย นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 แบงก์ชาติเวียดนามได้หั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ครั้งที่ 4 เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

  ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-cbank-targets-credit-growth-at-12-in-2021-315835.html

เวียดนามก้าวสู่สังคมไร้เงินสด

เวียดนามกำลังจะเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด เนื่องจากผู้คนหันมาใช้จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) แทนการชำระเงินแบบดั้งเดิม ตามผลการสำรวจจากผู้ให้บริการชำระเงิน “VISA” ในปี 2563 เผยว่าลูกค้าชาวเวียดนาม 47% หันมาใช้การชำระเงินที่ไร้การสัมผัส และ 45% ใช้การชำระเงินออนไลน์ และ 51% มีบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ซึ่งแนวโน้มพฤติกรรมการชำระเงินดังกล่าว คล้ายกับอีกหลายๆประเทศในเอเชียแปซิฟิก นับว่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ VISA ประกาศเร่งโครงการสตาร์ทอัพในภูมิภาคนี้ รวมถึงเวียดนาม ทั้งนี้ นาย Chris Clark ประธานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของ Visa กล่าวว่าจากประสบการณ์ของบริษัทและกลุ่มสตาร์ทอัพหลายแห่ง พบว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งธุรกิจจะเผชิญกับอุปสรรคบางอย่าง เมื่อทำการขยายการดำเนินงานไปยังต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังเป็นจุดหมายปลายทางส่วนใหญ่ของการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยสัดส่วน 36% ที่ลงทุนไปยังระบบการชำระเงินแบบใหม่ในปี 2562

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-moves-towards-cashless-society-315819.html

ราคาอสังหาฯ มัณฑะเลย์คาดหดตัวลงในปี 64

สมาคมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งเมียนมาเผยอสังหาริมทรัพย์ในเขตมัณฑะเลย์คาดลดลง 5% ถึง 25% ในปีงบประมาณ 63-64 ราคามาตรฐานจะอัพเดททุกปี สำหรับราคาของปีนี้ประกาศในเดือนตุลาคม 63 ที่ผ่านมา ขณะนี้เขตอุตสาหกรรมและพื้นที่ใหม่ของมัณฑะเลย์เป็นที่ต้องการอย่างมากเนื่องจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องการที่ขายออกเนื่องจากปัญหาทางการเงินที่เกิดจากการระบาดของโควิด -19 ซึ่งผู้ซื้อกำลังมองหาโอกาสนี้ในการลงทุนในยุคหลัง COVID-19 อย่างไรก็ตามตลาดอสังหาริมทรัพย์ในตัวเมืองชั้นในมีความซบเซาลงด้วยธุรกรรมที่ลดลงไปด้วยเช่นกัน

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/mandalay-property-prices-expected-drop-2021.html

สามเดือนเมียนมาขาดดุลการค้ากว่า 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์เผยขาดดุลการค้ากว่า 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในปีงบประมาณปัจจุบันซึ่งสูงกว่า 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 63 ถึง 1 มกราคม 64 ในปีงบการเงิน 63-64 ส่งออกสินค้ามูลค่า 3.685 พันล้านเหรียญสหรัฐลดลงกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับปีที่แล้วและนำเข้ามีมูลค่ากว่า 3.920 พันล้านเหรียญสหรัฐลดลงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นจึงขาดดุล 234.525 ล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้วมีการขาดดุลเพียง 89.233 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมียนมากำลังดำเนินการตามยุทธศาสตร์การส่งออกแห่งชาติเพื่อส่งเสริมการส่งออก แต่ไม่สามารถลดการนำเข้าสินค้าจำเป็นได้ ในทางปฏิบัติความพยายามในการลดการขาดดุลการค้าต้องเผชิญกับปัญหาบางประการ

ที่มา: https://elevenmyanmar.com/news/myanmar-sees-trade-deficit-of-over-230m-in-three-months

อาคมถกนายกฯเตรียมเยียวยาประชาชน ลั่นเงินมีพอไม่ต้องกู้เพิ่ม

อาคม ถกนายกฯ มาตรการเยียวยาโควิด ยันมีแจกแน่ แต่ขอเลือกก่อนว่าแบบ เราไม่ทิ้งกัน หรือ คนละครึ่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้เข้าหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถึงรายละเอียดบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่โดยกระทรวงการคลังจะกลับมาทำการบ้านเพิ่มเติม ขณะนี้รัฐบาลได้มีการเตรียมการเรื่องบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว ซึ่งกำลังพิจารณารูปแบบ เช่น การเยียวยาเหมือนเดิม 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน หรือจะใส่เม็ดเงินเหมือนโครงการคนละครึ่งหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่คลังต้องพิจารณา “ข้อเรียกร้องให้แจกเงิน 4,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือนเยียวยาประชาชนนั้น เป็นข้อเสนอของเอกชน ไม่ทราบว่าเสนอบนพื้นฐานของอะไร แต่ส่วนของรัฐบาลได้มีการเตรียมการเรื่องบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งในรายละเอียดจะต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่ยังไม่ได้เสนอ ครม.ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ ต้องทำการบ้านให้จบก่อน” ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะใช้วงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยล่าสุด กระทรวงการคลังกู้เงินจากวงเงินดังกล่าวแล้ว 3.7 แสนล้านบาท และเบิกจ่ายเงินแล้ว 3.6 แสนล้านบาท จึงยังมีเพียงพอ ยังไม่จำเป็นต้องขอกู้เงินเพิ่มเติม

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/818373