สปป.ลาว กำหนดให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือลงทะเบียนเบอร์ ภายในกลางเดือนธันวาคม 2566

สปป.ลาว กำหนดให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด 6.45 ล้านคน ของประเทศลงทะเบียนหมายเลขของตนภายในวันที่ 16 ธ.ค. โดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร สปป.ลาว กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ไม่ลงทะเบียนหมายเลขของตนจะไม่สามารถโทรออกได้หลังหมดเขตกำหนดเวลา หมายความว่าหมายเลขดังกล่าวจะถูกตัดโดยสิ้นเชิง” ทั้งนี้ กฎนี้สร้างขึ้นโดยอ้างถึงการปราบปรามการหลอกลวงทางออนไลน์และเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล บางคนยินดีทำตามประกาศดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางในการปราบปรามอาชญากรและกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย แต่หลายคนเห็นว่ามันเป็นการลุกล้ำความเป็นส่วนตัว และเป็นอีกวิธีหนึ่งในการยับยั้งความขัดแย้งในประเทศพรรคเดียว

ที่มา : https://www.rfa.org/english/news/laos/registration-11282023143213.html

เมียนมาร์ให้ความสำคัญกับเวียดนามในการส่งออกน้ำตาล

เมียนมาร์หันมาให้ความสำคัญกับเวียดนามในการส่งออกน้ำตาลมากขึ้น เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อน้ำตาลจำนวน 10,000 ตันจากเวียดนาม ตามการระบุของสมาคมที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลและอ้อยของเมียนมาร์ โดยเมียนมาร์วางแผนที่จะส่งออกน้ำตาลไปยังบังกลาเทศ อินโดนีเซีย และต่างประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากการบริโภคในประเทศ ในขณะที่การส่งออกน้ำตาลไปยังเวียดนามจะถูกจัดเตรียมก่อนเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา ทั้งนี้ การดำเนินการบดอ้อยของเมียนมาร์ดำเนินไปอย่างเต็มที่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ซึ่งมีผลผลิตอ้อยประมาณ 400,000 ตันต่อปี อย่างไรก็ดี น้ำตาลล็อตใหม่จะเริ่มไหลเข้าสู่ตลาดภายในประเทศ เดือนธันวาคมปีนี้ นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลขึ้นราคาอ้อยเป็น 150,000 จ๊าดต่อตันสำหรับฤดูอ้อยปี 2566-2567 จากอัตราที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 110,000 จ๊าดต่อตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-to-prioritize-viet-nam-for-sugar-export/#article-title

การส่งออกภาคการผลิตสร้างรายได้ 5.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน

สถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมาร์เผยว่า มูลค่าการส่งออกจากภาคการผลิตมีมูลค่ามากกว่า 5.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายนในปีงบประมาณ 2566-2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 โดยสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามูลค่าการส่งออกลดลง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูปโดยภาคเอกชนมีมูลค่าประมาณ 3.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การส่งออกที่ดำเนินการโดยภาครัฐมีมูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ได้แก่ การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำตาล ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าอื่นๆ ซึ่งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปอยู่ในอันดับที่ 1 ใน 10 อันดับแรก รวมถึงก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/manufacturing-sector-exports-generate-us5-87-bln-as-of-17-november/

256 CEO 76 จังหวัด ห่วงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้นทุนผลิต-ราคาสินค้าพุ่ง

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 35 เดือน พ.ย. 66 ภายใต้หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่รอด” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลถึงกรณีที่หากภาครัฐมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ในอัตราที่สูงเกินไป  รวมทั้งการที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระในการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานเดิมตามฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ จะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ จากผลสำรวจปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีต้นทุนแรงงานอยู่ที่ 11 – 20% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด  ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ โดยยึดหลักการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) เพื่อจูงใจให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน  และควรมีมาตรการส่งเสริมกลไก Pay by Skill โดยเฉพาะการเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นอกจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่แล้ว ภาครัฐควรจะต้องแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานในระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการดูแลลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น ลดค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น  อีกทั้งยังมีการกำกับดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้น-ลงตามต้นทุนที่แท้จริงซึ่งจะทำให้แรงงานมีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับตลาดอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่มองว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานในภาคการผลิตอยู่ แต่จะเริ่มมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนการใช้แรงงานคนมากขึ้น ในอัตราส่วนไม่เกิน 20% ของการใช้แรงงานคนในปัจจุบัน

ที่มา : เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ https://www.thansettakij.com/business/economy/582122

สนค. แนะไทยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน ชิงแหล่งทุนจากทั่วโลก แห่ใช้อาเซียนฐานผลิตแห่งใหม่

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อาเซียนกลายเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะสภาพแวดล้อมหมาะสม การย้านฐานผลิตของจีน หลังเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐ-จีน และไทยเร่งเจรจาเอฟทีเอมากขึ้น ทั้งนี้ หลังจากการเกิดโควิด-19 อาเซียนมีความยืดหยุ่นตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจการค้าของโลกอย่างรวดเร็ว จากรายงาน ASEAN Investment Report 2022 ระบุว่า ปี 2564 มีเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศไหลเข้าเพิ่มขึ้นถึง 42% มูลค่า 1.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงความน่าดึงดูดใจทางเศรษฐกิจของภูมิภาคของนักลงทุนทั่วโลก ด้วยตลาดขนาดใหญ่และความร่วมมือภายในภูมิภาคที่เข้มแข็ง โดยอาเซียนเป็นเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญรองจากจีน ซึ่งการลงทุน FDI ช่วยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ในรายงานของ IMF ล่าสุด ณ ตุลาคม 2566 คาดการณ์ว่าปี 2566 เศรษฐกิจของอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย จะขยายตัว 4.5% และขยายตัว 4.5% ในปี 2567 ซึ่งมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว 3% และ 2.9% ตามลำดับ

ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์  https://www.matichon.co.th/economy/news_4304946

 

‘ฮานอย’ ต้อนรับนักท่องเที่ยว 22.6 ล้านคน

กรมการท่องเที่ยวของกรุงฮานอย รายงานว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 กรุงฮานอยต้อนรับนักท่องเที่ยว 22.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 32.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยจากกลุ่มนักท่องเที่ยวขาเข้าประเทศ พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ มีจำนวน 4.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำรายได้มากกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 58.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ทั้งนี้ เงีย เฮือง ซาง (Dang Huong Giang) ผู้อำนวยการกรมการท่องเที่ยวฮานอย กล่าวว่าเมืองฮานอยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งมีการใช้โมเดลส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงจัดแพ็คเกจทัวร์กิจกรรมทางน้ำและศูนย์หัตถกรรม นอกจากนี้ยังได้สร้างแผนที่การท่องเที่ยวดิจิทัลในหลายภาษาที่นำร่องในบางเขต และได้นำระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการนักท่องเที่ยว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/hanoi-welcomes-226-mln-tourists-in-11-months/271935.vnp

กัมพูชาจัดทำระบบ “e-Arrival” ณ สนามบินแห่งชาติ 2 แห่ง ภายในปี 2024

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา (GDI) จ่อเปิดตัวระบบใหม่ภายใต้ชื่อ “Cambodia e-Arrival” ณ สนามบินนานาชาติ 2 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติพระสีหนุและสนามบินนานาชาติพนมเปญเร็วๆ นี้ โดยคาดว่าระบบจะมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามายังกัมพูชาในการกรอกแบบฟอร์มที่จำเป็นล่วงหน้า ผ่านแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงข้อมูลทางด้านวีซ่าเมื่อเดินทางมาถึง ใบรับรองการเข้าเมือง และใบศุลกากร เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวจะเปิดให้บริการที่สนามบินนานาชาติเสียมราฐ-อังกอร์ ภายในปี 2024 ตามคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต โดยได้กล่าวไว้ในขณะที่เป็นประธานในพิธีเปิดสนามบินแห่งใหม่เมื่อเร็วๆ นี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501398559/cambodias-two-airports-to-have-e-arrival-system-in-2024/

สระแก้วถือมีบทบาทสำคัญต่อภาคโลจิสจิสติกส์ระหว่างกัมพูชา เวียดนาม และจีน

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางเยือนจังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หวังหารือเกี่ยวกับความสำคัญของจังหวัดในด้านเครือข่ายการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยสามารถรองรับการจราจรและการค้าได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีผู้คนข้ามแดนมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี และมีมูลค่าการค้าชายแดนประมาณ 110,000 ล้านบาทต่อปี ด้านนายกฯ ยังได้เน้นย้ำถึงความสามารถของจังหวัดสระแก้วในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยกับประเทศที่มีชายแดนติดกันกับไทย อย่าง กัมพูชา เวียดนาม และจีน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของไทย อีกทั้งยังมีแนวนโยบายในการจัดทำบัตรผ่านแดนชั่วคราวสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ชาวสระแก้ว เพื่อให้สามารถข้ามชายแดนได้โดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง ภายใต้การดำเนินงานของด่านผ่านแดนคลองลึก-ปอยเปต ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเดินทางในเขตพื้นที่ดังกล่าวหวังดันการค้าและการเดินทางเติบโตต่อเนื่องในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501398538/sa-kaeo-plays-crucial-role-in-logistics-sector-commercial-relationships-with-cambodia-vietnam-and-china/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้ายอดการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 67 ทะลุ 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) ตั้งเป้าหมายยอดการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 2567 มีมูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเห็นสัญญาณเชิงบวกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อย่างไรก็ดีถึงแม้เผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่มืดมน ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอุปสงค์โลกที่ลดลง แต่ความสำเร็จของการส่งออกสิ่งทอเวียดนาม เป็นผลมาจากความพยายามของภาคธุรกิจในประเทศ ซึ่งธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้กว่า 104 ประเทศทั่วโลก นับเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมฯ แสดงให้เห็นว่าในเดือน ก.ย. สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเข้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีมูลค่าราว 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสหภาพยุโรป ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-targets-44-billion-usd-in-textile-apparel-export-turnover-in-2024-vitas/271937.vnp