‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ อาจโตไม่ถึง 6.5% ตามที่ตั้งเป้าไว้

นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้กล่าวปราศรัยในการประชุมของรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ต.ค.66 ว่าเวียดนามตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า 5% ในปีนี้ ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐให้คำมั่นว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 6.5%

ทั้งนี้ ในเดือน ก.ย. กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) ได้เสนอสมมุติฐานของสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ 3 กรณี และพบว่าในกรณีที่ดีที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวที่ 6% ในปี 2566 เวียดนามจำเป็นที่จะต้องให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ขยายตัว 10.6% ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตสูงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น หากเศรษฐกิจเวียดนามไม่สามารถบรรลุตามที่ตั้งเป้าไว้ที่ 6.5% ก็ไม่น่าแปลกใจ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-economy-6-5-growth-rate-target-maybe-unattainable-2210345.html

‘สื่อนอก’ ชี้เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุด

สำนักข่าวต่างประเทศเอเชีย ไทมส์ (Asia Times) ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการประเมินทางด้านเศรษฐกิจในหัวข้อ ‘เสือเศรษฐกิจเวียดนาม’ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ทวีความรุนแรงสูงขึ้น

ทั้งนี้ จากบทความชี้ให้เห็นว่าอันดับการค้าของเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ ได้ก้าวกระโดดจนแซงเกาหลีใต้ ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 6 ในปีที่แล้ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจเวียดนาม เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกที่มีมูลค่ามากที่สุดไปยังตลาดสหรัฐฯ ไม่ใช่สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอีกต่อไป แต่กลับกลายมาเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงเวียดนามส่งเสริมการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง และบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิเช่น ‘Apple’ ได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปเวียดนาม และบริษัทอัมกอร์ เทคโนโลยี ของสหรัฐฯ ลงทุนก่อสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-among-fastest-growing-economies-asia-times-2210814.html

‘สมาชิกสภาแห่งชาติลาว’ ขอรัฐบาลเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการเงินตราต่างประเทศ

สมาชิกสภาแห่งชาติลาว กล่าวในการประชุมสามัญครั้งที่ 6 ขอให้รัฐบาล สปป.ลาว เพิ่มความเข้มงวดในการจัดการสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย โดยขอให้รัฐบาลดำเนินการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ควรทำผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและการตรวจสอบการใช้สกุลเงินต่างประเทศโดยผู้นำเข้าและผู้ส่งออก การชำระค่าสินค้านำเข้าควรดำเนินการผ่านระบบธนาคาร และควรเก็บบันทึกรายรับที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศและการโอนไปยังประเทศอื่น อีกทั้งยังเสนอแนะว่าควรมีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนอกระบบธนาคารให้เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากร้านแลกเงินเอกชนบางแห่งยังคงเปิดดำเนินการผ่านระบบออนไลน์อยู่ รวมถึงยังขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ควบคุมการใช้จ่ายในโครงการพัฒนาและการชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มผลผลิตในประเทศเพื่อทดแทนสินค้านำเข้า

ที่มา : https://english.news.cn/20231102/03a14c21757f49faac6caa12a1d0f976/c.html

‘ภาคบริการ’ เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ สปป.ลาว

คำเจน วงโพสี รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุน สปป.ลาว เผยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ สปป.ลาว ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2566 ขยายตัว 4.4% โดยการค้าส่งและค้าปลีก การขนส่ง และการบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ถือเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการดีที่สุด ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจภาคบริการขยายตัว 5.6% ซึ่งมีส่วนทำให้ GDP สปป.ลาว ขยายตัวได้ ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษี ขยายตัว 3.9%, ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัว 3.5% ภาคเกษตรกรรมและการป่าไม้ ขยายตัว 3.4% นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองที่แข็งแกร่งและความสงบเรียบร้อยทางสังคม ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีอัตราการเติบโตสูงสุดที่ 5% ตามมาด้วยภาคบริการ ขยายตัว 4.8% ภาษีและศุลกากร ขยายตัว 3.9% และภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 2.6% หากบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ GDP สปป.ลาว ปี 2567 จะมีมูลค่า 293,786 พันล้านกีบลาว รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี 1,787 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://english.news.cn/20231102/f12f1f851a9440fc92b266c671b19d89/c.html

คาด GDP ต่อหัวของกัมพูชาพุ่งแตะ 2,071 ดอลลาร์ ภายในปีหน้า

คาด GDP ต่อหัวของกัมพูชาจะอยู่ที่ 2,071 ดอลลาร์ ภายในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,917 ดอลลาร์ ในปี 2023 ตามรายงานจากกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยเฉพาะในภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป การท่องเที่ยว การก่อสร้าง และการเกษตร สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.6 ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 5.6 ในปีนี้ ขณะที่ประเทศกลุ่มที่มีรายได้ในระดับปานกลางมี GDP ต่อหัวอยู่ระหว่าง 4,466 ดอลลาร์ถึง 13,845 ดอลลาร์ ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงมี GDP ต่อหัวที่ 13,846 ดอลลาร์หรือมากกว่านั้น ตามการจัดประเภทของธนาคารโลก (World Bank) ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเนต กล่าวเสริมว่า อัตราความยากจนของกัมพูชาลดลงอย่างน่าทึ่งจากร้อยละ 33.8 เหลือร้อยละ 17.8 ของประชากร ภายในช่วงระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันกัมพูชามีประชากรประมาณ 17 ล้านคน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501383721/cambodias-gdp-per-capita-to-reach-2071-next-year-report/

สปป.ลาว พิจารณาปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ภายในปี 2567

กระทรวงการคลัง สปป.ลาว กำลังพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาลและสนับสนุนเศรษฐกิจ ซึ่งอัตราดังกล่าวจะเท่ากับอัตราเดิมที่เคยบังคับใช้ในช่วงปี 2553-2564 โดยกระทรวงการคลังได้ชี้ให้เห็นปัจจัยหลายประการที่เอื้อต่อการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามูลค่าปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่คาดการณ์ไว้ ขณะนี้จำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวนต่ำกว่าคาดการณ์และรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มรายได้เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ และทำให้สกุลเงินกีบมีเสถียรภาพ ตามการระบุของฝ่ายการเงินของรัฐบาล ทั้งนี้ ร่างกฎหมายใหม่เพื่อเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ และมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2567 นอกจากการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังพิจารณามาตรการอื่นๆ เพื่อปรับปรุงระบบภาษีของประเทศ รวมถึงการเร่งพัฒนากลไกในการคืนภาษีให้กับธุรกิจที่จ่ายไปแทนการยกเว้นภาษี ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการสูญเสียทางการเงินของรัฐบาลผ่านการยกเว้นภาษีพร้อมทั้งให้การสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่น
ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/10/27/laos-considers-raising-vat-rate-to-boost-revenue/

‘Seeking Alpha’ เผยเศรษฐกิจเวียดนาม โตแรงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รอบ 10 ปี

จากข้อมูลบนเว็บไซต์ Seeking Alpha ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าเวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ขยายตัว 5.3% โดยได้แรงหนุนจากภาคครัวเรือนที่นำเงินออมที่เก็บสะสมในช่วงการระบาดโควิด-19 ออกมาใช้ อย่างไรก็ตามเวียดนามยังคงเผชิญความผันผวนจากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน

ทั้งนี้ สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เอื้ออำนวยและการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางเวียดนาม ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลักดันให้เวียดนามเป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในภูมิภาค ถึงแม้ว่าภาวะการค้าของเวียดนามจะปรับตัวลดลงและความกดดันของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามก็กลับไม่ได้ลดลง มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-posts-highest-gdp-growth-in-southeast-asia-in-past-decade-us-website-post1055494.vov

‘GDP เวียดนาม’ ปี 67 โต 6.5% เหตุส่งออกฟื้นตัว

วินาแคปปิตอล กรุ๊ป (VinaCapital Group) บริษัทจัดการกองทุนเวียดนาม คาดการณ์ว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในปี 2567 จะขยายตัว 6.5% ในปีหน้า โดยได้แรงหนุนมาจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และได้ตั้งข้อสังเกตว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเป็นไปในเชิงบวก จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมที่เป็นแรงผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจเวียดนามในปีหน้า

ทั้งนี้ สินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในช่วงปลายปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากธุรกิจต่างๆ สั่งซื้อมากจนเกินไปในช่วงห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก เนื่องจากโควิด-19 ในปี 2564 และความคาดหวังว่ามีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังวิกฤตโควิด แต่ว่าไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

ด้วยเหตุนี้ บริษัทสหรัฐฯ จึงต้องจัดการกับสินค้าคงคลังส่วนเกินตลอดทั้งปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจบ่งชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวกำลังสิ้นสุดลงแล้ว แสดงให้เห็นว่ายอดคำสั่งซื้อและผลผลิตในเวียดนามจะกลับมาฟื้นตัว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-gdp-growth-to-rebound-to-65-in-2024-vinacapital/270154.vnp

รัฐสภาแห่งชาติ สปป.ลาว เปิดประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 6 หารือทางแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศ

สภานิติบัญญัติชุดที่ 9 ของรัฐสภาแห่งชาติ สปป.ลาว จะจัดการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. ถึง 21 พ.ย. 66 เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ โดยการประชุมสภาครั้งนี้ มีความพยายามในการหาแนวทางจัดการปัญหาเศรษฐกิจและการเงินที่ย่ำแย่ของประเทศ มีการเปิดอภิปรายกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและการสาธารณสุข โดยจะพิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติ การบัญชี การชำระหนี้ กระบวนการยุติธรรม การติดตามตรวจสอบของรัฐสภาและสภาประชาชนประจำจังหวัด นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาแห่งชาติฯ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าของรัฐบาลในดำเนินการตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  งบประมาณ และการเงิน สำหรับปี 2564 ถึง 2568
ที่มา : https://english.news.cn/20231025/8c2c050359ee4bb1b102d9fecd0b9f5e/c.html

ธนาคารบริการทางการเงินที่ชำระด้วยสกุลเงินหยวน (RMB) เปิดทำการแล้วที่ สปป.ลาว

The ICBC Vientiane Branch ได้รับอนุญาตจากจีนในการเปิดให้บริการทางการเงินที่ชำระด้วยสกุลเงินหยวน (RMB) ใน สปป.ลาว โดยจะใช้เป็นช่องทางในการชำระหนี้ข้ามพรมแดนที่รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดระหว่าง สปป.ลาว กับจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือองค์กรและสถาบันทางการเงินในลาวให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินในรูปสกุลเงินหยวนของจีนได้สะดวกมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน อำนวยความสะดวกการลงทุนและการค้าระหว่างสองประเทศ และรักษาเสถียรภาพทางการเงินของ สปป.ลาว และกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ

ที่มา : https://english.news.cn/20231025/a6c4ec1bf93e4cf2a17b97ed390e71ac/c.html