CLMV รับแรงหนุนที่แตกต่าง หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็น 6.0% จากเดิมที่ 5.5% สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างแข็งแกร่งหลังวิกฤตโควิด นำโดยเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อกลุ่มประเทศ CLMV ในระดับที่แตกต่างกันตามความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งออก รายได้ส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ การลงทุนโดยตรง (FDI) และการท่องเที่ยว

เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  จากสัดส่วนการส่งออกที่สูงถึง 104% ของ GDP   โดยมีการผลิตและส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในสัดส่วนสูง นอกเหนือจากอานิสงส์จากรายได้นำส่งกลับของแรงงาน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 5.8% ของ GDP

ขณะที่กัมพูชาอาจเป็นอีกประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากสัดส่วนของการลงทุนโดยตรงสูงถึง 60%​ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

ในส่วนของประเทศสปป.ลาว อาจเป็นประเทศใน CLMV ที่โครงสร้างการส่งออกได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยที่สุด เนื่องจากการส่งออกมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจ    โดยในด้านการลงทุนตรงจากต่างประเทศ น่าจะได้รับอานิสงส์น้อยกว่ากัมพูชา เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนตรงมีเพียง 22% 

ขณะที่เมียนมา ปัจจัยการเมืองภายในประเทศน่าจะลดทอนผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก   ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนตรงโดยรวมอยู่ที่ 13% ต่ำสุดในกลุ่ม CLMV

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว  เนื่องจากประเทศใน CLMV ส่วนใหญ่พึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีนและนักท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งมีการฉีดวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศในตะวันตก ทำให้โอกาสที่จะบรรลุการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในปี 2564 มีไม่มาก ส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวน่าจะจำกัดเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันตก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดใน CLMV

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/CLMV-FB-28-06-21.aspx