มูลค่าการค้าระหว่าง กัมพูชา-เกาหลีใต้ ขยายตัวกว่าร้อยละ 16

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้แตะระดับ 920 ล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนของปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานจากสมาคมการค้าระหว่างประเทศแห่งเกาหลี (KITA) โดยในช่วงเดือน มกราคม-ตุลาคม กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 341 ล้านดอลลาร์ ไปยังเกาหลี เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากเกาหลีใต้มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 579 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ซึ่งกัมพูชาเน้นการส่งออก รองเท้าและเครื่องแต่งกายอื่นๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการเดินทาง เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสำคัญ ในขณะที่กัมพูชานำเข้ายานพาหนะ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัว เครื่องดื่ม ยา พลาสติกและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เป็นหลัก ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี โดยในอนาคตคาดว่าจะกระตุ้นการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งเกาหลีใต้ตกลงที่จะยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าจากกัมพูชาร้อยละ 95.6 ในขณะที่กัมพูชาจะยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าร้อยละ 93.8

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501188121/cambodia-korea-trade-zooms-16-to-920-million/

CBM อนุญาติให้ใช้เงินหยวนจีนและเงินบาทสำหรับรายได้จากการส่งออก

ธนาคารกลางเมียนมา (CBM) อนุญาติให้ผู้นำเข้า-ส่งออก ใช้เงินสกุลเงินหยวนจีนและเงินบาทนอกเหนือจากเงินดอลลาร์สหรัฐในการทำการค้าได้ โดยจะมีผลกับสินค้าส่งออกอย่าง ถั่วชนิดต่างๆ (ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วลูกไก่ และถั่วแระ) พืชน้ำมันที่บริโภคได้ (ถั่วลิสงและงา) ข้าวโพด ยางพารา สินค้าประมง (ปลา กุ้ง ปู ปลาไหล) และสินค้าปศุสัตว์ (โค หนังสัตว์ เนื้อแช่แข็ง และเนื้อแห้ง) ทั้งนี้ผู้ค้าจำเป็นต้องขอใบอนุญาตเพื่อชำระเงินหยวนหรือบาทในการซื้อ-ขาย และใช้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลอ้างอิงจาก CBM เท่านั้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/cbm-announces-resumption-of-chinese-yuan-thai-baht-for-export-earnings/#article-title

ปริมาณการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาเพิ่มขึ้นกว่า 15% ในช่วง 10 เดือน

ปริมาณการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาพุ่งแตะ 44.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 14.9 จากมูลค่า 38.7 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในปริมาณดังกล่าวเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 18.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 และคิดเป็นการนำเข้ารวมอยู่ที่ 25.8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ซึ่งจีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา รองลงมาคือสหรัฐฯ เวียดนาม ไทย และสิงคโปร์ เป็นสำคัญ โดยการเติบโตดังกล่าวมาจากการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงกัมพูชาได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่มอีกหลายฉบับ และอุปสงค์ทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501183569/cambodias-intl-trade-up-nearly-15-percent-to-44-5-billion-in-10-months-year-on-year/

ครึ่งปีหลัง งบฯ 65-66 ค้าชายแดนเมียนมา-จีน พุ่ง 1.226 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย การค้าชายแดนเมียนมา – จีน ของปีงบประมาณ 2565-2566 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน 2565 มีมูลค่าสูงถึง 1.226 พันล้านดอลลาร์ จากจุดผ่านแดน 5 แห่ง โดยในครึ่งปีแรกการค้าของทั้ง 2 ประเทศผ่านด่านมูเซและลแวแจมีมูลค่า 1.101 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด่านชินฉ่วยโอ 77.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และด่านกัมปติ 42.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้การค้าชายได้เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ทำให้ด่านชินฉ่วยโอ ด่านจินซันเฉาะ และด่านกัมปติ ได้กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ใช้เงินหยวนและเงินจัตในการซื้อขายระหว่างชายแดน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/sino-myanmar-border-trade-amounted-to-1-226-bln-in-h1/

นายกฯ วอนภาคธุรกิจ สปป.ลาว-บรูไร ร่วมมือพัฒนาการค้าระหว่างกัน

ประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด สนับสนุนให้ภาคธุรกิจใน สปป.ลาว และบรูไน กระชับความร่วมมือและลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงของทั้งสองประเทศในการพัฒนาภาคธุรกิจระหว่างกัน โดยประธานาธิบดีได้กล่าวในระหว่างไปเยือนบรูไน พร้อมกับคณะเจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 24-26 ตุลาคม ตามคำเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ซึ่งการเรียกร้องดังกล่าวเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกและสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยสำหรับนักธุรกิจใน สปป.ลาวและบรูไน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางด้านการลงทุนและเสริมสร้างความร่วมมือในมิติต่างๆ ระหว่างกัน โดย สปป.ลาว มีศักยภาพในการลงทุนสูงในการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมแปรรูป การท่องเที่ยว และพลังงานสะอาด ในขณะที่บรูไนอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten209_President_y22.php

การค้าทวิภาคี กัมพูชา-เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นเกือบ 14% ในช่วง 9 เดือน

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้เพิ่มเป็นกว่า 818 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่า 13.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของสมาคมการค้าระหว่างประเทศแห่งเกาหลี (KITA) โดยในช่วงมกราคม-กันยายน กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้มูลค่า 301 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่า 19.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กัมพูชานำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้มูลค่า 507 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชายังคงเป็นสินค้าในกลุ่ม รองเท้า เครื่องแต่งกายชนิดต่างๆ สินค้าเพื่อการเดินทาง เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสำคัญ ในทางกลับกันกัมพูชานำเข้า ยานพาหนะ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัว เครื่องดื่ม ยา พลาสติกและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากเกาหลีใต้เป็นสำคัญ โดยทั้งสองประเทศได้ให้สัตยาบันในข้อตกลงการค้าเสรี (CKFTA) ไปเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501175675/cambodia-south-korea-trade-up-14-percent/

14 ต.ค. 65 ค้าต่างประเทศเมียนมา พุ่ง ! 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย การค้าระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 1 เมษายนถึง 14 ตุลาคม 2565 ของปีงบประมาณ 2565-2566 พุ่งขึ้นถึง 18.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 15.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นการส่งออก 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ในขณะที่การนำเข้า 9.147 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการค้าทางทะเล 13.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และชายแดน 4.344 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญคือ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่า และสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ในขณะที่นำเข้า ได้แก่ สินค้าทุน วัตถุดิบอุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-surges-to-over-18-bln-as-of-14-october/#article-title

ในช่วง 9 เดือนแรก มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาพุ่งแตะ 41,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18%

ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาพุ่งแตะ 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 18 จากมูลค่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นการส่งออกรวมของกัมพูชา 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 ในขณะที่การนำเข้ารวมของกัมพูชาอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.% ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา ด้านรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา Penn Sovicheat มองว่าการเติบโตดังกล่าวมาจากการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกัมพูชาอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรี และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกเป็นส่วนสำคัญในการสบับสนุนการเติบโต โดยเฉพาะข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501166339/cambodias-trade-reach-41-billion-increase-of-18-percent-in-first-9-months/

ครึ่งปีแรก ค้าระหว่างประเทศเมียนมา ทะยานแตะ 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย การค้าระหว่างประเทศของเมียนมาในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565-2566 อยู่ที่ 17.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 14,078 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ การค้าชายแดนลดลง 89.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากมาตรการการควบคุม COVID-19 เข้มงวดของจีนและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-soars-to-over-17-bln-in-h1/#article-title

วันที่ 23 ก.ย. 65 ของปีงบ 65-66 การส่งออกของเมียนมามากกว่าการนำเข้า

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย ระหว่างวันที่ 1 เมษายนถึง 23 กันยายน 2565 ของปีงบประมาณ 2565-2566 มูลค่าการส่งออกสินค้าของเมียนมาสูงกว่าการนำเข้า เป็นการส่งออก 8,159.057 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าออยู่ที่ 8,159.033 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564-2565 พบว่า การส่งออกเพิ่มขึ้น 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่า และสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ส่วนการนำเข้าจะเป็น สินค้าทุน วัตถุดิบอุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภคบริโภค  ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์พยายามลดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยและกระตุ้นการส่งออก โดยเน้นนำเข้าสินค้าจำเป็น เช่น  วัสดุก่อสร้าง สินค้าทุน วัสดุทางการแพทย์ เป็นต้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-goods-exports-surpass-larger-than-imports-as-of-23-sept/#article-title