การขาดแคลนเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น

เจ้าหน้าที่จากร้านขายส่งเหล็กกลวงในเมืองดากองเมียวทิต (ใต้) กล่าวว่า ในปัจจุบัน ราคาเหล็กกลวงได้พุ่งสูงขึ้นเนื่องจาก อุปทานในตลาดมีน้อย แม้แต่บริษัทผู้ผลิตก็ยังขายในราคาที่สูงขึ้น โดยในเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน มียอดขายที่ดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก มีการซ่อมแซมอาคาร เช่น การซ่อมแซมหลังคา มักจะดำเนินการก่อนฤดูมรสุม และในช่วงมรสุมจะมีการปูพื้นหินอ่อนและขัดหินอ่อนภายใน เหล็กมักขายดีในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากอุปทานเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างมีน้อย ราคาจึงดี และคาดว่าการขายจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนหน้า ตามข้อมูลของร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ก่อนฤดูมรสุมนี้คาดว่าการขายเหล็กกลวงที่ใช้ในการก่อสร้างจะเพิ่มมากขึ้น และในปัจจุบันราคาได้สูงขึ้นเนื่องจากการขาดแคลนอุปทาน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/construction-iron-shortage-leads-to-higher-price/

ส.อ.ท. ร้องรัฐบาลสกัดเหล็กจากจีน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า อุตสาหกรรมของประเทศไทยกำลังเผชิญกระแสสินค้าจากจีนเข้ามาแย่งตลาด โดยอุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสุดจากการทุ่มตลาดและการทะลักของชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กจากจีน จนการใช้กำลังการผลิตเหล็ก ในปี 2566 ตกต่ำเหลือเพียง 31% เท่านั้น และแนวโน้มยังแย่ลงอีกในปีนี้จนเป็นที่น่ากังวลยิ่งว่าหากภาครัฐยังดำเนินการต่างๆไม่ทันการณ์ โรงงานเหล็กไทยจะต้องปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานอีกจำนวนมาก ส.อ.ท.จึงได้นำเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.กระทรวงอุตสาหกรรม ใช้มาตรการห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็ก โดยมุ่งไปที่เหล็กที่มีกำลังการผลิตมากล้นเกินความต้องการ รวมทั้งบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ควบคุมคุณภาพส่วนประกอบของสินค้าโครงสร้างสำเร็จรูป 2.กระทรวงพาณิชย์ไต่สวนและบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล และพิจารณาความจำเป็นในการใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG) โดยเก็บอากร SG สินค้าเหล็กทุกประเภทสูงถึง 25% 3.ปรับปรุง/แก้ไข พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ให้มีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) 4.ขยายผลใช้มาตรการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตภายในประเทศจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไปยังการก่อสร้างประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ด้านนายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) และผู้แทนกลุ่ม 10 สมาคมเหล็ก เปิดเผยว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กวิกฤติยิ่งขึ้น จากเหล็กจีนทะลักเข้ามาไทยทั้งการทุ่มตลาด การอุดหนุน และการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า ทำให้ผู้ผลิตสินค้าเหล็กไทยซึ่งมีการจ้างงานทั้งระบบกว่า 330,000 คน ได้รับผลกระทบรุนแรงจนบางโรงงานต้องปิดกิจการและเลิกจ้าง 10 สมาคมเหล็กจึงได้เร่งประสานทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ เพื่อให้มีการเร่งรัดแก้ไขปัญหาวิกฤติอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้วิจัยพบว่าการผลิตเหล็กในประเทศไทยที่หายไปทุกๆ 1 แสนตัน จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทย ลดลง 0.19% และอัตราการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กลดลง 1.2%

ภาพจาก : Thaipubilca

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2766803

บริษัทผู้ผลิตเหล็กมาเลเซีย จัดทำข้อตกลงร่วมกับผู้ประกอบการกัมพูชาในการจัดหาทรัพยากร

บริษัท LEFORM Bhd ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เหล็ก ได้ทำสัญญาร่วมกับ บริษัท Nim Meng Group Co., Ltd. ประเทศกัมพูชา ผ่านบริษัทย่อยอย่าง บริษัท Leform Metal SdnBhd ในการจัดหาทรัพยากรเผื่อการผลิตราวกั้นทางหลวง สำหรับโครงการปรับปรุงถนนแห่งชาติหมายเลข 5 ด้วยมูลค่าสัญญารวมกว่า 1.95 ล้านดอลลาร์ โดยโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ในกัมพูชา ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะเริ่มต้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2024 และสิ้นสุดภายในเดือนธันวาคม 2024

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501398756/listed-malaysian-steel-products-manufacturer-leformbags-supply-deal-in-cambodia-worth-1-9-million/

‘เวียดนาม’ เผย 10 เดือน ส่งออกเหล็กเติบโตในเชิงบวก

สมาคมเหล็กเวียดนาม (VSA) เปิดเผยว่าเวียดนามส่งออกเหล็กมากกว่า 6.7 ล้านตันในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (HRC) ที่ขยายตัวแข็งแกร่ง 201% ตามมาด้วยเหล็กกัลวาไนซ์ และท่อเหล็ก ขยายตัว 2.8% และ 17% ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดส่งออกเหล็กรายใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของเวียดนามในปีนี้ ได้แก่ อิตาลี กัมพูชา สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เบลเยียม สเปน ไต้หวัน (จีน) และไทย ทั้งนี้ สมาคมเหล็กแห่งยุโรป ระบุว่าเวียดนามมีสัดส่วนการนำเข้า 8.1% ของปริมาณการนำเข้าเหล็กสำเร็จรูปจากยุโรปในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี อินเดียมีแนวโน้มที่จะเป็นตลาดส่งออกเหล็กที่ใหญที่สุดของเวียดนามในช่วงเวลา 10 เดือนของปีนี้ มูลค่าเกินกว่า 539.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณเกินกว่า 730,000 ตัน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-steel-exports-record-positive-growth-in-10-months-post1059565.vov

‘อุตสาหกรรมเหล็กเวียดนาม’ จะกลับมาฟื้นตัวในปี 67

สมาคมเหล็กเวียดนาม (VSA) เปิดเผยว่าผลผลิตเหล็กในเดือนกันยายน จำนวนรวมทั้งสิ้น 2.34 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และลดลง 4.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การบริโภคเหล็ก ปริมาณ 2.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 9.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยผลผลิตเหล็กในเดือนดังกล่าวได้รับแรงกระตุ้นมาจากนโยบายของภาครัฐฯ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาคอขวดและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. ตลอดจนเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินลงทุนสาธารณะ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมขนส่ง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/steel-industry-expected-to-recover-in-2024/270051.vnp

“เวียดนาม” เผยราคาเหล็กขาลง

บริษัท ฮว่า ฟ้าด กรุ๊ป (Hoa Phat Group) ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของเวียดนาม มีส่วนแบ่งทางการตลาด 40% ในอุตสาหกรรมเหล็กก่อสร้างของประเทศ ขณะทึ่ราคาเหล็กเส้น D10 CB300 อยู่ที่ 14.69 ล้านดองต่อตัน และราคาเหล็กรีด CB240 อยู่ที่ 14.49 ล้านดองต่อตัน ลดลง 200,000 ดอง และ 210,000 ดอง ตามลำดับ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมเหล็กเวียดนาม ประจำเดือน เม.ย. ระบุว่าราคาเหล็กก่อสร้างลดลง 1.5 ล้านดองต่อตัน เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลง ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับลดราคา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งการลดลงของราคาเหล็ก ช่วยให้การผลิตและการบริโภคของเชื้อเพลิงดีขึ้น อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จากบริษัท VNDirect คาดว่ายอดขายเหล็กมีแนวโน้มที่ทรงตัวตลอดทั้งปี และมองว่ายอดขายเหล็กก่อสร้างจะลดลง 9.2%, เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีจะลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/steel-prices-in-downward-spiral/

‘เวียดนาม’ เผยสินค้าส่งออกหลัก 7 รายการที่มีมูลค่ามากกว่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ตามข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ย. เปิดเผยว่าสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม จำนวน 7 รายการที่มีมูลค่าการส่งออกแต่ละรายการ มากกว่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง โดย 2 สัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. เวียดนามมีมูลค่าส่งออก 14.61 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ยอดการส่งออกรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ต้นปีนี้ แตะ 284.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี

โดยเฉพาะสินค้าประเภทเหล็กและเหล็กกล้าที่เข้าร่วมรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่ามากกว่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นครั้งแรก ตามมาด้วยโทรศัพท์และชิ้นส่วน, คอมพิวเตอร์และส่วนประกเอบ, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องจักร, เสื้อผ้าและสิ่งทอ, รองเท้า, ไม้และผลิตภัณฑ์ทำมาจากไม้ ทั้งนี้ โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ ทำรายได้จากการส่งออกสูงที่สุด ด้วยมูลค่า 48.8 และ 43.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ รองลงมาเครื่องจักร เสื้อผ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ทำมาจากไม้ เป็นต้น

ที่มา :  https://english.vov.vn/en/economy/seven-commodities-with-export-value-hitting-over-us10-billion-each-906875.vov

‘เวียดนาม’ เผยอุตฯ เหล็ก ยอดส่งออกกว่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ภาวะการส่งออกเหล็กในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะ 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ต.ค. เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์ทำมาจากเหล็กอยู่ที่ 9.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 135.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีนี้ ตามรายงานของสำนักงานการนำเข้า-ส่งออก ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ยอดการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์ทำมาจากเหล็ก ทะลุ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ สมาคมเหล็กเวียดนาม (VSA) ระบุว่าการส่งออกเหล็กเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/steel-industry-to-join-10billion-usd-export-club/211526.vnp

5 เดือนแรกของงบฯ ปี 63-64 เมียนมานำเข้าเหล็กมากกว่า 315 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563-2564 (ต.ค. – ก.พ. )  มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าของเมียนมามีมูลค่าประมาณ 315.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายงานของกรมศุลกากรเมียนมา ปัจจุบันเมียนมามีความต้องการเหล็กประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปีและนำเข้าถึง 92% จากข้อมูลของ Myanmar Steel Association (MSA) ตลาดมีแนวโน้มเติบโตถึง 5.4 ล้านตันต่อปีในปี 2573 ดังนั้นจึงมีการจัดตั้ง บริษัท เอ็มเอสเอ จำกัด (มหาชน) ขึ้น และพยายามตั้งเขตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าเพื่อลดการนำเข้าและผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งการศึกษาเพื่อดำเนินโครงการจะอยู่ในเขตอิระวดี เขตตะนาวศรี รัฐยะไข่ และรัฐมอญ ดังนั้นรัฐจึงสนับสนุนโดยการลดหย่อนภาษีและสิทธิในที่ดินเพื่อควบคุมการนำเข้าที่ผิดกฎหมายและการทุ่มตลาด เห็นได้ว่าอุตสาหกรรมเหล็กมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม โครงการนี้จึงมีความจำเป็นเพราะถือว่าเป็นอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้จีนเป็นซัพพลายเออร์หลักของเมียนมาร์ นอกจากนี้ยังนำเข้าจากอินเดียและสาธารณรัฐเกาหลี

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-iron-steel-materials-imports-exceed-315-mln-in-five-months/

ธุรกิจเหล็กชั้นนำเวียดนาม “ฮวาฟัต” เผยยอดขายดิ่ง 25% ในเดือนก.พ.

ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของเวียดนาม “หวาฟัต” (Hoa Phat Group) เปิดเผยว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ธุรกิจมียอดจำหน่ายเหล็กรวมทั้งสิ้น 439,000 ตัน ลดลง 25% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งสาเหตุที่ยอดจำหน่ายลดลงเนื่องมาจากอยู่ในช่วงเทศกาลเต็ต (Tet) ระยะเวลา 7 วัน และผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายเหล็กก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวน 189,000 ตัน ในขณะที่ฝั่งปริมาณการผลิตของเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน (HRC) และเหล็กบิลเล็ตหรือเหล็กแท่งยาว เข้าสู่ตลาดลดลง 30% และ 47% ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ พบว่ายอดคำสั่งซื้อส่วนใหญ่มาจากตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีนและอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในส่วนของยอดจำหน่ายในช่วงเดือนมกราคมจนถึงกุมภาพันธ์ อยู่ที่ราว 1 ล้านตัน รวมถึงเหล็กก่อสร้าง 376,000 ตัน, เหล็กบิลเล็ต 214,000 ตัน และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน 428,000 ตัน

  ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/899521/hoa-phat-steel-sales-down-25-per-cent-in-february.html