กัมพูชาจ่อสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีต่อไป

รัฐบาลกัมพูชา (RGC) มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีต่อไป และพร้อมที่จะเจรจาการปฏิรูปใดๆ ที่จะทำให้ระบบมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ตามคำกล่าวของ Sok Sopheak ปลัดกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งได้ย้ำถึงจุดยืนระหว่างการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 20 ปี ของกัมพูชาในฐานะสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่จัดขึ้น ณ เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนความช่วยเหลือด้านการค้าระดับโลกครั้งที่ 9 ในโอกาสสำคัญครั้งนี้ Sok Sopheak ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของกัมพูชาในเศรษฐกิจโลก โดยการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมเชิงโครงสร้างเป็นผลโดยตรงจากการที่กัมพูชาผนวกตนเองเข้าไปในระบบการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลกในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501514640/cambodia-to-continue-supporting-multilateral-trading-system/

กรมเจรจาฯ โชว์มูลค่าการค้า FTA 5 เดือนแรกกระฉูด 5.34 ล้านล้านบาท

น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการประชุมระหว่างประเทศ ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ว่า ได้เร่งรัดเจรจาเพื่อเร่งรัดหาข้อสรุป FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) และผลักดัน FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา อาทิ ไทย-สหภาพยุโรป (EU) อาเซียน-แคนาดา และ FTA 2 ฉบับใหม่ คือ ไทย-เกาหลีใต้ และไทย-ภูฏาน รวมทั้งผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัยที่ให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำ FTA เพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ๆ และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดโลก สำหรับในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 2567) การค้าของไทยกับ 18 ประเทศคู่ค้า FTA มีมูลค่า 145.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.1 โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA มูลค่า 70.9 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 2.4 และไทยนำเข้าจากประเทศคู่ค้า FTA มูลค่า 74.6 พันล้านดอลลาร์ หดตัวร้อยละ 2.0

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/economics/news_777777804663

เรือสินค้า 27 ลำให้บริการในเส้นทางการค้ามัณฑะเลย์ในสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของเดือนมิถุนายน

จากสถิติของกรมบริหารทางทะเลแห่งมัณฑะเลย์ พบว่าเรือบรรทุกสินค้า 27 ลำแล่นไปยังย่างกุ้ง พะโค และเมืองอื่นๆ ระหว่างวันที่ 10 ถึง 19 มิถุนายน โดยมีการบรรทุกปูนซีเมนต์มากกว่า 7,170 ตัน ข้าวโพดมากกว่า 12,590 ตัน และถุงกรวดปูนขาว 350 ลูกบาศก์ฟุต อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีรายงานว่า มีเรือบรรทุกสินค้า 93 ลำออกจากท่าเรือมัณฑะเลย์เพื่อขนส่งสินค้า ทั้งนี้ กรมเจ้าท่ายังเตือนผู้ควบคุมเรือบรรทุกเกินพิกัด เนื่องจากกระแสน้ำวนก่อตัวขึ้นในเขตอิระวดีครั้งแรกตั้งแต่สัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายน ซึ่งพวกเขามีมาตรการจัดการความปลอดภัยทางทะเลตามขนาดและสินค้า และนำทางด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/27-freighters-serve-mandalay-trade-routes-in-2nd-3rd-week/#article-title

อินเดียเริ่มนำเข้าข้าวโพดปลอดภาษีจากเมียนมา

อ้างถึง The Hindu Business Line มีการรายงานว่า อินเดียเริ่มนำเข้าข้าวโพดเมียนมาโดยไม่มีภาษี ด้าน Vangili Subramanian ประธานสมาคมการตลาดเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกไข่ของรัฐทมิฬนาฑู (PFMS) กล่าวว่า ณ ท่าเรือ VO Chidambaranar ในเมือง Thoothukudi ของรัฐทมิฬนาฑู มีเรือ 3 ลำที่บรรทุกข้าวโพดจอดเทียบท่าที่ท่าเรือของอินเดีย และเรืออีก 10 ลำถูกกำหนดให้เทียบท่าตามข้อตกลง ซึ่งตามโครงการปลอดภาษีของอินเดียสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ข้าวโพดของเมียนมาได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เปิดเผยนามจากสมาคมการค้าแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งเดิมทีอินเดียมีการจัดเก็บภาษีศุลกากร 60 เปอร์เซ็นต์ ภาษีสินค้าและบริการ 5 เปอร์เซ็นต์ และภาษีประกันสังคม 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับข้าวโพดที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับข้าวโพดภายใต้โควตาอัตราภาษี (TRQ) รัฐบาลกลางของอินเดียให้ภาษี 15 เปอร์เซ็นต์ และนำเข้าข้าวโพดจำนวน 500,000 ตันภายใต้ TRQ ในปี 2020 ซึ่งกลุ่มธุรกิจฮินดูอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐบาลว่าการนำเข้าข้าวโพดชุดแรกถูกกำหนดให้นำมาผลิตแป้ง และชุดที่สองสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล ซึ่งสำหรับการนำมาผลิตแป้งส่งออก คาดว่าจะมีการนำเข้าข้าวโพดแบบปลอดภาษีประมาณ 300,000 ตัน อย่างไรก็ดี นักวิจัยในนิวเดลี ชี้ให้เห็นว่าการนำเข้าข้าวโพดอาจต้องคำนึงถึงข้อจำกัดราคานำเข้าและข้อจำกัดของท่าเรือ เกษตรกรทางตะวันออกและทางใต้ของอินเดีย ซึ่งสภาพอากาศเลวร้ายเมื่อปีที่แล้ว คาดว่าจะมีผลผลิตสูงและมีรายได้ดีในปีนี้ นอกจากนี้ การนำเข้าข้าวโพด อาจทำให้เกิดผลกำไรที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาผลประโยชน์ การครอบครอง และอัตราภาษีพิเศษดังกล่าวอาจทำให้โครงสร้างตลาดเสียหาย ถึงแม้ว่า อินเดียจะมีความต้องการข้าวโพดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเฉพาะในภาคการเลี้ยงสัตว์ปีกเพียงอย่างเดียวก็มีความต้องการมากถึง 1 ล้านตัน ต่อปี และนอกจากภาคปศุสัตว์แล้ว อุตสาหกรรมการผลิตแป้งและเอทานอลยังมีความต้องการที่สำคัญอีกด้วย หลังจากที่รัฐบาลกลางอินเดียจำกัดการใช้อ้อยเพื่อการผลิตเอทานอล ความต้องการข้าวโพดก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการใช้ข้าวโพดเพื่อผลิตเอทานอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านตันในปีนี้ จาก 0.8 ล้านตันในปีงบประมาณที่แล้ว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/india-starts-to-import-myanmar-maize-duty-free/

‘เวียดนาม’ เผยยอดการค้า ม.ค.-พ.ค. พุ่ง 16%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) รายงานว่ามูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเวียดนามในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 305.53 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ ข้อมูลในเดือน พ.ค.67 พบว่าการส่งออกของเวียดนาม ปรับตัวขึ้น 15.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี มูลค่าที่ 32.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 33.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลการค้าในเดือนนี้ อยู่ที่ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีมูลค่าการส่งออกราว 44 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะเดียวกัน เวียดนามนำเข้าจากจีนมากที่สุด อยู่ที่ 54.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/trade-revenue-up-over-16-in-jan-may/

กัมพูชา-เกาหลีใต้ ยก FTA หนุนการค้าทวิภาคีพุ่ง

กัมพูชาและเกาหลีใต้จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมความตกลงเขตการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลีใต้ (CKFTA) เป็นครั้งแรกเพื่อติดตามความคืบหน้าของการค้าระหว่างสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า CKFTA ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าระหว่างกันต่อไป ด้านกัมพูชาคาดการณ์ว่าการค้าทวิภาคีกับเกาหลีใต้จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่า CKFTA จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ สำหรับข้อมูลจากกรมศุลกากรและสรรพสามิตของกัมพูชา เผยให้เห็นว่า การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.4 หรือคิดเป็นมูลค่า 256 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 เป็นการส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ที่มูลค่า 98.2 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าจากเกาหลีใต้มายังกัมพูชาเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 6.7 ที่มูลค่า 158 ล้านดอลลาร์ สำหรับสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ ได้แก่ รองเท้า เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยาง ยา และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ด้านสินค้านำเข้าหลักจากเกาหลีใต้มายังกัมพูชา ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว เครื่องดื่ม ยา และพลาสติกสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501487866/cambodia-korea-laud-fta-for-rising-bilateral-trade/

การส่งออกของกัมพูชาเพิ่มขึ้น 15% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี

มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 8 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นการขยายตัวถึงร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของกัมพูชา รองลงมาคือเวียดนามและจีน โดยยอดการค้าระหว่างกัมพูชาและคู่ค้าทางการค้าทั้งหมด อยู่ที่ 16.67 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากการมีอยู่ของความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชา-จีน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ช่วยส่งเสริมการเติบโตด้านการส่งออกของกัมพูชา อีกทั้งกัมพูชาได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีกับจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งคาดว่าช่วยส่งเสริมการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ด้านนายกรัฐมนตรีกัมพูชาตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกัมพูชาให้เป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบ พร้อมทั้งมีความสามารถในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูป เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างรายได้ให้กับภาคประชาชนต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501487228/cambodias-exports-rise-15-in-four-months/

การค้าระหว่าง กัมพูชา-จีน ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

การค้าระหว่างกัมพูชาและจีนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 มีมูลค่ารวม 4.48 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกัมพูชา ตามมาด้วยเวียดนาม สหรัฐฯ ไทย และญี่ปุ่น ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (RCEP) และความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2022 ช่วยส่งเสริมการเติบโตของภาคการค้าในปัจจุบัน ที่ได้รับผลประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงการค้าทั้งสองฉบับทำให้สินค้ากัมพูชา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคุณภาพสูง เช่น ข้าวเปลือก กล้วยหอม มะม่วง ลองกอง มันสำปะหลัง และพริกไทย เป็นสำคัญ ซึ่งสามารถส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501486365/cambodia-china-trade-continues-to-rise-in-jan-april/

เมียนมาคาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในปีนี้จะมีมูลค่ามากกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อมูลของกรมประมง คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังต่างประเทศจะเกิน 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณปัจจุบัน สำหรับในปีงบประมาณที่แล้ว มีการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมากกว่า 520,000 ตัน สร้างรายได้จากต่างประเทศเกือบ 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากเมียนมา ส่งออกไปยังต่างประเทศผ่านช่องทางการค้าทางทะเลและการค้าชายแดน แม้ว่าขณะนี้การส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำยังดำเนินการไปได้ดีแต่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าสถานการณ์ก่อนโควิด ทั้งนี้ จากข้อมูลของผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงปลาและกุ้ง เมียนมามีฟาร์มเลี้ยงปลาและกุ้ง 480,000 แห่ง พร้อมด้วยห้องเย็นกว่า 120 แห่ง รวมทั้งเมียนมามีการส่งออกปลามากกว่า 20 ชนิด ไปยังประเทศต่างๆ เช่น จีน ไทย และประเทศเพื่อนบ้านเป็นประจำผ่านการค้าชายแดน ตลอดจนประเทศญี่ปุ่นและประเทศในยุโรป

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-expects-over-us-800-million-in-aquatic-product-exports-this-year/

สปป.ลาว ขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 2 แม้ส่งออกมันสำปะหลังเติบโต

สปป.ลาว เผยข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า ภาพรวมการค้ามีมูลค่า 1,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นมูลค่าส่งออกประมาณ 530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมันสำปะหลังมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือ ทองคำ แร่ทองแดง กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และแป้งมันสำปะหลัง โดยตลาดจีนยังคงเป็นส่งออกหลักของ สปป.ลาว รองลงมาคือ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย และอินเดีย ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าประมาณ 570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าหลัก คือ ดีเซล รองลงมาคือ ยานพาหนะทางบก อุปกรณ์เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ไทยยังคงเป็นแหล่งนำเข้าหลัก รองลงมาคือ จีน เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทั้งนี้ สปป.ลาว ยังคงขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยขาดดุลจำนวน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/04/26/laos-faces-second-month-of-trade-deficit-despite-cassava-export-boom/