สำรวจแหล่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4 จ. ภาคเหนือ เจาะสถานการณ์นำเข้าจากเมียนมาผ่านด่านแม่สอดไทย
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จังหวัดตาก น่าน พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทางภาคเหนือ โดยข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า เนื้อที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/63 รวม 4 จังหวัด มีจำนวน 2.319 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2561/62 ที่จำนวน 2.419 ล้านไร่ (ลดลงร้อยละ 4) ผลผลิต 1.509 ล้านตัน ลดลงจากปี 2561/62 ที่จำนวน 1.743 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 13) เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง อีกทั้งยังประสบปัญหาหนอนกระทู้ระบาด ภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) กำหนดให้มีการนำเข้าโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคมของทุกปี ในอัตราภาษีนำเข้า 0% และโดยในช่วงวันที่ 1 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแหล่งผลิตที่สำคัญของเมียนมา ได้แก่รัฐฉาน อิระวดี ซึ่งมีแนวชายแดนติดต่อกับจีน จำนวนมากถึง 279,000 ตัน โดยนำเข้าทางด่านพรมแดนแม่สอดจังหวัดตาก เนื่องจาก มีการระบาดของโรคอหิวาต์อาฟริกาในสุกร ทำให้จีนมีนโยบายไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมา ส่งผลให้ราคาข้าวโพดในประเทศมีแนวโน้มลดลงโดยราคาเฉลี่ยในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์อยู่ที่กิโลกรัมละ 7.77 บาทลดลงจาก 8.65 บาท (ร้อยละ 10) ในช่วงเดียวกันของปี 2562 ทั้งนี้ จากการสอบถามเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตาก น่าน พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เกษตรกรมีความพึงพอใจที่รัฐบาลให้การช่วยเหลือ แต่เกษตรกรในบางพื้นที่ยังไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ควรประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการให้เกษตรกรทราบ และแนะนำให้ไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตรภายหลังจากที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้ว 15 – 60 วัน เพื่อรับสิทธิในการช่วยเหลือต่อไป