สนามบินกัมพูชาได้รับเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการท่าอากาศยานนานาชาติเทโชแห่งใหม่
Cambodia Airport Investment Co., Ltd. (CAIC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Overseas Cambodian Investment Corporation (OCIC) ได้เลือก Cambodia Airports ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ VINCI Airports ให้เป็นผู้ดำเนินการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของกรุงพนมเปญ โดย Cambodia Airports จะนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานที่สนามบินขนาดใหญ่แห่งนี้ ซึ่งมีอาคารผู้โดยสารครอบคลุมพื้นที่กว่า 240,000 ตารางเมตร ซึ่งขอบเขตการดำเนินงานของผู้บริหารยังรวมถึงการพัฒนาบริการด้านการบิน เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อของกัมพูชา โดยเฉพาะการดึงดูดสายการบินใหม่ ๆ และเปิดเส้นทางบินใหม่ ๆ สำหรับผลงานในอดีต Cambodia Airports ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพในการพัฒนาสนามบินให้มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 20 เท่า จาก 300,000 คนในปี 1995 เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคนในปัจจุบัน
ภาคเอกชนกัมพูชาเตรียมรับมือภาษี 36% ของสหรัฐฯ
ภาคเอกชนกัมพูชาได้เริ่มระดมความพยายามเพื่อตอบสนองต่อการยืนยันอัตราภาษี 36% สำหรับการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ โดยมีการจัดประชุมระดับสูงภายใต้กรอบ Government-Private Sector Forum (G-PSF) ในหัวข้อ “New US Tariff Impact and Export Competitiveness Measures” ซึ่งมี Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชาเป็นประธาน ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจาก 16 กลุ่มงานภาคเอกชน ผู้แทนจากองค์กรการค้าทั้งในและต่างประเทศ สมาคมธุรกิจ หอการค้าระหว่างประเทศ และผู้นำสำคัญจากสถาบันภาคเอกชนต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อหารือและประสานงานการตอบสนองของภาคเอกชนต่อผลกระทบจากภาษีใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในวงกว้าง เช่น การผลิตขนาดเบา, อุตสาหกรรมเกษตร, เครื่องนุ่งห่ม, รองเท้า, สินค้าเดินทาง, โลจิสติกส์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501716428/private-sector-mobilises-efforts-to-respond-to-36-us-tariff/
แบรนด์เวียดนามเร่งรุกตลาดกัมพูชา แทนที่สินค้าไทย
บริษัทเวียดนามกำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเข้าแทนที่สินค้าไทย หลังจากที่สินค้าไทยถูกแบน เนื่องจากข้อพิพาทชายแดนทางบก ซึ่งสำนักข่าวรายงานว่าทีมการตลาดจากแบรนด์ต่างๆ ของเวียดนามกำลังตั้งออฟฟิตในกรุงพนมเปญ เพื่อเจรจากับผู้ค้าปลีก ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแบรนด์เวียดนามได้เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอย่างมาก ตั้งแต่บิสกิต นม ช็อกโกแลต ไปจนถึงบะหมี่ แม้ว่าแบรนด์มาเลเซียจะเข้าร่วมการแข่งขันด้วย แต่แบรนด์เวียดนามประสบความสำเร็จมากที่สุดในการเติมเต็มช่องว่างนี้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นม Dalat Milk ที่เข้ามาแทนที่ผลิตภัณฑ์ Dutch Mill ของไทย ด้านผู้ค้าปลีกรายหนึ่งระบุว่าการส่งมอบสินค้าอย่างทันท่วงทีจากแบรนด์เวียดนามช่วยให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในพนมเปญสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าไทยที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของการขายถึงร้อยละ 25
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501716415/vietnamese-brands-step-up-efforts-to-replace-thai-products/
การค้าของกัมพูชากับ 20 คู่ค้าหลักทะลุ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในครึ่งแรกของปี
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 กัมพูชามียอดการค้ารวมกับคู่ค้าหลัก 20 อันดับแรกสูงถึง 3.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 จากปีก่อน โดยการส่งออกของกัมพูชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 สู่มูลค่ารวม 1.43 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 คิดเป็นมูลค่า 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านจีนยังคงเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่าการค้ารวม 9.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 แม้การส่งออกไปยังจีนจะลดลงร้อยละ 7.9 แต่การนำเข้าจากจีนกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าร้อยละ 31.2 สู่มูลค่า 8.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับสอง มูลค่าการค้า 5.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 ซึ่งการส่งออกไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ด้านเวียดนามอยู่ในอันดับสาม มีมูลค่าการค้า 4.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 และไทยมีการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 คิดเป็นมูลค่า 2.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนญี่ปุ่นอยู่ในอันดับห้าด้วยมูลค่าการค้า 1.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.7
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501716434/cambodias-trade-with-top-20-partners-surpasses-30b-in-h1/
นายกฯ กัมพูชา เน้นย้ำ Human Capital คือหัวใจสำคัญของวิสัยทัศน์กัมพูชา 2050
นายกรัฐมนตรี Hun Manet แถลงเมื่อวันอังคารว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์มาโดยตลอด โดยตระหนักว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการและเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการบรรลุวิสัยทัศน์ระยะยาวของประเทศในปี 2050 ซึ่งได้กล่าวในพิธีเปิดโรงเรียนแห่งใหม่ที่เมือง Oudong Mechey จังหวัด Kampong Speu ว่า การขยายและเสริมสร้าง Human Capital โดยเฉพาะในระดับจังหวัด เป็นสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคตและสอดรับกับแนวโน้มระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเน้นย้ำว่า Human Capital เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ดึงดูดการลงทุน และส่งเสริมนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชา โดยอนาคตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาต้องสร้างขึ้นบนรากฐานของ Human Capital ที่แข็งแกร่งและหลากหลาย ไม่ใช่แค่บุคคลไม่กี่คน แต่เป็นแรงงานที่มีทักษะจำนวนมากในทุกภาคส่วน
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501714044/pm-says-human-capital-key-to-cambodias-vision-2050/
ผู้บริโภคชาวกัมพูชากำลังปรับตัวครั้งใหญ่ หลังผลิตภัณฑ์ไทยขาดตลาด
ผู้บริโภคชาวกัมพูชากำลังปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาด เนื่องจากสินค้าไทยกำลังหมดไปจากชั้นวางอย่างรวดเร็ว และถูกแทนที่ด้วยแบรนด์ใหม่จากประเทศอื่น ๆ สินค้าไทยเคยมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภคชาวกัมพูชา จนกระทั่งความตึงเครียดบริเวณชายแดนปะทุขึ้น นำไปสู่การห้ามนำเข้าสินค้าทางบกจากประเทศไทย ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน แม้ว่าสินค้าไทยจำนวนมากจะยังคงพบเห็นได้ในตลาดค้าปลีก แต่ผู้บริโภคชาวกัมพูชาก็กำลังเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่พวกเขาจะต้องเปลี่ยนแบรนด์โปรดไปใช้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหรือจากประเทศอื่นๆ ด้านผู้ส่งออกสินค้าไทย กล่าวว่า ไม่มีการห้ามนำเข้าสินค้าไทยอย่างสมบูรณ์ แต่เป็นผลมาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ผู้บริหารของบริษัทเภสัชกรรมและเครื่องสำอางไทยยังได้กล่าวเสริมว่าการนำเข้าทางบกหยุดลงทั้งหมด ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าทางเรือ ซึ่งเกิดความล่าช้า ขณะที่ตัวแทนซูเปอร์มาร์เก็ตระบุว่า แบรนด์จากเวียดนาม มาเลเซีย และออสเตรเลียกำลังพยายามเข้ามาแทนที่ช่องว่างที่สินค้าไทยทิ้งไว้ และคาดว่าผู้บริโภคชาวกัมพูชาจะปรับตัวเข้ากับรสชาติใหม่ในไม่ช้า