‘เวียดนาม’ เผยส่งออกและนำเข้า 5 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 15.6%

ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าการส่งออกและนำเข้าของเวียดนามในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 305.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน การส่งออกมีมูลค่า 152.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.3% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 152.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.9% ส่งผลให้เวียดนามเกินดุลการค้า 516 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกลุ่มสินค้าส่งออกจำนวน 26 รายการที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใน 6 กลุ่มรายการสินค้าดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 89.6 ของการส่งออกรวมทั้งหมด สินค้าส่งออกเวียดนามส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีมูลค่าการค้าราว 76.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือจีน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/five-month-importexport-turnover-up-156-percent/229349.vnp

 

รัฐบาลสั่งดำเนินการอำนวยความสะดวกทางการค้า กระตุ้นการขนส่งและการส่งออก

รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการที่ดูแลการอำนวยความสะดวกทางการค้า ลงนามคำสั่งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและเร่งรัดการขนส่งสินค้าและการส่งออกสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าที่ไม่ใช่ไม้ และแร่ธาตุ ดร.ซนไซ สิภาโดน แนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจนและคล่องตัว เพื่อลดขั้นตอนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและลดการใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม การขนส่งพืชผลทางการค้า เช่น ข้าว กาแฟ ถั่ว มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน ผลไม้ และผัก ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ขนส่งต้องขออนุญาตจากทางการอีกต่อไป ซึ่งหมายความว่าสามารถขนส่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพื่อความคล่องตัว การปรับปรุงวิธีการและกฎระเบียบต่างๆ เป็นไปเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการค้าสอดรับกับการเติบโตของประเทศและการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt99.php

กัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 53

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่าแตะ 2,923 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน มกราคม-เมษายน ปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ในขณะที่กัมพูชานำเข้าสินค้ามูลค่า 104 ล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ในช่วงเวลาเดียวกัน คิดเป็นมูลค่าการค้ารวมระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯที่ 3,028 ล้านดอลลาร์ รองจากจีนที่มีมูลค่าระหว่างกัมพูชาที่ 3,930 ล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า รวมถึงสินค้า เช่น รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งในปีที่แล้ว การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ อยู่ที่ 9,159 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นกัมพูชาส่งออกมูลค่า 8,745 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 ตามรายงานของสำนักสำรวจสำมะโนสหรัฐ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501075889/cambodia-exports-to-us-surge-53-percent/

‘ภาคส่งออก’ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนาม

ตามรายงานทางสถิติการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่า 33.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 32.19 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.5% ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามเกินดุลการค้า 2.53 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ Maybank Investment Securities (MIB) รายงานว่าภาคเศรษฐกิจหลักของการส่งออกเวียดนามส่วนใหญ่มีการเติบโตเชิงบวก โดยน้ำมันดิบพุ่ง 204% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม อย่างไรก็ดี การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และการล็อกดาวน์อย่างเข็มงวดของประเทศจีน ไม่สร้างผลกระทบต่อการส่งออกของเวียดนาม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกิจการต่างๆ ส่งออกสินค้าคงเหลือตามการฟื้นตัวของอุปสงค์

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/export-sector-is-bright-spot-for-vietnam-economy/

 

ทิศทางการส่งออกไทยในปี 2022 ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาวะสงคราม

โดย วิชาญ กุลาตี I ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2022 สะท้อนถึงโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีต่อเนื่อง จากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของนานาประเทศ รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกกลับมาได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น หลังจากที่โรงงานบางส่วนต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราวเพื่อควบคุมโรคในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา

 

อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม และคาดว่าผลกระทบทั้งทางตรงจากการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน และทางอ้อมจากสถานการณ์สงครามที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงนั้น จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในระยะถัดไป แต่ EIC มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวก็ยังสร้างโอกาสต่อธุรกิจส่งออกไทยในบางด้านด้วยเช่นกัน

 

ผลกระทบทางตรงมีอยู่จำกัด

การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวมากถึง 73% และ 77.8% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และอาจรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้าตามช่องทางการค้า การชำระเงิน และการขนส่งที่ถูกปิดกั้นมากขึ้น

แต่ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นสัดส่วนน้อยและไม่ได้มีสินค้าส่งออกสำคัญใดที่พึ่งพาตลาดรัสเซียและยูเครนมากเป็นพิเศษ โดยในปี 2021 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปรัสเซียและยูเครนอยู่ที่ราว 1,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.38% และ 0.05% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย ตามลำดับ

 

แต่ผลกระทบทางอ้อมรุนแรงกว่า

แม้ผลกระทบทางตรงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีอยู่อย่างจำกัดจากที่ได้กล่าวมา แต่อาจสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าของไทยได้ โดยมี 2 ช่องทางที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาคอขวดอุปทาน

ช่องทางแรก ภาวะสงครามจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่อยู่ประชิดด่านหน้าของความขัดแย้ง โดย EIC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกและยุโรปจะขยายตัวได้เพียง 3.4% และ 2.7% ตามลำดับ ต่ำกว่าประมาณการเดิมในช่วงก่อนสงคราม

ช่องทางที่สอง ปัญหาอุปทานคอขวดอาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่งออกหลักของไทยที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

สงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีอยู่เดิมจากวิกฤติโควิดมีแนวโน้มคลี่คลายช้าลงกว่าที่คาด เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกแร่ธาตุ โลหะอุตสาหกรรม และโภคภัณฑ์หลักของโลก โดยเฉพาะวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างก๊าซนีออนและแพลเลเดียม

 

การส่งออกของไทยบางส่วนได้รับอานิสงส์จากสงคราม

ท่ามกลางผลกระทบจากภาวะสงคราม ส่งออกไทยได้รับอานิสงส์สนับสนุนการขยายตัวของส่งออกในปี 2022 อย่างน้อยจาก 3 ปัจจัย ซึ่งอาจสามารถชดเชยผลกระทบในทางลบได้ โดยเฉพาะจากปัจจัยทางด้านราคาสินค้าส่งออก

ปัจจัยแรก ราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและสามารถชดเชยการชะลอตัวในด้านปริมาณ ภาวะสงครามและมาตรการคว่ำบาตรทำให้รัสเซียและยูเครนไม่สามารถส่งออกพลังงานและโภคภัณฑ์ทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยโพแทสเซียม ที่ตนเองเป็นผู้ส่งออกหลักของโลก ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าต่าง ๆ ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร จึงมีแนวโน้มจะเติบโตดีในด้านราคาส่งออกเป็นสำคัญ

ปัจจัยที่ที่สอง สินค้าส่งออกไทยบางประเภทสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ จากการทดแทนสินค้าส่งออกของรัสเซียและยูเครนในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่สินค้าส่งออกไทยหลายประเภทมีส่วนแบ่งตลาดในยุโรปในระดับที่ดีและแข่งขันได้ เช่น ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง ฟอสฟิเนต รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์โบไฮเดรตที่อาจนำมาทดแทนข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดของรัสเซียและยูเครน เป็นต้น

ปัจจัยสุดท้าย เงินบาทที่อ่อนค่าสนับสนุนรายได้ของผู้ส่งออกไทยและอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นับตั้งแต่เกิดสงครามค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค โดย EIC คาดเงินบาทในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายประเทศสำคัญทั่วโลก ก่อนจะกลับมาแข็งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ภาคส่งออกไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะแปรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออกไทย

 

ในภาพรวม EIC ยังคงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 6.1% แต่การขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุน โดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นหลักและมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่ามากที่ 13.2%

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/8248

ปริมาณการค้ากัมพูชา Q1 แตะ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้ากัมพูชาแตะ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการส่งออกของกัมพูชายังคงเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา ซึ่งปริมาณการส่งออกในไตรมาสแรกแตะระดับ 5.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 จากมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยจาก 7.5 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นการขาดดุลทางด้านการค้าในไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์ โดยในปี 2021 ปริมาณการค้าของกัมพูชาแตะ 48,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกมีมูลค่าอยู่ที่ 19.30 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 28.70 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.3 ตามข้อมูลของ GDCE

ที่มา : https://www.phnompenhpost.com/business/cambodias-q1-trade-volume-hits-over-13b

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นในช่วง ม.ค.-ก.พ. มูลค่าแตะ 291 ล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 291 ล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวรายงานโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 87.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการค้าทวิภาคีรวม 378.4 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าสำคัญของกัมพูชาที่ได้ส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้แก่ เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ในขณะที่สินค้าสำคัญของญี่ปุ่นที่ได้ทำการส่งออกไปยังกัมพูชา ได้แก่ เครื่องจักร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ไฮเทค เป็นสำคัญ ซึ่งในปีที่แล้ว ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-ญี่ปุ่น อยู่ที่ 2,332 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 1,752 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501058463/cambodia-exports-to-japan-nets-291-million-in-january-february/

2021 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังอินเดียมูลค่าแตะ 113.87 ล้านดอลลาร์

Ly Thuch รองประธาน Cambodian Mine Action and Victim Assistance Authority (CMAA) กล่าวในงานครบรอบ 10 ปีหอการค้าอินเดีย-กัมพูชา (INCHAM) ซึ่งมี Sandeep Majumdar ประธาน INCHAM, สมาชิกและแขกรับเชิญภายในงาน ว่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังอินเดียมีมูลค่าอยู่ที่ 113.87 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 99 เมื่อเทียบเป็นรายปีจาก 57.17 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและอินเดีย โดยเสริมว่าด้วยเสถียรภาพทางการเมือง ภาษีนิติบุคคลต่ำ ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด แรงงานอายุน้อย และไม่มีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและอินเดียปรับตัวเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501055912/cambodias-exports-to-india-clocked-in-at-113-87-million-in-2021/

การลงทุน การส่งออกสินค้าเกษตรที่แข็งแกร่งจะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจสปป.ลาว

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดการณ์เศรษฐกิจสปป.ลาวจะเติบโตร้ยละ 3.4 ในปีนี้และร้อยละ 3.7 ในปี 2566 เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวในตลาดภายในประเทศ รวมทั้งการท่องเที่ยว ในเดือนมกราคมรัฐบาล ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดและเร่งการฉีดวัคซีน โดยเป้าหมายเพื่อให้ประชากรร้อยละ 80 ได้รับวัคซีนครบสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2565 ด้านการส่งออกภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรมีส่วนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในปีที่แล้ว จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่งสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเพิ่มการผลิตพลังงานเพื่อการส่งออก การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นในทุกหมวด ส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการจากประเทศจีน ทั้งนี้การเติบโตของการส่งออกมีแนวโน้มดำเนินต่อไปในปีนี้และปีหน้าจากการลงทุนที่คาดการณ์ไว้เพื่อรองรับการพัฒนาพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และไฟฟ้าคาร์บอนต่ำอื่นๆ ในปี 2564 เศรษฐกิจของสปป.ลาวจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากผลประกอบการที่แย่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ แต่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้โมเมนตัมของเศรษฐกิจในระเทศแย่ลง รัฐบาลจะต้องระมัดระวังตัวโดยให้วัคซีนแก่คนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และส่งเสริมความโปร่งใสในการจัดการการเงินสาธารณะ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาดและดึงดูดการลงทุนที่ยืดหยุ่นและยั่งยืน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Investment68.php

เมียนมาคาด การปรับนโยบายใหม่ จะไม่กระทบการส่งออกข้าวโพด

นายอู มิน แค ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดของเมียนมา กล่าวว่า นโยบายใหม่เกี่ยวกับการส่งออกข้าวโพดของเมียนมา จะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อการส่งออกข้าวโพดของประเทศ โดยรายการสินค้าส่งออก ได้แก่ ข้าวโพด แป้ง ป๊อปคอร์น เมล็ดพืช แป้งข้าวโพด เมล็ดธัญพืช ข้าวฟ่าง อาหารเม็ด บัควีต (Buckwheat) และเมล็ดข้าวสำหรับเลี้ยงนก จะต้องขอใบอนุญาตส่งออกโดยการยื่น Form-D (หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 โดยการปรับเปลี่ยนนโยบายนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรับรองความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงภายในประเทศ และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ราคา FOB อยู่ที่ 320-340 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าวโพดในตลาดย่างกุ้ง ในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกไปตลาดต่างประเทศ จำนวน 2.3 ล้านตัน ตลาดหลักคือไทย ส่วนที่เหลือจะส่งออกไปยังจีน อินเดีย และเวียดนาม

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/30-march-2022/#article-title