ราคาถั่วลิสงในเมียนมา กลับมาพุ่งสูงขึ้นถึง 7,200 จัตต่อ viss

ศูนย์สินค้าค้าส่งมัณฑะเลย์ เผย  ราคาถั่วลิสง ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 พุ่งขึ้นเป็น 7,200 จัตต่อ viss  (1 viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของต่างประเทศ ซึ่งในปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ตลาดถั่วลิสงในประเทศซบเซาลงอย่างหนัก เนื่องจากโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผู้ซื้อจากต่างประเทศลดความต้องการลงอย่างมาก ส่งผลให้ราคาดิ่งลงเหลือ 4,700-5,750 จัตต่อ viss  แต่ ณ ปัจจุบัน ถั่วลิสงจากภูมิภาคต่างๆ  ของเมียนมาที่ถูกนำส่งเข้าสู่คลังสินค้าในมัณฑะเลย์ เริ่มเป็นที่ต้องการจากผู้ค้าชาวจีนและผู้ผลิตน้ำมันพืชในท้องถิ่นที่คอยรับซื้ออยู่เป็นจำนวนมากส่งผลให้ราคาถีบตัวสูงขึ้นเป็น 5,950 -7,200 จัตต่อ viss  ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565-2566 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 จนถึงปัจจุบัน เมียนมาส่งออกถั่วลิสงผ่านชายแดนไปแล้วกว่า 17,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 19.998 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/peanut-price-regains-to-k7200-per-viss-in-domestic-market/

เวียดนามทุ่ม 1 พันล้านดอลลาร์ นำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์จากกัมพูชา

กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบรวม 670,000 ตัน มูลค่า 1.07 พันล้านดอลลาร์ ไปยังตลาดต่างประเทศในปีที่แล้ว ซึ่งร้อยละ 98.5 ของการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบส่งออกไปยังเวียดนาม โดยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบของกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญไปยังเวียดนาม ตามรายงานของสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์เวียดนาม (Vinacas) ในปีที่แล้ว ซึ่งเวียดนามนำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบประมาณ 1.9 ล้านตัน โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,400 ดอลลาร์ต่อตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.66 พันล้านดอลลาร์ในการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งเวียดนามยังคงเป็นผู้นำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบชั้นนำของโลก ขณะที่ปัจจุบันเวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกมะม่วงหิมพานต์เพียง 300,000 เฮกตาร์ ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการได้เพียงร้อยละ 30 ของความต้องการทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501234910/vietnam-spends-1-billion-importing-cashew-nuts-from-cambodia/

พื้นที่เพาะปลูกมะม่วงหิมพานต์ในกัมพูชาลดลงต่อเนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

เนื่องจากราคาเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ลดลงอย่างมาก รวมถึงผลผลิต และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลทำให้พื้นที่เพาะปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์ในกัมพูชาลดลง จากพื้นที่ประมาณกว่า 800,000 เฮกตาร์ ในปี 2021 ลดลงเหลือ 700,000 เฮกตาร์ ในปี 2022 ตามรายงานของสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห่งกัมพูชา ซึ่งตามสถิติการเกษตร ตั้งแต่ปี 2009 พื้นที่ปลูกมะม่วงหิมพานต์เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 66,513 เฮกตาร์ ในปี 2009 เพิ่มขึ้นเป็น 800,000 เฮกตาร์ ในปี 2021 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 12 เท่า ด้วยสถานการณ์ข้างต้นส่งผลทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการลดลงของผลผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์ จากคำกล่าวของ Uon Silot ประธานสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห่งกัมพูชา โดยในเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2022 กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ปริมาณกว่า 660,000 ตัน ไปยังตลาดต่างประเทศ แต่ในปริมาณข้างต้นกลับเป็นการลดลงกว่าร้อยละ 34.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501174931/cashew-nut-plantation-area-falls-due-to-climate-change/

กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังจีนมูลค่า 89 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี

กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณ 169,766 ตัน ไปยังจีนในช่วง 7 เดือนแรกของปี สร้างรายได้เข้าประเทศ 89 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ครองสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 48.3 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมด ซึ่งกัมพูชาคาดหวังเป็นอย่างมากที่จะส่งออกข้าวไปยังจีนมากขึ้น ผ่านความตกลงการค้าเสรี RCEP โดยนอกจากการส่งออกแล้ว ทางการกัมพูชายังคาดหวังที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ รวมถึงในอุตสาหกรรมการผลิตข้าว เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปยังประเทศกลุ่มสมาชิก RCEP ซึ่งตามรายงานของ CRF กัมพูชาส่งออกข้าวสารทั้งหมดทั้งสิ้น 350,902 ตัน ไปยัง 56 ประเทศทั่วโลก ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบเป็นรายปี สร้างรายได้รวม 218 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501125411/cambodia-earns-89-million-from-milled-rice-export-to-china-in-jan-july/

การซื้อขายงาดำในตลาดมัณฑะเลย์ เริ่มกลับมาคึกคัก

ผู้ค้างาดำในตลาดมัณฑะเลย์ก เผย ธุรกิจการค้างาดำในฤดูเก็บเกี่ยวเริ่มคึกคัก จากเดิมราคางาดำอยู่ที่ 185,000 จัตต่อถุง (3 ตะกร้า) ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 225,000 จัตต่อถุงในปีนี้ โดยผลผลิตทั้งงาดำและงาขาวกำลังไหลทะลักเข้าสู่ตลาดมัณฑะเลย์ เมล็ดงาเหล่านี้ปลูกร่วมกับเครือข่ายชลประทานของแม่น้ำมู บางชนิดปลูกโดยใช้น้ำบาดาล อีกทั้งงาดำยังได้รับไฟเขียวในการส่งออก ในปีนี้งาประมาณร้อยละ 95 ถูกส่งออกไปจีนซึ่งเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ของเมียนมา โดยงามีการปลูกในประเทศตลอดทั้งปีเขตมะกเวถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตเมล็ดงารายใหญ่ของประเทศ และยังปลูกในพื้นที่อื่นๆ เช่น เขตมัณฑะเลย์ และเขตซะไกง์ ทั้งนี้การปลูกงาดำใช้เวลาเพาะปลูกเพียง 100 วัน ก็สามารถที่จะเก็บเกี่ยวและวางขายได้

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/newly-harvested-black-sesame-trade-bustling-in-mandalay-market/

งบประมาณย่อย 64-65 เมียนมาส่งออกข้าวไปแล้วกว่า 1.4 ล้านตัน

จากข้อมูลของสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) พบว่า เมียนมาส่งมอบข้าวและข้าวหักมากกว่า 1.4 ล้านตัน ไป 27 ประเทศ ในช่วงงบประมาณย่อย (ต.ค. 2564 ถึงมี.ค. 2565) ตลาดหลักของการส่งออกคือ จีน ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ โดยราคาพันธุ์ข้าวขาวเกรดต่ำอยู่ที่ประมาณ 340-355 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทและคุณภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งราคาค่อนข้างต่ำกว่าไทยและเวียดนาม แต่ยังสูงกว่าราคาตลาดของอินเดียและปากีสถาน ปัจจุบันผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางเมียนมา (CBM) ซึ่งการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นผู้ค้าข้าวในเมียนมาที่จะต้องฝากเข้าบัญชีที่ธนาคารที่ได้รับอนุญาตและแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินท้องถิ่นที่เรตอ้างอิง คือ 1,850 จัตต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบัน ผู้ค้าต้องส่งออกข้าวทางทางทะเลแทนการค้าชายแดน เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้เมียนมามีรายได้กว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกข้าวในปีงบประมาณ 2562-2563 จากการส่งออกข้าว 2.5 ล้านตัน ส่วนในปีงบประมาณ 2563-2564 มีรายได้กว่า 700.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกข้าวและข้าวหัก 1.87 ล้านตัน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/7-april-2022/#article-title

กัมพูชาส่งออกข้าวมูลค่า 413 ล้านดอลลาร์ ในช่วง Q1/2022

ไตรมาส 1 ปี 2022 กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณมากกว่า 170,000 ตัน และข้าวเปลือกอีกกว่า 1.3 ล้านตัน ไปยัง 49 ประเทศ โดยการส่งออกไปยังจีนและฮ่องกงคิดเป็นกว่าร้อยละ 52 ของการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็น 88,646 ตัน มูลค่ารวมกว่า 45.19 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งคิดเป็นร้อยละ 31 หรือคิดเป็น 52,222 ตัน ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 35.95 ล้านดอลลาร์ และกัมพูชาได้ทำการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนเพียงร้อยละ 10 ของการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นปริมาณเพียง 17,310 ตัน มูลค่ารวม 10.64 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากตลาดดังกล่าวกัมพูชายังได้ส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวไปยังประเทศแอฟริกา โอเชียเนีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ในขณะที่การส่งออกข้าวเปลือกของกัมพูชาประเทศเวียดนามถือเป็นตลาดสำคัญ โดยมีการส่งออกไปจำนวน 1.39 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 313 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501053884/more-than-413-million-earned-through-rice-exports-prior-to-end-of-q1/

เกษตรกรตำบลโหโป๊ง ปลื้ม! ราคากล้วยไม้ดินพุ่ง

เกษตรกรจากหมู่บ้านนองสน ตำบลโหโป๊ง เขตปกครองตนเองปะโอ ของรัฐฉาน (ใต้) ประสบผลสำเร็จจากการปลูกกล้วยไม้ดิน ซึ่งแต่ก่อนปลูกตามวิธีธรรมชาติ แต่ต่อมาได้เริ่มเรียนรู้จากการปลูกบนแปลงทดลองจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยกล้วยไม้ดินจะใช้เวลาปลูกและออกดอกผลิบานได้ภายในหนึ่งปี ซึ่งกล้วยไม้ดินเป็นพืชที่ระบายน้ำได้ดีและชอบอากาศที่เปียกชื้น ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวเกี่ยหรือตัดขายจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 1,000 จัตต่อต้น แต่เมื่อได้รับออเดอร์จากเมื่องอื่นๆ  ราคาจะพุ่งไปถึง 1,500 จัตต่อต้น ทั้งนี้แหล่งเพาะปลูกสำคัญจะมาจาก หมู่บ้านนองสน ตำบลโฮปง และจะส่งออกไปขายยังส่งงตลาดโฮปง ตลาดน้ำโกด และตลาดบ้านยินในรัฐฉาน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/growing-of-ground-orchid-in-hopong-township-succeeds/

ชายแดน Kyinsankyawt รถขนส่งแตงโมไปจีน ประมาณ 100 คันต่อวัน

จากข้อมูลของคลังเก็บสินค้าข้าวด่านมูเซ ระบุ เมียนมาส่งรถบรรทุกแตงโมจำนวน 100 คันไปยังจีนในทุกๆ วันปัจจุบัน เมียนมาส่งสินค้าจำนวน 140 คันไปยังจีนทุกวันผ่านด่านชายแดน Kyinsankyawt รวมถึงรถบรรทุก 100 คันที่บรรทุกแตงโมและรถบรรทุก 40 คันบรรทุกข้าว ข้าวหัก เมล็ดพืช ยางพารา พลัมแห้ง และสินค้าอาหารอื่นๆ ส่วนการส่งออกแตงโมนั้นผู้ค้าต้องจ่ายค่าขนส่งประมาณ 30,000 หยวนซึ่งค่าขนส่งที่สูงเนื่องจากแตงโมเป็นผลไม้ที่เน่าเสียง่าย ส่งผลให้จำนวนคนขับรถบรรทุกลดลงเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของ COVID-19 ส่วนการผ่านชายแดน Kyinsankyawt จะอนุญาติให้ขนส่งสินค้าช่วงระยะทางสั้นๆ เท่านั้น จึงทำให้ราคาบริการขนส่งสินค้าระยะใกล้พุ่งสูงเกินจริง อยู่ที่ 10 ล้านจัตต่อราคาขนส่งรถบรรทุกหนึ่งคัน ในขณะที่ก่อนหน้านี้ราคาอยู่ที่เพียง 700,000-800,000 จัต ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าวและข้าวหักจึงลดลงจาก 60,000 ถุงเหลือ 10,000 ถุงต่อวัน ทั้งนี้จีนปิดจุดผ่านแดนที่เชื่อมกับชายแดนมูเซในช่วงที่ COVID-19 ระบาด ส่วนด่าน Kyinsankyawt ได้กลับมาซื้อขายอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.64 โดยเริ่มส่งออกยาง ถั่วและพัลส์ต่างๆ พลัมแห้ง แตงโม แตงไทย และสินค้าอาหารอื่นๆ ไปยังจีน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/approximately-100-watermelon-truckloads-daily-delivered-to-china/

รอบ 1 ปี เมียนมาส่งออกใบชาไปแล้วกว่า 4,900 ตัน

ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2563 ถึง 30 ก.ย. 2564 เมียนมาส่งออกใบชาประมาณ 4,900 ตัน ส่งออกไปยังเกาหลีใต้ เยอรมนี จีน ประเทศในสหภาพยุโรป และประเทศต่างๆ ในเอเชีย มากกว่า 4,000 ตันถูกส่งออกผ่านด่านชายแดน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เมียนมาเน้นส่งเสริมการส่งออกของรัฐฉาน โดยเน้นเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรเพื่อเป็นการพัฒนาทางเลือกในการเพาะปลูก ขณะที่ตลาดใบชาโลกผู้นำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร เวียดนาม ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน โมร็อกโก เยอรมนี จีน และฮ่องกง ด้านผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้แก่ จีน อินเดีย ศรีลังกา เคนยา โปแลนด์ เยอรมนี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และใต้หวัน ส่วนผู้ผลิตชารายใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เคนยา ตุรกี เมียนมาร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ศรีลังกา และอิหร่าน เนื่องจากเมียนมาเป็นผู้ผลิตใบชารายใหญ่ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการผลิตและเทคโนโลยีการเกษตรจะทำให้เมียนมาเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกชารายใหญ่ที่สุดของโลก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/more-than-4900-tonnes-of-tea-leaves-exported-within-one-year/