‘รถไฟความเร็วสูงเชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์’ คาดว่าจสร้างแล้วเสร็จในปี 2571

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงสายหนองคาย-เวียงจันทน์ (HSR) เชื่อมโยงการค้าไทย-จีน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571 ภายใต้มูลค่าลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท มีระยะทาง 7.3 กิโลเมตร ซึ่งจะเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และออกแบบโครงการขั้นสุดท้ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 ตามด้วยการประมูลก่อสร้างที่มีกำหนดการเริ่มเปิดประมูลในปี 2568 ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะมีระยะทางครอบคลุม 606 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถึงหนองคาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการระยะแรก ซึ่งตั้งเป้าที่จะวางเส้นทาง 253 กิโลเมตรระหว่างกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา มูลค่าลงทุนกว่า 1.79 แสนล้านบาท ปัจจุบันเสร็จสมบูรณ์ 28.6% ซึ่งความล่าช้าที่เกิดจากปัญหาการเวนคืนที่ดินได้ขัดขวางความคืบหน้าในการก่อสร้าง กระทบต่อลำดับเวลาของโครงการ ซึ่งตามหลักการแล้วควรจะอยู่ที่ 50% อย่างไรก็ตาม การศึกษาความเป็นไปได้สำหรับส่วนเชื่อมต่อนครราชสีมาถึงหนองคายได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงฯ รอการเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก รฟท. เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนต่างๆ เหล่านี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างประเทศไทยและจีน

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/12/15/high-speed-rail-linking-nong-khai-vientiane-expected-to-complete-in-2028/

กัมพูชามองหาแหล่งเงินลงทุน สร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายแรก

Sun Chanthol รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งของกัมพูชาเปิดเผยว่าปัจจุบันทางการกัมพูชามองหาแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยเส้นทางรถไฟดังกล่าวเริ่มต้นจากเมืองหลวงพนมเปญทอดยาวไปจนถึงปอยเปต ซึ่งเป็นเมืองที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย รวมระยะทาง 382 กิโลเมตร โดยคาดว่ารถไฟจะสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วในช่วง 160 ถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันจะจัดตั้งสถานีทั้งสิ้น 33 สถานี ตัดผ่านถนนประมาณ 300 สายโดยใช้สะพาน ตามคำแถลงที่ China Road & Bridge Corp (CRBC) รายงาน ซึ่งได้กำหนดงบประมาณในการก่อสร้างไว้ที่ 4 พันล้านดอลลาร์ ครอบคลุมการก่อสร้างทางรถไฟ สถานี และรถไฟความเร็วสูง ด้านนายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวเสริมหลังไปเยือนประเทศจีนเมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยได้แถลงการณ์ถึงการที่จีนได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนโครงการในระยะเริ่มต้น รวมถึงการวางแผน การออกแบบ และการศึกษาความเป็นไปได้ ผ่านการทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งทางการจีนคาดหวังถึงการเชื่อมต่อกันในระดับภูมิภาคด้วยเส้นทางรถไฟของกัมพูชากับทางรถไฟจีน-สปป.ลาว-ไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501243268/cambodia-seeks-4-billion-investments-for-its-first-high-speed-railway/

‘กัมพูชา-สปป.ลาว’ เตรียมถกศักยภาพรถไฟความเร็วสูง

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว หารือสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในช่วงการเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆนี้ โดยมีสาระสำคัญ คือ โครงการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ตลอดจนนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศยังมีความเห็นตรงกันในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างแขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปิอ กับ 2 จังหวัดของกัมพูชา คือ ปราสาทพระวิหารและรัตนคีรี ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวยังได้ครอบคลุมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงเมืองต่างๆ โดยเฉพาะหลวงพระบาง เสียมราฐและพนมเปญ เนื่องจากจะเปิดโอกาสให้มีการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/02/16/laos-cambodia-discuss-potential-high-speed-rail-link/

กัมพูชาหวังรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง หนุนโลจิสติกส์ภายในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการริเริ่มโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพระบบรางทางรถไฟสายเก่าที่มีอยู่ ให้เป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งรัฐบาลมีแผนสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 3 สาย เชื่อมระหว่างกรุงพนมเปญเข้ากับพรมแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการส่งเสริมภาคการขนส่งภายในประเทศให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยว ระหว่างกัมพูชาและไทยเป็นสำคัญ รายงานโดยกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมกัมพูชา ซึ่งกระทรวงฯ ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสาย พนมเปญ-ปอยเปต คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้โดยบริษัท China Bridge and Road Corporation (CRBC) โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี และคาดว่าจะเป็นช่องทางหลักสำคัญในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางตอนเหนือของประเทศ รวมถึงเชื่อมไปยังจังหวัดกัมปงชนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และบันทายมีชัย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501229019/three-high-speed-rails-to-diversify-transportation/

กัมพูชาเดินหน้าสร้างทางเดินรถไฟความเร็วสูง พนมเปญ-ปอยเปต

กัมพูชาเดินหน้าสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อม กรุงพนมเปญ-ปอยเปต ที่เป็นจังหวัดซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทย โดยใช้เงินกู้สัมปทานจากจีน ภายใต้การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโดย China Road and Bridge Corporate (CRBC) จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าระยะทางเดินรถไฟความเร็วสูงจะมีความยาวอยู่ที่ 382 กม. ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณอยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์ และจะต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี โดยจะมีสถานีย่อยอย่างน้อย 33 แห่ง ตลอดเส้นทางเดินรถ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงคาดว่าจะใช้ความเร็วสูงสุดได้ที่ 160 กม./ชม. ต่างจากปัจจุบันที่สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 30 กม./ชม. ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรองรับภาคการขนส่งและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดและเมืองที่ตั้งอยู่ตามแนวเส้นทาง ในขณะที่ปัจจุบันกัมพูชามีเส้นทางรถไฟอยู่สองสาย สายใต้เชื่อมระหว่างพนมเปญกับสีหนุวิลล์ และสายเหนือเชื่อมเมืองหลวงกับปอยเปต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501225200/cambodia-puts-high-speed-train-on-track/

รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ก้าวสู่ปีที่ 2 .. เตรียมรับอานิสงส์จีนผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

รถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 การขนส่งสินค้าระหว่างจีนตอนใต้กับอาเซียนน่ามีพัฒนาการคึกคักขึ้นอีก ประกอบกับสัญญาณบวกของทางการจีนในการทยอยผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่คาดว่าน่าจะได้เห็นการเปิดประเทศของจีนในปี 2566 จะยิ่งส่งผลบวกต่อการค้าและการท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง

ในช่วงปีที่ผ่านมาเส้นทางนี้มีความสะดวกที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐระหว่างประเทศทำให้มีความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดนในการตรวจปล่อยสินค้า พื้นที่รองรับการเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งแผนการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพิ่มอีกแห่งเพื่อรองรับการขนส่งด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในฝั่งของไทยในอนาคต ขณะที่ในฝั่งของภาคภาคเอกชนได้เข้ามาเป็นตัวกลางให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทำให้การค้าด้วยรถไฟสะดวกมากขึ้น

การท่องเที่ยวด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงปี 2566 ได้อานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของทางการจีนที่อาจจะได้เห็นการเปิดประเทศในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 หากนักท่องเที่ยวจีนสามารถทยอยออกมาได้จะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่การท่องเที่ยว สปป.ลาวคิดเป็นไม่น้อยกว่า 0.1%-0.4% ของ GDP ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนหลวงพระบางโดยรถไฟฟ้าความเร็วสูง 335,794 คน (คิดเป็น 85% ของนักท่องเที่ยวที่มาหลวงพระบาง ซึ่งอีก 15% เดินทางมาเที่ยวด้วยเครื่องบิน) โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวไทยและชาวสปป.ลาว อย่างไรก็ดี นับจากรถไฟความเร็วสูงเปิดใช้งานก็ได้รับความนิยมจากการเป็นเส้นทางใหม่ที่รวดเร็วกว่ารถยนต์และประหยัดกว่าการเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งการเปิดประเทศของจีนอาจทำให้การท่องเที่ยว สปป.ลาว กลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งในเวลานั้นจีนเป็นนักท่องเที่ยวลำดับที่ 2 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1 ล้านคน และหลวงพระบางก็เป็นหนึ่งในปลายทางที่สำคัญ

ความรวดเร็วและต้นทุนการขนส่งที่ลดลงกว่า 30% หนุนให้การค้าผ่านรถไฟฟ้าความเร็วสูงทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการขนส่งสินค้าตลอดเส้นทางในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณ 2 ล้านตัน ขนส่งผู้โดยสารรวม 1.26 ล้านคน เป็นสินค้า สปป.ลาว ส่งไปจีน ได้แก่ ยางพารา ข้าวบาร์เลย์ มันสำปะหลัง กาแฟ แร่ ปุ๋ย และสินค้าจากจีน ได้แก่ เครื่องจักร ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และของใช้ประจำวัน นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยกับจีนก็หันมาใช้เส้นทางนี้มากขึ้นจากในอดีตไม่ได้รับความนิยมนักเพราะการขนส่งทางถนนมีความล่าช้าจากความคดเคี้ยวสูงชันของภูมิประเทศ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 1.18 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.3% ของการค้ารวมผ่านแดนไปจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในไทย 1.1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โซลาเซลล์ และผลไม้ และการส่งสินค้าผลไม้และวงจรไฟฟ้าจากไทยไปจีน 1.5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพัฒนาการขนส่งระหว่างจีนกับอาเซียนมีหลายทางเลือกในการทำตลาดมากขึ้น ซึ่งทุกเส้นทางขนส่งเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะจีน-สปป.ลาว-ไทย ที่มีการเชื่อมโยงทางถนนถนนในปัจจุบัน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว  2) สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมตรงสู่ตลาดมณฑลหยุนหนานผ่านด่านเชียงของ จ.เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว  3) เส้นทางขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 2 จ.มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต  และ 4) การขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 3 ผ่าน จ.นครพนม-แขวงคำม่วน  และกำลังเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงหรือสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 เชื่อม จ.บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จพร้อมใช้งานในปี 2567

นอกจากนี้ ในการประชุม APEC 2022 ที่ผ่านมา การมาร่วมประชุมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เน้นย้ำความร่วมมือในการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในฝั่งไทยที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เพื่อให้เส้นทางนี้สามารถเปิดดำเนินงานได้ตามแผนภายในปี 2571 ซึ่งจะยิ่งทำให้การขนส่งตลอดเส้นทางสมบูรณ์ไร้รอยต่อ เป็นอีกช่องทางที่จีนตอนใต้และ สปป.ลาว สามารถใช้เป็นช่องทางเชื่อมต่อกับเส้นทางขนส่งทางทะเลที่อ่าวไทยได้อีกทางหนึ่ง ถ้าหากเส้นทางในฝั่งไทยสร้างเสร็จ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว-ไทย จะลดต้นทุนค่าขนส่งลงอีกโดยเฉพาะการช่วยประหยัดเวลาขนส่งตลอดเส้นทางได้มากกว่า 70%

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Railway-CH-Lao-2022-12-29.aspx

‘เวียดนาม’ ชงแผนสร้างทางรถไฟความเร็วสูง

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) และกระทรวงคมนาคม ยื่นขอเสนอพิจารณาสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือและสายใต้กับทางรัฐบาลเพื่อรับทราบ รวมถึงชี้แจงความเป็นไปได้ของโครงการ รถไฟทางคู่จะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ เนื่องจากทางรถไฟในปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพียง 6% ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด และ 1.4% ของปริมาณขนส่งสินค้า

ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว รถไฟความเร็วสูงดังกล่าวจะรองรับสินค้าได้จำนวนมากและยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในส่วนท้องถิ่นตามเส้นทางรถไฟและทั่วประเทศ โดยจะมีการจัดตั้งสถานีขนส่งผู้โดยสาร 50 แห่ง และสถานีขนส่งสินค้า 20 แห่งตลอดเส้นทาง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-considers-high-speed-rail-line-2078259.html

สปป.ลาว เหยื่อกับดักหนี้จีนรายล่าสุด

รถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาวมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กำลังดำเนินการแล้วเสร็จในปลายปี 64 โครงการรถไฟความเร็วสูงถือเป็นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประสบความสำเร็จภายใต้พรรคปฏิวัติของประชาชนลาว แต่ความก้าวหน้าดังกล่าวอาจมาพร้อมกับการสูญเสียอธิปไตยบางอย่างให้กับเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทางเหนืออย่างจีนที่  เป็นนายทุนใหญ่ของโครงการดังกล่าว รายงานล่าสุดชี้ให้เห็นว่าสปป.ลาวจะเป็นประเทศล่าสุดที่ตกเป็นเหยื่อของกับดักหนี้ Belt and Road Initiative (BRI) โดยประเทศต่างๆ หากผิดนัดชำระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงการ จะถูกกดดันในการยกสัมปทานบางอย่างให้แก่จีนแทนการชำระหนี้ ปัจจุบันทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของสปป.ลาวลดลงต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้งวดประจำปีของโครงการ ซึ่งจะนำไปสู่การทำให้สปป.ลาวต้องสูญเสียอธิปไตยของประเทศไปบางส่วน รายงานข่าวยังชี้ให้เห็นอีกว่ากระทรวงการคลังสปป.ลาว ได้ขอให้จีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต่างชาติรายใหญ่ที่สุดปรับโครงสร้างหนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ข้อมูลจากรายงานชี้ให้เห็นว่าการเติบโตสปป.ลาวอาจมีการขยายตัวได้ดีจากการเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของนักลงทุนจีน แต่สิ่งที่สปป.ลาวยังเป็นกังวลและให้ความสนใจคือความสามารถในการชำระหนี้ ที่อาจหากไม่มีประสิทธิภาพอาจนำซึ่งการสูญเสียอธิปไตยของชาติก็เป็นได้

ที่มา : https://asiatimes.com/2020/09/laos-the-latest-china-debt-trap-victim/

อุโมงค์ข้ามพรมแดนรถไฟจีน-สปป.ลาว แล้วเสร็จเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

“อุโมงค์มิตรภาพข้ามพรมแดนจีน-สปป.ลาว” ความยาวรวม 9.59 กม. จากจีนมายังสปป.ลาวซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาวที่จะเป็นเส้นทางจากคุนหมิไปยังเวียงจันทน์เมืองหลวงของสปป.ลาว แล้วเสร็จเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่าง Liu Juncheng จาก China Railway Kunming Group Co. Ltd.ของประเทศจีนและรัฐบาลสปป.ลาว ทางรถไฟถูกมองว่าเป็นโครงการเชื่อมต่อเชิงกลยุทธ์ตามแผนโครงการ one belt one road  สอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ของสปป.ลาวในการเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลไปเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงทางบก  ที่จะมีส่วนสำคัญการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสปป.ลาว ผ่านด้านการค้าและการท่องเที่ยวที่โครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมให้มีการเติบโต

ที่มา : http://www.china.org.cn/business/2020-09/14/content_76699866.htm

รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว อีกหนึ่งเส้นทางเชื่อมจีนสู่อาเซียน

ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนใน มากที่สุดด้วยมูลทุนสะสมกว่า 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 30% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศสะสมทั้งหมด โดยเฉพาะ เส้นทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt, One Road ที่ถือสัดส่วน 70% ของโครงการ ผลดีต่อการขนส่งไปจีนคือลดต้นทุนได้ถึง 40 – 70% และเส้นทางยังผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างร่วมบ่อเต็นบ่อหาน แขวงหลวงน้ำทา เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ แขวงบ่อแก้ว และเขตเศรษฐกิจเฉพาะอุตสาหกรรมและการค้าเวียงจันทน์-โนนทอง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งทั้ง 3 เขตเศรษฐกิจมีความสำคัญทางด้านเป็นศูนย์กระจายสินค้า แหล่งบันเทิงที่สำคัญ เช่น นิคมอุตสาหกรรม Vita โอกาสของผู้ประกอบการไทยคือลงทุนในภาคการผลิต ธุรกิจท่องเที่ยว ค้าปลีก ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งจะเป็นประตูสู่การลงทุนในกลุ่ม CLMV ได้เป็นอย่างดี

ที่มา: http://www.exim.go.th/doc/adn/48780_0.pdf

19 มิถุนายน 2560