CNN เผย สปป.ลาวเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดของการท่องเที่ยวในปี 2566

สำนักข่าว CNN เผย สปป.ลาว ติด 1 ใน 23 ประเทศที่สมควรไปเยือนในปี 2566 ซึ่งการเปิดให้บริการของรถไฟกึ่งความเร็วสูงในปี 2565 ทำให้การเดินทางทั่วประเทศง่ายขึ้นและประหยัดเวลาในการเดินทางหลายชั่วโมงจากที่เคยใช้เวลาเกือบเต็มวันในการเดินทาง นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่านักท่องเที่ยวสามารถที่จะเลือกสถานที่ท่องเที่ยวได้อย่างมากมาย เช่น ยอดเขาสูงตระหง่านของวังเวียง หรือหลวงพระบางได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเต็มที่ไปด้วยมรดกจากอาณานิคมของฝรั่งเศส พิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่น่าสนใจ และความงามตามธรรมชาติ ทั้งนี้สื่อชั้นนำระดับโลกอย่าง Wanderlust และ Fodor’s ยังได้บรรจุสปป.ลาว เป็นหนึ่งในลิสต์รายชื่อเมืองท่องเที่ยวที่ห้ามพลาดของปี 2566

ที่มา: https://laotiantimes.com/2023/01/03/laos-is-one-of-cnns-best-destinations-to-visit-in-2023/

รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ก้าวสู่ปีที่ 2 .. เตรียมรับอานิสงส์จีนผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

รถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 การขนส่งสินค้าระหว่างจีนตอนใต้กับอาเซียนน่ามีพัฒนาการคึกคักขึ้นอีก ประกอบกับสัญญาณบวกของทางการจีนในการทยอยผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่คาดว่าน่าจะได้เห็นการเปิดประเทศของจีนในปี 2566 จะยิ่งส่งผลบวกต่อการค้าและการท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง

ในช่วงปีที่ผ่านมาเส้นทางนี้มีความสะดวกที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐระหว่างประเทศทำให้มีความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดนในการตรวจปล่อยสินค้า พื้นที่รองรับการเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งแผนการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพิ่มอีกแห่งเพื่อรองรับการขนส่งด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในฝั่งของไทยในอนาคต ขณะที่ในฝั่งของภาคภาคเอกชนได้เข้ามาเป็นตัวกลางให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทำให้การค้าด้วยรถไฟสะดวกมากขึ้น

การท่องเที่ยวด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงปี 2566 ได้อานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของทางการจีนที่อาจจะได้เห็นการเปิดประเทศในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 หากนักท่องเที่ยวจีนสามารถทยอยออกมาได้จะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่การท่องเที่ยว สปป.ลาวคิดเป็นไม่น้อยกว่า 0.1%-0.4% ของ GDP ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนหลวงพระบางโดยรถไฟฟ้าความเร็วสูง 335,794 คน (คิดเป็น 85% ของนักท่องเที่ยวที่มาหลวงพระบาง ซึ่งอีก 15% เดินทางมาเที่ยวด้วยเครื่องบิน) โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวไทยและชาวสปป.ลาว อย่างไรก็ดี นับจากรถไฟความเร็วสูงเปิดใช้งานก็ได้รับความนิยมจากการเป็นเส้นทางใหม่ที่รวดเร็วกว่ารถยนต์และประหยัดกว่าการเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งการเปิดประเทศของจีนอาจทำให้การท่องเที่ยว สปป.ลาว กลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งในเวลานั้นจีนเป็นนักท่องเที่ยวลำดับที่ 2 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1 ล้านคน และหลวงพระบางก็เป็นหนึ่งในปลายทางที่สำคัญ

ความรวดเร็วและต้นทุนการขนส่งที่ลดลงกว่า 30% หนุนให้การค้าผ่านรถไฟฟ้าความเร็วสูงทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการขนส่งสินค้าตลอดเส้นทางในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณ 2 ล้านตัน ขนส่งผู้โดยสารรวม 1.26 ล้านคน เป็นสินค้า สปป.ลาว ส่งไปจีน ได้แก่ ยางพารา ข้าวบาร์เลย์ มันสำปะหลัง กาแฟ แร่ ปุ๋ย และสินค้าจากจีน ได้แก่ เครื่องจักร ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และของใช้ประจำวัน นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยกับจีนก็หันมาใช้เส้นทางนี้มากขึ้นจากในอดีตไม่ได้รับความนิยมนักเพราะการขนส่งทางถนนมีความล่าช้าจากความคดเคี้ยวสูงชันของภูมิประเทศ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 1.18 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.3% ของการค้ารวมผ่านแดนไปจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในไทย 1.1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โซลาเซลล์ และผลไม้ และการส่งสินค้าผลไม้และวงจรไฟฟ้าจากไทยไปจีน 1.5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพัฒนาการขนส่งระหว่างจีนกับอาเซียนมีหลายทางเลือกในการทำตลาดมากขึ้น ซึ่งทุกเส้นทางขนส่งเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะจีน-สปป.ลาว-ไทย ที่มีการเชื่อมโยงทางถนนถนนในปัจจุบัน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว  2) สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมตรงสู่ตลาดมณฑลหยุนหนานผ่านด่านเชียงของ จ.เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว  3) เส้นทางขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 2 จ.มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต  และ 4) การขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 3 ผ่าน จ.นครพนม-แขวงคำม่วน  และกำลังเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงหรือสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 เชื่อม จ.บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จพร้อมใช้งานในปี 2567

นอกจากนี้ ในการประชุม APEC 2022 ที่ผ่านมา การมาร่วมประชุมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เน้นย้ำความร่วมมือในการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในฝั่งไทยที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เพื่อให้เส้นทางนี้สามารถเปิดดำเนินงานได้ตามแผนภายในปี 2571 ซึ่งจะยิ่งทำให้การขนส่งตลอดเส้นทางสมบูรณ์ไร้รอยต่อ เป็นอีกช่องทางที่จีนตอนใต้และ สปป.ลาว สามารถใช้เป็นช่องทางเชื่อมต่อกับเส้นทางขนส่งทางทะเลที่อ่าวไทยได้อีกทางหนึ่ง ถ้าหากเส้นทางในฝั่งไทยสร้างเสร็จ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว-ไทย จะลดต้นทุนค่าขนส่งลงอีกโดยเฉพาะการช่วยประหยัดเวลาขนส่งตลอดเส้นทางได้มากกว่า 70%

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Railway-CH-Lao-2022-12-29.aspx

ท่องเที่ยวกัมพูชากลับมาฟื้นตัวสะท้อนจากอัตราการฟื้นตัวที่ร้อยละ 26.3

ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยกัมพูชาเริ่มเห็นการขยายตัวที่อัตราการฟื้นตัวร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด นับเป็นอันดับที่สามในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จากข้อมูลของคณะกรรมการที่ปรึกษาการท่องเที่ยวของเวียดนาม ซึ่งสิงคโปร์อยู่อันดับแรกด้วยอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 30.9, มาเลเซียเป็นอันดับที่สองที่อัตราการฟื้นตัวร้อยละ 27.5 รองจากกัมพูชาคืออินโดนีเซียในอันดับที่ 4 ด้วยอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 22.9 ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 22.1 และไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ด้วยอัตราการฟื้นตัวร้อยละ 22 โดยกัมพูชาตั้งเป้าต้อนรับนักท่องเที่ยวอีก 2 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ และภายในปี 2026-2027 คาดว่าสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ภาวะก่อนเกิดการแพร่ระบาด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501204801/tourism-recovery-rate-at-26-3-in-cambodia/

นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยเข้ามายังกัมพูชาเพิ่มขึ้น

Long Kosal รองผู้อำนวยการ APSARA National Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบในการจัดการ ปกป้อง และอนุรักษ์นครวัด กล่าวว่า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวได้รับแรงผลักดันหลังจากกัมพูชาประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปิดพรมแดนอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง รวมถึงรัฐบาลยังใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จากข้อมูลของ Kosal ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด อุทยานโบราณคดีอังกอร์ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากถึง 2.2 ล้านคนในปี 2019 สร้างรายรับจากการขายตั๋วมูลค่ารวมกว่า 99 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ ปัจจุบัน Sao En ผู้จำหน่ายของที่ระลึกในอุทยานฯ ได้พูดถึงสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนยังนครวัดค่อยๆ ฟื้นตัว ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 225,000 คน ซึ่งอุทยานโบราณคดีอังกอร์มีขนาด 401 ตร.กม. ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย UNESCO ในปี 1992 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501204363/foreign-tourists-gradually-return-to-famed-angkor-in-cambodia/

ปี 65 คาด นักท่องเที่ยวต่างชาติเยือน สปป.ลาว ทะลุเกิน 1 ล้านคน

จากข้อมูลของฝ่ายการตลาดการท่องเที่ยว กระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติ 644,756 คนเดินทางเยือนสปป.ลาวตลอดเดือนกันยายน 65  และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 300,000 คนภายในปีนี้ นักท่องเที่ยวเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย (364,515 คน) ซึ่งนักท่องเที่ยวจากไทยตื่นเต้นและนิยมที่จะได้เดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงสปป.ลาว-จีน และท่องเที่ยวสถานที่ยอดนิยม เช่น หลวงพระบางและวังเวียง แม้ว่าชายแดนจีนจะยังคงปิดอยู่ แต่จีนก็รั้งอันดับ 2 โดยมีนักท่องเที่ยวจีน 18,902 คน ที่เข้ามาเที่ยวสปป.ลาว โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ พุ่งถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สหรัฐตลอดเดือนกันยายน 2565 และเมื่อเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากแน่นอน

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/12/12/overseas-visitors-to-laos-could-exceed-one-million-in-2022/

นครวัดกัมพูชากลับมาครึกครื้นอีกครั้งในรอบ 11 เดือน

ทางการรายงานว่าอุทยานโบราณคดีอังกอร์ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 225,191 คน ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 9 ล้านดอลลาร์ จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมอุทยานฯ โดยในเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียวมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังอุทยานฯ กว่า 55,842 คน สร้างรายได้ถึง 2.25 ล้านดอลลาร์ ซึ่งอุทยานโบราณคดีนครวัดตั้งอยู่ในจังหวัดเสียมราฐทางตะวันตกเฉียงเหนือ บนพื้นที่ 401 ตารางกิโลเมตร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี 1992 ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดอุทยานฯ ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 2.2 ล้านคน ในปี 2019 สร้างรายได้กว่า 99 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501195645/life-returns-to-cambodias-famed-angkor-recording-over-225000-international-tourists-in-11-months/

นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังกัมพูชาทะลุ 1.5 ล้านคน ในช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค.

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนกัมพูชาในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2022 เพิ่มขึ้น เป็นกว่า 1,575,954 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 991.1 ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เดินทางมายังกัมพูชาผ่านทางมาทางอากาศ 559,918 คน, ทางบก 1,005,549 คน และทางน้ำ 10,487 คน ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย คิดเป็นกว่า 590,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 37.5 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามมาด้วยเวียดนาม จีน สหรัฐฯ สปป.ลาว อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยทางการกัมพูชาคาดว่าจะรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2.2 ล้านคน ภายในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจกัมพูชา โดยปัจจุบันกัมพูชามีมรดกโลก 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานโบราณคดีอังกอร์ในจังหวัดเสียมราฐ, ปราสาทพระวิหารในจังหวัดพระวิหาร และปราสาทสมโบร์ไพรกุกในจังหวัดกำปงธม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501194322/intl-tourist-arrivals-cross-1-5-million-in-jan-oct/

‘รถไฟจีน-ลาว’ กระตุ้นการท่องเที่ยวในสปป.ลาว

รถไฟจีน-ลาว มีส่วนสำคัญในการยกระดับภาคการท่องเที่ยวในลาว ทั้งด้านการขนส่งผู้โดยสารและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการเดินทาง นับตั้งแต่เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2564 ทั้งนี้ เมื่อสอบถามประชาชน พบว่าคุณกิ่งแก้ว ด้วงพันลำ คุณแม่วัย 32 ปี จากแขวงหลวงพระบาง บอกกับสำนักข่าวซินหัวว่าการเดินทางไปและกลับจากบ้านเกิดของเธอพร้อมลูกน้อยแรกเกิดนั้นสะดวกขึ้นมากตั้งแต่เริ่มเปิดใช้การรถไฟ และยังช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างเวียงจันทน์และหลวงพระบางจาก 8-9 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ รถไฟจีน-ลาว อยู่ภายใต้โครงการ “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)” ของรัฐบาลจีน และถือเป็นยุทธศาสตร์ของลาวที่จะเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ไปสู่ประเทศศูนย์กลางการคมนาคมทางบก

ที่มา : http://en.people.cn/n3/2022/1129/c90000-10177510.html

‘เวียดนาม’ เผยการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น แต่การใช้จ่ายต่ำ

คุณ Nguyen Anh Tuan ผู้อำนวยการสถาบันการท่องเที่ยวเวียดนาม กล่าวว่าการเกิดวิกฤตต่างๆ อาทิเช่น โควิด-19 ตลาดการท่องเที่ยวในประเทศถือเป็นความหวังของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเวียดนามและยังเป็นตลาดที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจากการวิจัยตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ปี 2559-2563 พบว่าการท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญของการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดถึง 85 ล้านคน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวในประเทศมีการใช้จ่ายรวมกันทั้งสิ้น 6.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 และมีการใช้จ่ายขยายตัวเฉลี่ย 20.5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นว่าทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวในประเทศยังคงมีช่องว่าง ตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในประเทศเฉลี่ย 977,700 ด่องต่อวันในปี 2554 และ 1.15 ล้านด่องในปี 2563

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1399500/domestic-tourism-increases-but-spending-remains-low.html

กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ทุ่ม 4 พันล้านพัฒนาสนามบิน ท่องเที่ยวฟื้น! รับผู้โดยสารทะลัก

นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาคทั้ง 29 แห่ง ปี 66 ว่า หลังสายการบินเริ่มเพิ่มเที่ยวบิน ทำให้ ทย.มีเป้าหมายดำเนินการดังนี้ 1.เร่งขยายขีดความสามารถสนามบินภูมิภาคให้มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีแผนลงทุนรวมกว่า 4,568 ล้านบาท รองรับปริมาณผู้โดยสาร รวม 41 ล้านคนในปี 66 และ 2.เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร และสายการบินที่มาใช้บริการ ด้วยการเปิดให้บริการเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมสายการบิน ส่วนการขยายขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาค มีดังนี้ สนามบินกระบี่เปิดให้บริการอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1-3 รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 คนต่อ ชม. หรือ 8 ล้านคนต่อปี สนามบินขอนแก่นเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 2,000 คนต่อ ชม. หรือ 5 ล้านคนต่อปี สนามบินนครศรีธรรมราชเปิดอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารเป็น 1,600 คนต่อ ชม. หรือ 4 ล้านคนต่อปี ส่วนการเปิดให้บริการเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมสายการบินนั้น ขณะนี้ ทย.ได้พัฒนาระบบให้เป็นเคาน์เตอร์เช็กอินร่วมแล้ว 6 สนามบิน.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2564078