แขวงเซกอง สปป.ลาว อนุมัติโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำกว่า 50 แห่ง

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ลาวเศรษฐกิจรายวันอ้างคำพูดของผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและการลงทุนแขวงเซกอง ที่กล่าวว่า ขณะนี้มีการวางแผนก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ 54 แห่ง และอยู่ระหว่างการลงนามเพื่อเริ่มการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำ 28 แห่ง แขวงเซกอง ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 530 กม. ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตรวม 353 เมกะวัตต์ สามารถผลิตได้มากกว่า 1,383 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี โดยมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตนี้ มีจำนวน 18,633 หลังคาเรือน ใน 164 หมู่บ้าน และมีไฟฟ้าใช้ คิดเป็น 83.51% ของบ้านทั้งหมดในเขตนี้ รายงานระบุว่าประชาชนในพื้นที่ชนบทได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาเหล่านี้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ที่มา: https://english.news.cn/20240109/3b2bd74c9d0a4e10b5f3a8482507d4e7/c.html

‘รายได้เฉลี่ยของคนงานเวียดนาม’ เพิ่มขึ้น 6.9% ปี 66

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่ารายได้เฉลี่ยของคนงานเวียดนามในปี 2566 อยู่ที่  7.1 ล้านดองต่อคนต่อเดือน (หรือมากกว่า 291 ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนงานเพศชายและเพศหญิงอยู่ที่ 8.1 ล้านดอง และ 6 ล้านดอง ตามลำดับ โดยสาเหตุที่รายได้ของคนงานปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากภาคธุรกิจมีการผลิตมากขึ้นและกิจกรรมทางธุรกิจฟื้นตัวจากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-labourers-average-income-up-69-in-2023/275932.vnp

‘เวียดนาม’ ทำสถิติส่งออกข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปี 66

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) รายงานว่าผลผลิตข้าวในประเทศอยู่ที่ 43.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.9% เป็นไปตามความต้องการในประเทศและการส่งออก โดยจากตัวเลขสถิติในปี 2566 แสดงให้เห็นว่าเวียดนามประสบความสำเร็จในการส่งออกข้าว ทั้งด้านปริมาณการส่งออกและราคาที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สถานการณ์ในปีนี้ คาดการณ์ว่าทิศทางการส่งออกข้าวจะเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกและปรากฏการณ์เอลนีโญที่ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดหาวัตถุดิบและอาหาร รวมถึงบางประเทศได้ระงับการส่งออกธัญพืช เช่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรชั้นนำ โดยเฉพาะข้าว เวียดนามยังคงสามารถรับประกันความมั่นคงด้านอาหารของชาติและการเติบโตของการส่งออกได้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/rice-export-soars-to-record-high-in-2023/275926.vnp

กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน

กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการตามแผนเพื่อจัดตั้งประเทศให้เป็นศูนย์กลางฮาลาลที่สำคัญในอาเซียน โดยนางพิมพ์พัตรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมหารือเกี่ยวกับความคิดริเริ่มนี้กับเจ้าหน้าที่ในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก นางพิมพ์พัตรา มีกำหนดพบปะกับหน่วยงานมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพแห่งซาอุดีอาระเบีย (SASO) โดยเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐาน แผนของรัฐบาลยังรวมถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลข้ามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และบางส่วนของสงขลา ทางเดินนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับวิถีชีวิตในท้องถิ่นและขยายผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลที่หลากหลาย ครอบคลุมอาหาร แฟชั่น และการท่องเที่ยว กระทรวงคาดว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฮาลาลจะมีส่วนทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มขึ้น 1.2% ภายใน 3 ปี มูลค่าตลาดโลกสำหรับธุรกิจฮาลาลคาดว่าจะสูงถึง 2.32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 โดยในปี 2565 การส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213 พันล้านบาท คิดเป็น 2.7% ของตลาดโลก

ที่มา: https://thainews.prd.go.th/en/news/detail/TCATG240108115722827

นายกเทศมนตรีย่างกุ้งตรวจสอบโครงการเขตพิเศษปศุสัตว์ในเมือง Twantay

U Bo Htay ประธานคณะกรรมการพัฒนาเมืองย่างกุ้ง เยี่ยมชมโครงการเขตพิเศษปศุสัตว์ใกล้กับหมู่บ้าน Talokhtaw เมือง Twantay เช้าวานนี้ โดยได้มีการตรวจสอบจำนวนและสถานการณ์ของสัตว์ใน 3 โซนของโครงการพิเศษ และสั่งให้เพิ่มจำนวนสัตว์ เพื่อให้มีอาหารเพียงพอในอนาคต ต่อมานายกเทศมนตรีและทีมงานได้ตรวจโคนมของบริษัท MDP ในโซน 2 โดยมีโคนมจำนวน 71 ตัว ไก่ไข่ 500 ตัว และแพะจากฟาร์มเพาะพันธุ์ Twantay ในโซน 1 จำนวน 186 ตัว ทุ่งหญ้าเนเปียร์และข้าวโพด พร้อมด้วยเป็ด 1,000 ตัว โดยบริษัท โกลเด้น ดั๊ก จำกัด อย่างไรก็ดี หลังจากการตรวจสอบดังกล่าว นายกเทศมนตรีและทีมงานได้พบกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานระดับเขตและเมือง และผู้ประกอบการปศุสัตว์ในเขตพิเศษเพาะพันธุ์ Twantay หารือถึงการดำเนินงานในปัจจุบันและแผนการขยายธุรกิจเพิ่มเติมตามผู้ประกอบการแต่ละราย นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจสอบในเรื่องของถนนระหว่างเมือง ท่อระบายน้ำ การปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อความสะอาด และสะพานเชื่อมต่อกับถนนย่างกุ้ง-ปะเต็ง อีกด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/yangon-mayor-inspects-livestock-special-zone-project-in-twantay/#article-title

ประธานาธิบดี สปป.ลาว ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นอิสระ

นายทองลุน สีสุลิด เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคปฏิวัติประชาชนลาวและประธานาธิบดี สปป.ลาว ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นอิสระและเป็นเจ้าระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยเขาได้กล่าวในที่ประชุมภาคการเงินทั่วประเทศที่จัดขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ว่า “นับจากนี้ไป คณะกรรมการกลางพรรคและกรมการเมือง จะกำหนดนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ จากสถานการณ์ที่ต้องพึ่งพาภายนอกอย่างมากในปัจจุบันไปสู่พื้นฐานความเป็นอิสระและความเป็นเจ้าระบบเศรษฐกิจของลาวเอง” ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า สปป.ลาว จะต้องผลิตทุกอย่างใช้เอง แต่แนวคิดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าของประเทศ โดยหันมาใช้ทรัพยากรภายในประเทศและพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่นๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ชาวลาวมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้มากขึ้น การทำการค้าและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดโลกในวงกว้าง ทุนจากต่างประเทศ ความรู้ และเทคโนโลยีควรได้รับการส่งเสริมเพื่อนำทรัพยากรไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_05_President_y24.php

กัมพูชาขาดดุล BOP แตะร้อยละ 3 ของ GDP ประเทศ

กัมพูชาขาดดุลการชำระเงิน (BOP) ที่ 996 พันล้านเรียล ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3 ของ GDP ประเทศ ตามรายงานล่าสุดของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) สำหรับดุลการชำระเงินและดุลบัญชีเงินทุนอยู่ที่ 1,634 พันล้านเรียล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของ GDP ในขณะเดียวกัน บัญชีการเงิน สำหรับไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 6.11 พันล้านเรียล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP โดยจากข้อมูลของ NBC ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 BOP ของกัมพูชาเกินดุลที่ 1,366 พันล้านเรียล เมื่อเทียบกับการขาดดุล 322 พันล้านเรียล ในไตรมาสแรกของปี 2023 ด้านการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 18.59 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องแต่งกาย รองเท้า สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว จักรยาน และสินค้าเกษตร อย่าง ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย และมะม่วง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501418108/kingdoms-bop-deficit-stood-at-3-percent-of-gdp-in-2023-q3/

General Science ประกาศขยายโรงงานในกัมพูชา ด้วยเม็ดเงินลงทุน 255 ล้านดอลลาร์

บริษัท Jiangsu General Science Technology Co., Ltd. วางแผนขยายกำลังการผลิต ภายใต้กรอบระยะเวลาก่อสร้างราว 18 เดือน เพื่อจะเพิ่มกำลังการผลิตยางรถยนต์ Radial Passenger Car แบบกึ่งเหล็กให้ได้ 3.5 ล้านเส้น ต่อปี และยางรถบรรทุกและรถบัสแบบ All-Steel 750,000 เส้น ต่อปี ณ โรงงานดังกล่าว ซึ่งเปิดดำเนินการในกัมพูชาเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เป็นฐานการผลิตต่างประเทศแห่งที่สองของบริษัท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 18 เฮกตาร์ ในจังหวัดพระสีหนุ มีพนักงานกว่า 1,600 คน โดยการขยายโรงงานครั้งนี้ ไม่เพียงเพิ่มกำลังการผลิตเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสการจ้างงาน และส่งเสริมกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมของกัมพูชา โดยปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตอยู่ 3 แห่ง ในจีน ไทย และกัมพูชา ซึ่งมีทีมการตลาดมืออาชีพและเครือข่ายการขายที่ครอบคลุมกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเน้นไปที่ สหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501418887/general-science-announces-255-million-expansion-plan-in-cambodia/

กกร. จ่อถกประเมินศก. ปี’67 ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์เสี่ยงสูง

นายเกียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทยจะหารือประจำเดือนมกราคม 2567 ในวันที่ 10 ม.ค. โดยเบื้องต้นคงจะต้องมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2567 อีกครั้งเพื่อให้สอดรับกับทิศทางต่างๆ ทั้งแนวโน้มการท่องเที่ยว การส่งออก การลงทุนทั้งรัฐและเอกชน ที่ยอมรับว่าปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงกดดันการเติบโตของทั้งเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามท่ามกลางเศรษฐกิจโลก ความข้ดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจไทยเองก็ยังคงเผชิญกับหนี้ครัวเรือนในระดับสูงจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ควบคู่กับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมาโดยเร็ว นอกจากนี้การที่รัฐบาลเร่งดูแลค่าครองชีพประชาชนนับเป็นแนวทางที่ดีโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าแต่จะยั่งยืนกว่าหากรัฐบาลปรับโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่ายโดยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงานเพื่อระดมความเห็นทุกภาคส่วนเพื่อการปรับปรุงโครงสร้างพลังงานทั้งระบบที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9670000001844

‘เวียดนาม’ เผย ปี 66 ยอดลงทุนไปต่างประเทศดิ่งลงฮวบ 21.2%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในปี 2566 ยอดการลงทุนเวียดนามในต่างประเทศ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 420.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 21.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จำแนกออกเป็นโครงการที่จดทะเบียนใหม่ 124 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 282.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ภาคการค้าส่งค้าปลีก คิดเป็นสัดส่วน 37.3% ของการลงทุนทั้งหมด รองลงมาภาคเทคโนโลยีและการสื่อสาร (28.7%) โดยแคนาดาเป็นแหล่งการลงทุนชั้นนำของเวียดนาม ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากเวียดนามอยู่ที่ 150.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยสิงคโปร์ (122.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และสปป.ลาว (116.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-2023-outbound-investments-dip-21-2-y-o-y/